รู้เขา รู้เรา รู้เท่าทัน “บุหรี่ไฟฟ้า”

รู้เขา รู้เรา รู้เท่าทัน “บุหรี่ไฟฟ้า”

ความนิยมใน "บุหรี่ไฟฟ้า" เริ่มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะในประเทศไทย แม้แต่ในระดับโลกเองก็เติบโตเช่นกัน บุหรี่ไฟฟ้านั้นเรียกได้ว่าเป็นมหันตภัยทำลายสุขภาพที่กำลังประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง

การประชุมบุหรี่หรือสุขภาพเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 13 (13th Asia Pacific Conference on Tobacco or Health: APACT 2021 Bangkok) จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ (NATFT) และอีก 12 องค์กรพันธมิตร ที่ผ่านมา จึงมีการหยิบยกและแลกเปลี่ยนถึง “บุหรี่ไฟฟ้า”อีกประเด็นร้อนที่ถูกนำมาเรียนรู้ร่วมกัน

บุหรี่ไฟฟ้า ภัยสุขภาพใหม่ของวัยทีนทั่วโลก

ในการเสวนาหัวข้อ “ผลิตภัณฑ์บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ตอนนี้เรารู้จักอะไรบ้าง” ดร.สแตนตัน แกลนซ์ (Stanton Glanz, PhD) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและศึกษาด้านการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาว่า เดิมวัตถุประสงค์การนำ บุหรี่ไฟฟ้า มาใช้ เป็นไปเพื่อการช่วยบำบัด หรือทดแทนให้กับผู้ที่ต้องการ เลิกบุหรี่ แต่ต่อมาความแพร่หลายของบุหรี่ไฟฟ้ากำลังเข้าสู่กลุ่มเด็กและเยาวชนมากขึ้น เพราะหาซื้อง่ายทั้งจากร้านค้าและในอินเทอร์เน็ต และไม่มีการควบคุมการจัดจำหน่าย ทำให้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นสารเสพติดตัวใหม่ที่เข้าถึงกลุ่มนักสูบหน้าใหม่มากขึ้น

ดร.แกลนซ์ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ากำลังเติบโตในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกอย่างก้าวกระโดดในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ซึ่งหากถามว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็ว นั้นเกิดจากความพยายามของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่สรรหากลยุทธ์ต่างๆ เพื่อโน้มน้าวดึงดูดใจนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนมาเป็นลูกค้ารายสำคัญ

บุหรี่ไฟฟ้า
 

กลเกมที่ว่าเริ่มตั้งแต่การพัฒนารูปแบบและรูปลักษณ์ที่ดูไม่เหมือนบุหรี่ทั่วไป ด้วยการออกแบบให้เป็นแท่งสี่เหลี่ยมกะทัดรัด ซึ่งหากมองผิวเผินอาจเข้าใจว่าเป็นเพียงแฟลชไดรฟ์เท่านั้น และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าที่เรียกว่า JUUL ที่กำลังประสบความสำเร็จอย่างสูงและครองส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐอเมริกา

ความจริงช่วงแรกของการวางตลาด JUUL ไม่ใช่สินค้าที่สะดุดตาเยาวชนมากนัก เนื่องจากหน้าตาที่ดูไม่เหมือนบุหรี่ แต่ผลพวงของการตลาดที่ชาญฉลาด ทำให้ JUUL เจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในที่สุด ผู้ผลิตเลือกที่จะสื่อสารแนะนำสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และกลุ่มเน็ตไอดอลหรือวัยรุ่นผ่านการสื่อภาพลักษณ์ถึงความเท่ ทันสมัย ทำให้ JUUL กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เข้ามาแฝงตัวในสังคมรั้วโรงเรียน

บุหรี่ไฟฟ้า

JUUL เป็นบุหรี่ไฟฟ้าประเภท Liquid E Cigarette หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า e-cigs เป็นการนำ “นิโคติน” เข้าสู่ร่างกายผ่านการทำให้เป็นไอแทนการเผาไหม้ มีการพัฒนาสูตรโดยใช้เกลือนิโคติน ซึ่งต่างจากบุหรี่ไฟฟ้าทั่วไปที่ใช้ Freebase Nicotine หรือ นิโคตินบริสุทธิ์ ทำให้มีค่าความเป็นกรดน้อย ผู้สูบสามารถหายใจได้ง่ายขึ้น ไม่แสบคอ นี่คืออีกเหตุผลว่าทำไมผู้ใช้ใหม่อย่างเด็กๆ ถึงติดบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น รวมถึงยังถูกปรุงแต่งให้มีรสชาติและกลิ่นหลากหลาย ที่กลายเป็นสิ่งที่ยิ่งเสริมการนำนิโคตินเข้าสู่ร่างกายได้ในปริมาณที่สูงกว่าบุหรี่ทั่วไป แน่นอนว่า...ยิ่งทำให้ผู้ใช้จะได้รับสารนิโคตินที่เข้มข้นมากเช่นกัน

ดร.แกลนซ์ กล่าวต่อถึงการวิจัย ที่พบว่าเยาวชนที่เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการที่จะหันมาสูบบุหรี่เมื่อเปรียบเทียบกับเยาวชนไม่ได้เริ่มด้วยบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้
 
 

“โดยรวมแล้วการเริ่มต้นด้วย บุหรี่ไฟฟ้า เหล่านี้ ทำให้โอกาสที่เด็กและเยาวชนจะกลายเป็นนักสูบบุหรี่ชนิดมวนในเวลาต่อมาเพิ่มขึ้นสามเท่า อีกทั้ง JUUL มีขนาดกะทัดรัด พกพาง่ายจนคุณอาจไม่รู้เลยว่าเด็กเหล่านี้พวกเขาเคยสูบบุหรี่หรือกำลังสูบบุหรี่อยู่”

ผลกระทบจากการแพร่หลาย JUUL ในหมู่นักเรียนนักศึกษาวัยรุ่น ทำให้ปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเริ่มมีการตั้งคำถามว่าควรจัดให้ JUUL และบุหรี่ไฟฟ้า ควรถูกจัดอยู่ในสถานะใดระหว่างผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อบำบัดรักษาผู้ติดบุหรี่ หรือควรเป็นสินค้าทั่วไปที่หาซื้อได้เช่นเดียวกับบุหรี่หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ ที่จำเป็นต้องมีการควบคุมหรือไม่

ดร.แกลนซ์ กล่าวว่า การสูบบุหรี่หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภทมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคหอบหืด รวมถึงโรคปอด และโรคมะเร็ง ที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้าอาจมีอันตรายกว่าบุหรี่แบบดั้งเดิม เพราะมีอานุภาคขนาดเล็กมากที่สามารถ ข้าสู่กระแสเลือดและเข้าสู่เซลล์ ซึ่งอันตรายมาก ทั้งมีโอกาสที่จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ

“ด้วยอนุภาคละเอียดขนาดนี้ เราอาจไม่มีทางที่จะกำจัดมันได้ง่ายทำให้อนุภาคเหล่านั้นยังสร้างมลพิษทางอากาศอีกด้วย” ดร.แกลนซ์เอ่ย

JUUL กับการเพิ่มยอดนักสูบหน้าใหม่ในอเมริกา

ด้านข้อมูลจาก ดร. ชี ปัง เวน (Chi Pang Wen) จาก National Health Research Institue Founder, Taiwan Medical Alliance for the Control of Tobacco บรรยายเรื่อง เราเรียนรู้อะไรจาก JUUL 2021 โดยเผยว่า จากการศึกษา ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามีนักเรียนระดับไฮสคูลที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าในอังกฤษ ถึงสามเท่า หรือ 20% ขณะที่ในอังกฤษมีเพียง 6% ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากการแพร่หลายของ “JUUL” บุหรี่ไฟฟ้านั่นเอง

บุหรี่ไฟฟ้าเริ่มเข้ามาในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2007 แต่ใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 4-5 ปี เด็กเยาวชนนักเรียนหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 900% นั่นเพราะ JUUL” ดร.เวน กล่าว

บุหรี่ไฟฟ้า

ทั้งในสหรัฐอเมริกายังเป็นบุหรี่ไฟฟ้าที่มีส่วนผสมนิโคตินสูงถึง 59 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ขณะที่ในยุโรปมีเพียง 20 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร

ปัจจุบันเด็กสหรัฐอเมริกาสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 20% หรือเกือบ 34 ล้านคน ถือเป็นสองเท่าของคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในอังกฤษ ซึ่ง 1 ใน 3 นั้นเป็นเยาวชน สะท้อนให้เห็นว่าการไม่มี JUUL ทำให้เด็กอังกฤษสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพียง 8%

ตามรายงานของหน่วยงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ระบุว่า ปี 2008 ที่ผ่านมา JUUL ครองตลาดบุหรี่ไฟฟ้าถึง 72% ซึ่งลูกค้ากลุ่มหลักที่แทนที่จะเป็นผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ตามเป้าหมาย กลับกลายเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนมากกว่า

