ย้อนรอย ทุจริตเงิน "คนไร้ที่พึ่ง" พม. ปี 61 ยึดทรัพย์กว่า 88 ล้านบาท

ย้อนรอย ทุจริตเงิน "คนไร้ที่พึ่ง" พม. ปี 61 ยึดทรัพย์กว่า 88 ล้านบาท

จากกรณีนักพัฒนาสังคม ทุจริตเงินนอกระบบงบประมาณ "กระทรวง พม." นับสิบล้านบาท หากจำกันได้ เมื่อปี 61 เคยมีคดีการ "ทุจริต" ในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น โดยขณะนั้นมีการยึดและอายัดทรัพย์สินผู้เกี่ยวข้องกว่า 88 ล้านบาท

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 นิสิต ม.มหาสารคาม ได้แจ้งแก่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เกี่ยวกับการทุจริตในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น โดยวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ให้นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ นายณรงค์ คงคำ รองปลัดพม. ให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกฯ โดยข้อความส่วนหนึ่งใจความว่า

 

"ด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับแจ้งข้อมูลจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินกรณีตรวจพบความผิดปกติในการเบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงมาแล้วคณะหนึ่ง ผลการสืบตรวจพบความผิดปกติจริง แต่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม"

 

"โดยที่ความผิดปกติดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการของข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอาจเกี่ยวพันกับข้าราชการในวงกว้างซึ่งจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงต่อไป..." 

 

  • ยักยอกเงินผู้ยากไร้

 

จากการตรวจสอบ พบมีการนำรายชื่อชาวบ้าน เอกสารบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ไปเบิกเงินโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน หรือเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มรายได้ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ รายละ 2,000 บาท เงินสงเคราะห์ผู้ติดเชื้อเอดส์รายละ 2,000 บาท และทุนประกอบอาชีพของผู้มีรายได้น้อย รายละ 3,000 บาท แต่จ่ายเงินจริงให้เพียงรายละ 1,000 บาท เท่านั้น หรือบางรายไม่ได้รับเงินเลย

ราวต้นเดือน มิ.ย. 61 คณะกรรมการธุรกรรม มีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการตรวจสอบ พบว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ 3 คน ได้แก่ นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายณรงค์ คงคำ อดีตรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายธีรพงษ์ ศรีสุคนธ์ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีพฤติการณ์ทุจริตการยักยอกเงินช่วยเหลือคนยากไร้

 

มีลักษณะการทำงานเป็นขบวนการผ่านทางการจัดสรรเงินงบประมาณลงไปยังศูนย์และหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดทั่วทุกภาค และมีการจัดทำเอกสารการเบิกจ่ายเงินงบประมาณอันเป็นเท็จ โดยนำเงินที่ได้จากการทุจริตเบิกจ่ายส่งกลับคืนไปยังผู้บริหารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการในขณะนั้น และแปลงเงินไปเป็นทรัพย์สินในรูปแบบอื่นให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ เช่น ที่ดิน ห้องชุด รถยนต์หรู เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร และหลักทรัพย์ต่างๆ

 

  • ยึดทรัพย์กว่า 88 ล้านบาท

 

คณะกรรมการธุรกรรมในคราวประชุมเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 61 มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนายพุฒิพัฒน์ นายณรงค์ และนายธีรพงษ์ และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลดังกล่าว ประมาณ 12 คน อาทิ ที่ดิน ห้องชุด รถยนต์หรู เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร และหลักทรัพย์ต่างๆ รวม 41 รายการ มูลค่าประมาณ 88 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

 

  • นายพุฒิพัฒน์ ปลิดชีพตัวเอง

 

สายวันที่ 29 มิ.ย. 2561 นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และภรรยา ได้กินยาฆ่าตัวตายที่บ้านพักในหมู่บ้านชื่อดัง จ.ปทุมธานี ก่อนที่ผลสอบสวนวินัยร้ายแรง กำลังจะเสร็จสิ้นในอีกแค่หนึ่งวัน (30 มิถุนายน)

 

  • ความผิดทุจริต

 

ข้อมูลจาก ปปง. ระบุว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการทุจริตในหน้าที่ นอกจากจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้ว หากผู้ใดมีพฤติการณ์ในการรับ หรือโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการทุจริต ก็อาจต้องถูกดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงิน ซึ่งมีโทษจำคุก 10 ปี ต่อการโอนหรือรับโอน 1 ครั้ง กล่าวโดยสรุปแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต นอกจากจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินแล้ว ตัวผู้กระทำความผิดเอง ผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ หรือนอมินี ที่รับโอนทรัพย์สินจากผู้กระทำความผิดทุกคนอาจต้องถูกลงโทษจำคุกในความผิดฐานฟอกเงินด้วย

 

  • ไล่ออก 11 คน โกงเงินคนจน

 

หลังจากนั้น ในเดือน ส.ค. 61 ที่ประชุม คณะอนุกรรมการสามัญประจำ กระทรวง พม. ได้พิจารณาและมีมติเห็นด้วยตามที่คณะ กรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงผู้เกี่ยวข้อง 26 คน ในจำนวนนี้เป็นโทษไล่ออกจากราชการ 6 คน ปลดออก 5 คน กันไว้เป็นพยาน 15 คน

 

นอกจากนี้ ได้พิจารณาในส่วนของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เสนอเข้ามาพิจารณาอีก 5 คน ทั้ง 5 คน มีโทษไล่ออกจากราชการ รวมพิจารณาโทษทั้งหมด 31 คน เป็นโทษไล่ออก 11 คน เพราะถือว่าเป็นบุคคลที่จงใจดำเนินการให้เกิดการทุจริต ส่วนที่อยู่ในขั้นตอนทำให้เกิดการทุจริตแต่ไม่ทุจริตก็มีโทษปลดออก

