"บุหรี่ไฟฟ้า" อันตรายกว่าที่คิด 1 แท่งมี "สารนิโคติน" เท่ากับบุหรี่ซอง 20 มวน

"บุหรี่ไฟฟ้า" อันตรายกว่าที่คิด 1 แท่งมี "สารนิโคติน" เท่ากับบุหรี่ซอง 20 มวน

"สสส." จับมือ เครือข่ายเคเบิลทีวี 50 สถานี เปิดเวทีแลกเปลี่ยน "สื่อสร้างสรรค์" เปลี่ยนสังคม ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด สื่อสารประเด็นปัจจัยเสี่ยง สู่การรับรู้วงกว้าง ประเดิมเวทีแรก "บุหรี่ไฟฟ้า" อันตรายกว่าที่คิด

โครงการพัฒนาเครือข่ายสื่อสุขภาวะประเด็นลดปัจจัยความเสี่ยงทางสุขภาพ ร่วมกับ เครือข่ายเคเบิลทีวีทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเวทีแลกเปลี่ยน ภายใต้หัวข้อ “ สื่อสร้างสรรค์ ...เปลี่ยนสังคม ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด” ผ่านระบบประชุม Zoom Meeting ทุกวันจันทร์-อังคาร ตลอดเดือนกันยายน 2564

 

ประเดิมเวทีแรกประเด็น “บุหรี่ไฟฟ้า" อันตรายกว่าที่คิด มี รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานในพิธี พร้อมกับ พญ.เริงฤดี ปราณวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และ นางสาวชวาลา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม ผช.ผจก.มูลนิธิณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีนายภัทรชัย ปราชญ์อุดม ผู้ประกาศข่าวช่อง 7 ดำเนินรายการ

 

  • บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายกว่าที่คิด 

 

พญ.เริงฤดี ปราณวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายกว่าที่คิด โดยเฉพาะวัยรุ่นไทยเข้าใจผิดว่าปลอดภัย แต่ความเป็นจริงบุหรี่ไฟฟ้า เป็นบุหรี่ชนิดใหม่ ที่ผู้สูบจะได้รับ สารนิโคติน เหลวระเหยด้วยความร้อนจากไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย จึงเป็นการนำสารเสพติดเข้าสู่ร่างกายเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ซองโดยปัจจุบัน มีน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ารสชาติต่างๆ กว่า 16,000 ชนิด และหลายชนิดดึงดูดเด็กๆ

  • 1 แท่ง สารนิโคตินเท่ากับบุหรี่ซอง 20 มวน

 

นอกจากนี้ ยังพบว่า บุหรี่ไฟฟ้า 1 แท่งมีสารนิโคตินเท่ากับบุหรี่ซอง 20 มวน โดยนิโคตินมีผลทำให้หงุดหงิดง่าย ปวดหัว อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง จึงเป็นสารพิษทำลายสมอง และอันตรายในหมู่วัยรุ่นที่ยังเข้าใจผิดคิดว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย

 

แต่จากข้อมูล พบว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำให้การทำงานของเซลล์หลอดเลือดแดงแย่ลงถึง 34-58 % เสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแดงแข็งตัวและเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจไม่น้อยไปกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา และยังพบว่าก่อให้เกิดโรคหัวใจวายเฉียบพลันเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

 

นอกจากนี้ ยังทำลายระบบการทำงานของปอดและการแลกเปลี่ยนก๊าซ ทำลายระบบภูมิคุ้มกันทางเดินหายใจและระบบต่อสู้เชื้อโรค ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินหายใจ ขณะที่มีหลักฐานใหม่อีกว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมของเซลล์เนื้อเยื่อที่นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งได้

 

รายงานจากองค์การอนามัยโลก ปี 2564 ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าปล่อยสารนิโคตินอนุภาคขนาดเล็กและสารก่อมะเร็งในอากาศในปริมาณที่สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ

นางสาวชวาลา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม ผช.ผจก.มูลนิธิณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวเสริมว่า เครือข่ายเคเบิลทีวี เป็นอีกกลุ่มสำคัญที่จะช่วยกระจายข่าวสารและร่วมรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคมไปสู่สังคมในวงกว้าง มูลนิธิฯมีความยินดีที่จะสนับสนุนและร่วมมือในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลหรือประสานเครือข่ายรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ อาทิ อปท.ปลอดบุหรี่  ศูนย์ข่าวปลอดควัน เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ GenZ Strong ไม่สูบบุหรี่ Gen Alpha ปกป้องเด็กไม่สูบ ฯลฯ

 

"ร่วมทำงานในประเด็นที่เครือข่ายเคเบิลในแต่ละพื้นที่มีความสนใจ เคเบิลทีวีจะเป็นอีก 1 ช่องทางที่จะเชื่อมโยงข้อมูลการรณรงค์ไปสู่กลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะเยาวชน เชื่อมั่นว่า หากเครือข่ายรวมพลังสื่อสารข่าวสารออกสู่วงกว้างไปในทิศทางเดียวกันจะสร้างผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดีได้" นางสาวชวาลา กล่าว 

 

รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเครือข่ายเคเบิลท้องถิ่น ภายใต้การบริหารจัดการของ สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลท้องถิ่นสาธารณะ Cable Channel 37HD ที่มีสถานีเคเบิลท้องถิ่นกว่า 50 สถานีทั่วทุกภูมิภาค ร่วมเผยแพร่ข่าวสาร สื่อรณรงค์เสริมสร้างสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยง ของ สสส. อย่างต่อเนื่อง 

 

ทั้งนี้ ด้วยกลไกการทำงานของภาคีเครือข่าย สสส. มีการกระจายการดำเนินงานที่ครอบคลุมไปทั่วประเทศ ดังนั้นการจัดเวทีแลกเปลี่ยน “สื่อสร้างสรรค์...เปลี่ยนสังคม ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด” จึงเสมือนเป็นสะพานเชื่อมภาคีเครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยงเชิงประเด็นและพื้นที่ได้ทำความรู้จักกัน สานสัมพันธ์กับสื่อเคเบิลท้องถิ่นในพื้นที่การทำงานของภาคีเครือข่าย เพื่อเป็นพลังในการสื่อสารและสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในวงกว้าง  

 

โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 สังคมไทยต้องปรับเปลี่ยนเข้าสู่ “ชีวิตวิถีใหม่”  การสื่อสารประเด็นลดปัจจัยเสี่ยง เรื่องบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน  ที่เป็นความเสี่ยงหลักในการระบาดของเชื้อโควิด 19 ในเวลานี้ รวมทั้งการสร้างความตระหนักในเรื่องดื่มไม่ขับ การสร้างทัศนคติที่ดีในการขับขี่อย่างปลอดภัย เหล่านี้ล้วนเป็นการหนุนเสริมกลไกการทำงานของ สสส. และภาคีเครือข่าย ในทุกมิติ ทุกประเด็น  ได้บรรลุสู่เป้าหมายการรณรงค์สร้างกระแสสังคมเพื่อสร้างความตระหนัก และสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy)    

      
 “สื่อเคเบิล เป็นสื่อที่มีความใกล้ชิด  และเข้าใจในบริบทของชุมชนและพื้นที่ของตนเอง การสื่อสารเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ  และลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ จึงเป็นช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงชุมชนได้ดีกว่าสื่ออื่น ๆ  ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนงานของ สสส.  ที่ต้องการเชื่อมโยงประเด็นการทำงานของภาคีต่าง ๆ ในทุกมิติ ทั้ง ‘พลังนโยบาย พลังปัญญา และพลังสังคม’ ให้มีการหนุนเสริมพลังการทำงานซึ่งกันและกัน  โดยมี “พื้นที่สื่อ” เป็นสะพานเชื่อมฐานข้อมูลเหล่านี้ ไปสู่ชุมชนได้อย่างเข้าใจ และเข้าถึง”   รศ.ดร.กุลทิพย์ กล่าว