ปัจจุบันสหรัฐอเมริกากำลังตัดสินใจและพิจารณาที่จะจำกัดการจำหน่าย หรือเป็นไปได้ที่อาจมีการยกเลิกการจำหน่าย JUUL แบบเสรีหรือถูกกฎหมาย

กล่าวกันว่า แท้จริงนิโคตินที่อยู่ใน JUUL นั้นปริมาณสูงแทบไม่ต่างกับบุหรี่ชนิดมวน โดยใน “JUUL Pods” นั้นมีนิโคตินเข้มข้นพอๆ กับบุหรี่หนึ่งซอง หรือการสูบกว่า 200 ครั้ง

นอกจากนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ตกลงแล้ว JUUL มีประโยชน์ ในด้านการบำบัด ช่วยลดเลิกบุหรี่ หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กและเยาวชนเริ่มสูบบุหรี่กันแน่

โดย JUUL กำลังเผชิญกับการฟ้องร้องคดีความถึงกว่า 2,339 คดีในอเมริกา (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2564) และได้จ่ายชดเชยไปแล้วถึง 40 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในรัฐนอร์ท แคโรไลนา ในข้อหาจำหน่ายสินค้าให้กับเยาวชน ประกอบกับตลาด บุหรี่ไฟฟ้า เองก็ส่อแววขาลง โดยมียอดขายลดลงเหลือเพียง 42% ในปี 2020 ซึ่งลดเกือบครึ่งหนึ่งของปี 2018 ที่การเติบโตตลาดถึง 72%

การถูกเพ่งเล็งจากทางรัฐและสังคม ทำให้ทาง JUUL เองก็พยายามดิ้นรนอย่างยิ่งที่จะสร้างบทบาทเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการสกัดกั้นจากภาครัฐ ทาง JUUL มีการอ้างอิงข้อมูลวิชาการว่าผลิตภัณฑ์ตนเองนั้นสามารถช่วยเลิกบุหรี่ได้จริง

เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ปรากฎบทความตีพิมพ์เกี่ยวกับ JUUL ในวารสาร Health Behavior จำนวนถึง 13 บทความ รวมกว่า 200 หน้า ซึ่งพยายามให้ข้อมูลวิจัยว่า JUUL ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้จริง แต่ต่อมาภายหลังกลับพบว่า ได้มีการจ่ายเม็ดเงินกว่า 51,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐเพื่อได้ลงบทความเหล่านี้

เทคนิคการทำตลาดของ JUUL นั้น ไม่ต่างจากผู้ผลิตบุหรี่รายอื่นที่ผ่านมา ที่ใช้กลยุทธ์ให้ทุนการวิจัยและตีพิมพ์วารสาร ซึ่งแม้ผลการวิจัยจะพยายามบ่งชี้ว่า JUUL สามารถทำให้คนเลิกบุหรี่ได้จริง แต่ ดร. เวน ให้ข้อสังเกตว่ามีหลายประเด็นที่ผู้ผลิต JUUL และงานวิจัยยังไม่สามารถตอบคำถามสังคมได้แบบเคลียร์ชัด ไม่ว่าจะเป็น

  1. JUUL เป็นอุปกรณ์ที่มีความปลอดภัย ที่ช่วยคนที่ติดบุหรี่หนักสามารถเลิกบุหรี่ได้จริงหรือไม่
  2. นักสูบหน้าใหม่กลุ่มเยาวชนที่เคยใช้ JUUL จะสามารถเลิกสูบได้จริง โดยไม่ติด และจะไม่ทำให้ลามไปติดบุหรี่แบบอื่นๆ ใช่หรือไม่
  3. นักสูบที่สูบทั้งบุหรี่มวนและ JUUL มีมากน้อยแค่ไหน
  4. ทำไม JUUL ถึงดึงดูดใจกลุ่มนักสูบวัยเด็กและเยาวชนได้ และสุดท้ายเราจะช่วยให้คนที่ติด JUUL เลิกอย่างไร

รับมืออย่างไร เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าบุกไทย

ขณะที่ประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญกับความท้าทายในการต่อสู้กับ บุหรี่ไฟฟ้า