 

  • "พม." ไม่ทนต่อการทุจริต

 

ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2562 คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้ปฏิบัติงานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านคอร์รัปชัน ภายใต้แนวคิด พม. ไม่ทนต่อการทุจริต (M-Society Zero Tolerance) เนื่องในวันต่อต้าน คอร์รัปชั่น สากล (International Anti – Corruption Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี

 

สำหรับ กระทรวง พม. โดยศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ได้ดำเนินโครงการแสดงพลังประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านคอร์รัปชัน พม. ไม่ทนต่อการทุจริต (M-Society Zero Tolerance) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. มีแนวทางในการปฏิบัติราชการตามเจตนารมณ์ต่อต้านคอร์รัปชันของกระทรวง พม. และเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของผู้บริหารที่ปลุกกระแสสังคมให้ไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบ

 

อีกทั้ง เป็นการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจในระบบราชการตามหลักธรรมาภิบาล อันเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการตามเจตนารมณ์การต่อต้านคอร์รัปชันอย่างแท้จริง

 

  • นักพัฒนาสังคม ยักยอกเงินนอกงบประมาณ

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย ร่วมกับตำรวจสน.พญาไท และ ตำรวจ บก.ปปป. จับกุม "นายพิศาล สุขใจธรรม" นักพัฒนาสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ปฎิบัติหน้าที่หัวหน้างานการเงินและบัญชี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาฉ้อโกง ขณะนายพิศาล กำลังจะหลบหนีออกนอกประเทศ

 

หลังตัวแทนของ กระทรวง พม. ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ สน.พญาไท ไว้เมื่อวันที่ 14 กันยายน ว่าพบความผิดปกติ มีการโอนเงินที่ใช้ดูแลกลุ่มเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน เข้าบัญชีส่วนตัว เป็นจำนวนเงินกว่า 13 ล้านบาท โดยมีการปลอมบัญชีเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ ก่อนหลบหนีไปทางภาคเหนือ

 

  • รมว.พม. ยืนยันจะไม่ไว้หน้าผู้ทุจริต

 

ด้าน “นายจุติ ไกรฤกษ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า เรื่องการทุจริตในหน่วยงานของกระทรวง พม. ยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ และตนซึ่งเป็นรัฐมนตรีจะไม่ไว้หน้าผู้ทุจริตไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือเป็นข้าราชการระดับไหน รัฐบาลยืนยันชัดเจนว่าปราบทุจริต และวันนี้ผู้ที่กระทำความผิดได้ให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยจะมีการอายัดทรัพย์ ซึ่งตนได้ให้นโยบายไว้ว่าให้รื้อระบบที่ผ่านมาทั้งหมดของทุกกรมในสังกัด พม. 

 

ขณะเดียวกัน ยืนยันว่าเงินที่ถูก ยักยอก จำนวนนี้ไม่ใช่เบี้ยพิการ แต่เงินส่วนนี้เป็นเงินนอกงบประมาณ สำหรับประกันสัญญาเวลาที่คนมาทำงานร่วมกับกระทรวง ขณะนี้ ผู้รับผิดชอบให้ออกจากราชการไว้ก่อน และมีการอายัดทรัพย์ และให้รื้อระบบที่ผ่านมาให้หมด ของทุกกรมในกระทรวง พม. และสลับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับระบบนี้ เปลี่ยนทีม สลับทีม เพื่อให้เรียนรู้งานใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเคยชินกับการทำงานแบบเดิม เพื่อป้องกันการทุจริตและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับประชาชน

 

  • ย้ำ ไม่ให้มีเรื่องเหมือนปี 61 อีก

 

“สำหรับเงินที่ทุจริตไปประมาณสิบกว่าล้านบาท แต่ตัวเลขแน่ชัดว่าเท่าไหร่ต้องรอให้สอบสวนเสร็จก่อน เพราะทุกคนก็ต้องอยากรู้ว่าความจริงเสียหายเท่าไหร่ ดังนั้น เราจะยังไม่พูดในสิ่งที่ยังไม่มีตัวเลขจริง โดยเรียนกับ ปลัด พม. แล้วว่า ไม่ว่าผลสอบจะไปเจอใคร ขอโทษล่วงหน้าว่าไม่ไว้หน้าอิฐหน้าพรหม กระทรวงนี้ต้องไม่ให้มีเรื่องเหมือนกับปี 2561 อีก” รมว.พม. กล่าว

 

  • รื้อระบบ แก้จุดอ่อน

 

พร้อมกันนี้ รมว.พม. กล่าวย้ำว่า ขณะนี้สิ่งที่ทำ คือ ต้องเอาทุกหน่วยงาน ทุกกรม ให้ไอที ออดิท เข้าไปดู และมีออนไซน์ ออดิท เข้าไปตรวจจริง ต้องรื้อระบบการอนุมัติทั้งหมด เปลี่ยนพาสเวิร์ดทั้งหมด เปลี่ยนขั้นตอนใหม่ เปลี่ยนบุคคลใหม่ แต่หากดูว่าระบบดีอยู่แล้ว เพียงแต่คนทุจริต ก็ต้องเปลี่ยนที่คน หากดูแล้วตรงไหนมีจุดอ่อนก็ต้องปิดจุดอ่อนตรงนั้น หากจุดอ่อนเป็นเรื่องของระบบ ก็ต้องแก้ที่ระบบ หากจุดอ่อนเป็นเรื่องคน ก็ต้องแก้ที่คน

 

อ้างอิง : Thaipbs , Thairath , องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน , ประชาชาติธุรกิจ , สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน