สธ.คาดการณ์ ต.ค.ติดโควิด-19ใหม่5,000ราย/วัน- มี.ค.65โรคน่าจะสงบ

สธ.คาดการณ์ ต.ค.ติดโควิด-19ใหม่5,000ราย/วัน- มี.ค.65โรคน่าจะสงบ

ปลัดสธ.เผยแผนเตรียมการรองรับเปิดเมืองสีฟ้า 10 จังหวัด  เร่งเครื่องฉีดวัคซีนเต็มที่  ทำ“Covid Free Area” สิ้นต.ค.ติดเชื้อใหม่มีโอกาสต่ำลงอยู่ที่วันละ 5,000 ราย วัคซีนครอบคลุมเข็ม 2 ถึง 50 %  เผย 2 ปัจจัยทำยอดเหวี่ยงกลับขึ้นสูง คาดมี.ค.65 โรคน่าจะสงบ

        เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 ก.ย.2564 ที่กระทรวงวสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการเตรียมการเปิดเมืองรับการท่องเที่ยวในระยะแรกพื้นที่สีฟ้า 10 จังหวัดว่า  สธ.ได้มีการประสานกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่สีฟ้าตามนโยบายรัฐบาลในช่วง1-30 พ.ย.2564 เตรียมการกำหนดลักษณะพื้นที่ความพร้อมด้านสถานการณ์ คือ ต้องมีความครอบคลุมวัคซีนระดับจังหวัดอยู่ที่ 50 % กลุ่มเป้าหมาย608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ให้ได้อย่างน้อย 80%
      มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยอย่างเพียงพอ อัตราครองเตียงของผู้ป่วยไม่เกิน 80 % มีการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 5-10 รายต่อแสนประชาการต่อวันโดยใช้ค่าเฉลี่ยรายสัปดาห์ และการบริหารจัดการ ส่วนความพร้อมด้านบริหารจัดการ มีการร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน มีแผนบริหารจัดการ บริหารทรัพยาการ มีทีมสอบสวนควบคุมโรครองรับกรณีเกิดการระบาด มีระบบกำกับติดตามและเชื่อมโยงกับศูนย์บัญชาการจังหวัด และมีการประเมินทุกสัปดาห์ก่อนที่จะดำเนินการได้

แผนเตรียมการเปิดเมืองสีฟ้า 10 จ.
  “แต่ละจังหวัดจะมีการกำหนดพื้นที่เฉพาะขึ้นมา พื้นที่นี้จะต้องมีความครอบคลุมวัคซีน 70 % ส่วนกลุ่ม608 ได้ 80 % ส่วนพื้นที่ที่จะมีการเปิดให้ทำกิจกรรม/กิจการที่รองรับนักท่องเที่ยว จะต้องมีวัคซีนครอบคลุมอย่างน้อย 80 %  มีการเฝ้าระวังต่อเนื่อง ให้ไม่พบผู้ติดเชื้อในกิจการ/กิจกรรมในช่วง 14 วันที่ผ่านมา โดยพื้นที่ที่กำหนดเป็น Covid Free Zone อย่างเช่น  จ.ชลบุรี ต้องวัคซีนครอบคลุมจังหวัด 50 % ลงถึงเมืองพัทยาก็ต้อง 70 % และถ้าเป็นพัทยาใต้ที่จะให้ทำกิจการ/กิจกรรมต้องได้ 80 % เป็นพื้นที่สีฟ้า รวมถึงดำเนินการทำบับเบิลแอนด์ซีล เป็นซีล รูท เช่น ลงเครื่องบินที่สนามบินอู่ตะเภา หรือสุวรรณภูมิ แล้วไม่แวะที่ไหน”นพ.เกียรติภูมิกล่าว  
       นพ.เกียรติภูมิ  กล่าวถึงการดำเนินการฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่จะเป็นสีฟ้าแต่วัคซีนยังไม่ถึงเป้าว่า สถานการณ์วัคซีนของประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2564 วันมหิดลมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนได้ 1 ล้านโดส เป็นการทดสอบระบบว่าศักยภาพทำได้หรือไม่  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าศักยภาพทำได้ คิดเป็นราว 70-80 %ของศักยภาพเท่านั้น  ถ้ามีการเร่งก็จะฉีดได้มากกว่านี้ ซึ่งในเดือนต.ค.-ธ.ค.จะมีวัคซีนเข้ามาค่อนข้างมาก เฉพาะที่รัฐจัดหาเดือนต.ค. 24 ล้านโดส พ.ย.23 ล้านโดส และธ.ค.24 ล้านโดส  ก็จะต้องฉีดกันเกือบวันละ 1 ล้านโดส

     และเมื่อรวมกับวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์มอีกที่เข้ามาในปีนี้รวม 50 ล้านโดส และวัคซีนโมเดอร์นาอีก 2 ล้านโดส ปีนี้ก็จะมีวัคซีนเข้ามาราว178 ล้านโดส ก็ต้องฉีดผ่านสถานพยาบาลในสังกัดสธ. ซึ่งในส่วนของภูมิภาคก็จะมีความคล่องตัวในการฉีดวัคซีน อย่างหากมี 1.5 ล้านโดส ก็อาจจะฉีดเขตสุขภาพละ 1 แสนกว่าโดสต่อวัน เฉลี่ยถึงจังหวัดอาจจะไม่ค่อยมาก และมีการขยายฐานฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล(รพ.สต.) เพื่อฉีดเชิงรุกในชุมชนมากขึ้น  ก็จะมีการเร่งเครื่องฉีดเต็มที่
     “พื้นที่ที่จะเป็น Covid Free Area จังหวัดต้องพิจารณาว่ามีกี่อำเภอ ตำบล พื้นที่ แล้วส่งข้อมูลมาให้สธ. ก็พร้อมส่งเสริมสนับสนุนในการดำเนินการ เพราะฉะนั้น ในระยะแรกที่จะกำหนดก็น่าจะเป็นพื้นที่การท่องเที่ยว ธุรกิจ การค้า พื้นที่สำคัญ ก็ต้องขีดวงพื้นที่ และประเมินว่าวัคซีนได้เท่าไหร่  ก็จะต้องมีความครอบคลุมของวัคซีนเป็นหลัก และสามารถจัดบริการในแบบCovid free Setting  มีการดำเนินการเรื่อง Health Passแล้ว เหล่านี้เป็นนิวนอร์มัลที่จะดำเนินการต่อไป ก็ต้องทำให้ได้อย่างดีเพราะไม่อยากให้สถานการณ์ต้องกลับมาปิดบ้านปิดเมืองอีกแล้ว แต่ขณะนี้ประชาชนเข้าใจในการดูแลตัวเองมากขึ้น”นพ.เกียรติภูมิกล่าว  
สิ้นต.ค.ติดเชื้อใหม่ 5,000/วัน
    นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า  สถานการณ์ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงขาลง เป็นผลมาจากมาตรการล็อคดาวน์ก่อนหน้านี้ สัดส่วนผู้ป่วยหนัก และผู้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจลดลงตามลำดับ หลังตัวเลขก่อนหน้านี้อยู่รที่ 4- 5 พันรายต่อวัน ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 3 พันรายต่อวัน โดยมีการประมาณการณ์ว่าจะมีผู้ติดเชื้อราวๆ 5 พันรายต่อวัน ก่อนสิ้นต.ค.นี้ เป็นการประเมินตามหลักคณิตศาสตร์ แต่สถานการณ์ก็อาจจะเหวี่ยงวขึ้นได้ ก็ต้องทำให้ไม่เช่นนั้น  ทั้งเรื่องการ์ดในการป้องกันตัวเอง  การตรวจ ATK  มาตรการCovid free setting คาดว่าน่าจะกดการติดเชื้อลงได้ รวมถึง อัตราการฉีดวัคซีนของไทยมีความครอบคลุมสูงขึ้น จากตอนที่วัคซีนไทยครอบคลุม 11% อัตราการป่วยหนักก็เริ่มลดลง ตอนนี้เกือบ 50 % ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ส่วนเข็ม 2 ฉีดแล้วครึ่งหนึ่งของคนฉีดเข็ม 1 คาดว่าภายในสิ้นต.ค.นี้ สัดส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม 1 กับ 60% เข็ม 2 อยู่ที่ 50% และสิ้นธ.ค. ตามเป้าหมายการฉีดคือเข็ม 1 จำนวน 80 % และเข็ม 2 จำนวน 70%

เป้าอัตราป่วยตายใกล้เคียงไข้หวัดใหญ่

      “สิ้นเดือนต.ค.ความครอบคลุมของวัคซีนในประเทศไทยจะใกล้เคียงกับประเทศอังกฤษในตอนนี้ ซึ่งประเทศไทยจะมีรูปแบบใกล้เคียงกับในสหภาพยูโรป  โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ราววันละ 5,000 ราย ส่วนป่วยหนักและเสียชีวิตจำนวนไม่มากอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ จึงจะประกาศสถานการณ์จากระบาดใหญ่(pendemic) เป็นโรคประจำถิ่น(Endemic) ก็ต้องใช้กระบวนการในการดำเนินการ โดยการฉีดวัคซีนทำให้โควิดอ่อนกำลัง ป้องกันการแพร่เชื้อเร็วด้วยUP และควบคุมโรคให้เร็ว ไม่ให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ ส่วนการคงมาตรการส่วนบุคคล เช่น ใส่หน้ากากน่าจะยังต้องคงไว้อีกสัก  1 ปี”นพ.เกียรติภูมิกล่าว

คาดมี.ค.65โรคน่าจะสงบ

      นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อเหวี่ยงกลับขึ้นสูงอีกมา  2 ส่วน  คือ 1.คลัสเตอร์ จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ ด้วยการเข้าควบคุมโรคให้เร็ว และ2.การกลายพันธุ์  แต่ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศก็ระบุว่าไวรัสจะกลายพันธ์ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น โรคไม่น่าจะรุนแรง โดยมาตรการที่ประเทศไทยดำเนินการขณะนี้ คือ เรื่องของป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล(Universal Prevention หรือ UP) และการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม จะเป็นเหมือนการ์ดป้องกัน ส่วนATKจะเป็นการเตะตัดขา ไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อเป็นวงกว้าง และ Covid Free Settings เป็นการเว้นระยะห่างไม่ให้โควิดเข้ามาชกเราได้  หากดำเนินการได้เชื่อว่าประเทศไทยจะทรงระบบไปได้จนถึงสิ้นปี แบะคาดว่าราวมี.ค. 2565 โรคน่าจะสงบลง สามารถใช้ชีวิตใกล้ปกติได้ แต่การคงมาตรการป้องกันตัวเอง เช่น ใส่หน้ากากน่าจะยังต้องดำเนินการต่อไปอีกราว 1 ปี