"Plant-based food" อาหารทางเลือก สู่เป้าลดโลกร้อน

"Plant-based food" อาหารทางเลือก สู่เป้าลดโลกร้อน

ว่ากันว่า "อุตสาหกรรมอาหาร" ก่อให้เกิดคาร์บอน 1 ใน 3 ของคาร์บอนทั้งหมด ที่ถูกปล่อยสู่โลก ขณะที่ "Plant-based Food" ซึ่งนอกจากจะเป็นอาหารทางเลือกให้กับผู้ที่ไม่ทานเนื้อสัตว์แล้ว ยังถือเป็นส่วนหนึ่งในการลดโลกร้อนอีกด้วย

วันนี้ (30 ก.ย. 64) “แดน ปฐมวาณิชย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) กล่าวในงาน Virtual Forum Go Green เมกะเทรนด์เพื่อโลกสีเขียว จัดโดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพเทพธุรกิจ ในประเด็น Carbon Credit ลดต้นทุน หนุนไปสิ่งแวดล้อม ว่า อุตสาหกรรมอาหารมีส่วนปล่อยคาร์บอนถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด แยกเป็น 2 ส่วน คือ จากการเกษตรและปศุสัตว์ 17% และ จากการปรับหน้าดิน 7-14% ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นวงจร

 

มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 หากไม่สามารถคุมความร้อนของโลกไม่ให้เกิน 1.5-2 องศา และหากอุณหภูมิไปถึง 3.8-4 องศา พื้นที่การเกษตรถึงขั้นล้มได้ ความหมายคือ ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น ถึง 50-100% เนื่องจากภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม จะทำให้เราไม่สามารถปลูกสินค้าเกษตรได้

 

สิ่งที่น่าสนใจ คือ เรามีเกษตรกรในประเทศไทย 14 ล้านคน วันนี้เชื่อหรือไม่ว่า ข้าวปล่อยคาร์บอน 2.5% ของทั้งหมดทั่วโลก ในปี 2026 หากอียู มีการเปลี่ยนมาตรการหันมาใช้ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และมาปรับอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอน สิ่งที่จะเกิด คือ ยกตัวอย่างสินค้าข้าวเจอภาษีทันที่ราว 40% ดังนั้น ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง โลกร้อน อุตสาหกรรมอาหาร และ คาร์บอนเครดิต ว่าเราจะทำอย่างไรให้ไทย และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมเกษตรสามารถแข่งขันได้ ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า

ขณะเดียวกัน ในส่วนของ Plant-based Food เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่มานาน ตั้งแต่ ปี 1950 กว่า 60 ปี ตอนแรกเริ่มจากคนที่ไม่อยากฆ่าสัตว์ แต่ตอนนี้เป็นโอกาส และตลาดที่โตเร็วมาก สิ่งที่เป็นการขับเคลื่อน Plant-based Food คือ สิ่งแวดล้อม อย่างที่เรียนว่า อุตสาหกรรมเกษตร และ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร มีส่วนในการปล่อยคาร์บอน 30% เมื่อเทียบการกินเนื้อวัว ปล่อยคาร์บอนมากกว่า Plant-based Food ถึง 10 เท่า

 

  • แฮมเบอร์เกอร์ ปล่อยคาร์บอน 3.3 กิโลต่อชิ้น

 

เช่น หากทานแฮมเบอร์เกอที่มาจากเนื้อวัว มีปล่อยคาร์บอน 3.3 กิโลต่อชิ้น ซึ่งหากทานแฮมเบอร์เกอร์จาก Plant-based อาจจะปล่อยคาร์บอนอยู่ที่ประมาณครึ่งกิโลหรือน้อยกว่า ขณะที่ ทั่วโลกกินแฮมเบอร์เกอร์ 7 หมื่นล้านชิ้นต่อปี เพราะฉะนั้นจะต่อสู้กับโลกร้อน ง่ายๆ คือปลูกป่า และทานอาหารที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม มีประสิทธิภาพในการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำปล่อยคาร์บอนน้อย Plant-based Food สามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดจากเนื้อสัตว์ 3.6% และภายใน 10 ปีคาดว่าจะชิงสัดส่วนการตลาดจากเนื้อสัตว์ 10-15% เป็นโอกาสมหาศาลของประเทศไทย

 

  • เดินหน้าขยายโรงงาน Plant-based

 

ทั้งนี้การพัฒนา Plant-based คือ เรากำลังสร้างโรงงาน Plant-based ในประเทศภูมิภาคสำคัญทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ และกำลังจะสร้างโรงงานในประเทศไทย โดยร่วมกับบริษัทในเครือ ปตท. คาดโรงงานแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2023 เป็นอย่างช้า รวมถึง โรงงานในสหรัฐอเมริกา กับจีน การที่เราจะผลิตอาหาร Plant-based ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ต้องลดระยะทางของการขนส่ง ทั้งวัตถุดิบมาโรงงาน และผลิตภัณฑ์ไปสู่มือผู้บริโภค

"ขณะที่การพัฒนาสินค้า ได้มีการร่วมกับบริษัทลูก ทั้งสตาร์ทอัพ และที่เข้าไปร่วมลงทุน รวมถึง มีบริษัทร่วมทุนในสหรัฐฯ ร่วมพัฒนาสินค้า และมีสินค้าในบริษัทลูกของเราผลิตและขายทั่วโลก จุดมุ่งหมายของเรา คือ ทำอย่างไรให้ลดคาร์บอนทั่วโลก โดยใช้อาหารเป็นเครื่องมือ ดังนั้น ทุกคำที่ทานไป หากเป็นสินค้าของเรา ต้องลดคาร์บอน"

 

  • รับมือวิกฤติอาหาร

 

แดน กล่าวต่อไปว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า นอกจากเราต้องต่อสู้กับวิกฤติโลกร้อน เรามีอีกวิกฤติคือ โลกเรามีคนหมื่นล้านคน เราจะทำอย่างไรกับระบบอาหารที่จำกัด และมีการปล่อยคาร์บอนกว่า 30% ของคาร์บอนทั่วโลก สิ่งสำคัญ คือ โปรตีนทางเลือก ที่ใช้เทคโนโลยีสูง ถัดมา คือ จำนวนพื้นที่ที่สามารถปลูกอาหารได้ ต้องใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตได้ มีวิธีการที่จะผลิตปุ๋ยพิเศษที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ สามารถเก็บน้ำได้ดีขึ้น และเก็บคาร์บอนในดิน

 

  • ลดคาร์บอน โดยใช้อาหาร

 

กลยุทธ์ของ NRF เอง คือ ลดคาร์บอน โดยใช้อาหาร หากจะ ลดคาร์บอน จะมีการวัดคาร์บอนที่ปล่อยที่โรงงาน คาร์บอนจากการส่งของเท่าไหร่ แต่สิ่งที่คุมยากที่สุด คือ คาร์บอนที่ปล่อยจากซัพพลายเชน ในโรงงานควบคุมได้ แต่เกษตรกรที่ปลูกผลผลิตให้เรา เราคุมไม่ได้ ดังนั้น การที่จะโน้มน้าวจูงใจ ทำให้เกษตรกร ใช้วิธีการเกษตรที่ยั่งยืนเป็นเรื่องยาก

 

ล่าสุด มีการร่วมมือกับ “อีสท์วอเตอร์” พัฒนาการปลูกสาหร่ายกักเก็บคาร์บอน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและใหญ่มากในจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นทางเลือกใหม่ให้กับชาวประมง สาหร่ายมีประสิทธิภาพในการดึงคาร์บอนจากอากาศ มากกว่าไม้ยืนต้น 8-10 เท่า เพราะฉะนั้น การที่เราสามารถปลูกสาหร่าย แปรรูปเป็นปุ๋ยชนิดพิเศษ และนำปุ๋ยไปให้เกษตรกร

 

"สิ่งที่เกิด คือ เกษตรกร ได้ผลผลิตต่อไร่ดีขึ้น พื้นที่สามารถเก็บน้ำได้ดีขึ้น เราเผชิญปัญหาน้ำท่วม ส่วนหนึ่งจากการใช้ยาเคมีในการเพิ่มผลผลิต ทำให้ดินตายไปเรื่อยๆ ดินเป็นสิ่งมีชีวิต ดังนั้น ควรจะพยายามฟื้นกลับมาให้ได้ ถ้าเราใส่ปุ๋ยชนิดนี้ จะทำให้ดินดูดซึมน้ำได้ดีขึ้น และสามารถเก็บคาร์บอนในดิน ดังนั้น สินค้าของเราปลายทางหากทานไปแล้ว สามารถลดคาร์บอนได้" แดน กล่าวทิ้งท้าย