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะรองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ กล่าวในการบรรยาย “บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เรารู้จักอะไรบ้าง” ว่า ประเทศไทยมีการห้ามขาย บุหรี่ไฟฟ้า ทุกรูปแบบในประเทศ แต่กระนั้นผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าก็มีความพยายามที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ด้วยบุหรี่ไฟฟ้า โดยการใช้กลยุทธ์การตลาดมากมายอยู่ดีทั้งการออกแบบเพื่อไม่ให้ผลิตภัณฑ์มีรูปลักษณ์บุหรี่ไฟฟ้า ดูไม่ออก และมีการออกแบบให้มีสีสันและรูปลักษณ์ที่โดนใจวัยรุ่น อีกทั้งสามารถหาซื้อผ่านโซเชียลมีเดีย ร้านค้าออนไลน์ ซึ่งพบว่าบางแห่งมีผู้ติดตามมากถึงหลักแสนราย

แม้ว่าจะมีการแบน หรือห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายโดยสิ้นเชิงในประเทศไทย แต่กลับพบว่าจำนวนผู้ที่หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้ากลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่น โดยพบว่านักศึกษามีอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 60%

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าพบว่า ผู้ที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่าหญิงถึง 9 เท่า อยู่ในเมืองหลวงหรือภาคกลางมากกว่า 64% ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นถึงวัยกลางคนที่มีสถานภาพการศึกษาและมีฐานะค่อนข้างดี โดยเชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าดีกว่าการสูบบุหรี่มวน เพราะอันตรายน้อยกว่า

“สาเหตุที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าคือ เชื่อว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนถึง 81% และคิดว่าเป็นตัวช่วยในการเลิกบุหรี่ถึง 80.6% มองว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นเหมือนบุหรี่ 58.2%”

นอกจากนี้ จากการสำรวจนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและระดับปริญญากว่าสองพันคน พบว่า 1 ใน 3  หรือ กว่า 30% เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างน้อย 1 ครั้ง

ที่น่าสนใจคือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยกว่า 60% มีอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจากผลสำรวจคนไทยสูบบุหรี่ประมาณ 17.2% แม้ลดลงจากปีก่อนประมาณ 4% แต่ผลการสำรวจดังกล่าวนี้สะท้อนว่า เรากำลังเจอภัยชนิดใหม่ นั่นคือบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังรุกกลุ่มนักศึกษาและนักเรียน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง” รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว

แม้แต่ในวงการการศึกษาด้านสาธารณสุขหรือบุคลากรทางการแพทย์เอง จากผลการสำรวจติดตามตลอดกว่า 15 ปี ระหว่างปี 2006-2020 พบว่า มีการใช้บุหรี่เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ส่วนใหญ่ให้เหตุผลที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพราะมีทัศนคติว่าอันตรายน้อยกว่า บุหรี่มวน และไม่รบกวนผู้อื่น มีหลายคนมองว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย และบุหรี่ไฟฟ้าไม่ทำให้ติด แต่ช่วยลดหรือเลิกบุหรี่ได้” นี่คือคำตอบของนักศึกษาผู้ให้บริการสาธารณสุขเหล่านี้

รศ.นพ.สุทัศน์ เอ่ยว่า แม้จะมีการรณรงค์ในประเทศไทยในปัจจุบัน แต่ความเชื่อผิดๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังคงมีอยู่

มักมีการนำข้อโต้แย้ง ข้อมูลที่บอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน ในความเป็นจริงไม่ใช่ แต่เพราะปัจจุบันเรายังไม่สามารถฟันธงและให้ข้อมูลที่แท้จริงได้มากนัก เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งเริ่มมีการใช้เมื่อไม่นานอาจต้องรอ 4-5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ดี รศ.นพ.สุทัศน์เผยว่า ในอนาคตจะมีการนำผลการศึกษาดังกล่าวนี้ เพื่อเข้าหารือและความร่วมมือร่วมกับพันธมิตรเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการสกัดหรือแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา

เราใช้กฎหมายในการจัดการปัญหาบุหรี่ แต่ยังประสบปัญหาการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่น การกำกับใช้กฎหมายไม่สามารถทำได้กับการซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านช่องทางออนไลน์ ที่กำลังแพร่หลายอย่างมาก เหล่านี้ยังเป็นช่องว่าง เราพบกระทั่งว่านักเรียนนักศึกษายังจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าให้เพื่อนกันเองในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ดังนั้นสิ่งที่เราอยากพยายามผลักดัน คือการห้ามการซื้อขายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะใน สถานศึกษาที่เป็นสาธารณสุข” รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว


บุหรี่ไฟฟ้า