'เช็คสิทธิประกันสังคมมาตรา 40' และ ม.39 ขยายวงเงินเยียวยา ยอดผู้ประกันตนจะได้เงิน

'เช็คสิทธิประกันสังคมมาตรา 40' และ ม.39 ขยายวงเงินเยียวยา ยอดผู้ประกันตนจะได้เงิน

รู้แล้วบอกต่อ "เช็คสิทธิประกันสังคมมาตรา 40" และ ม.39 ขยายวงเงินเยียวยา ยอดผู้ประกันตนจะได้เงิน

กระแสความสนใจของประชาชน กรณีการแจกเงินเยียวยา แรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด ที่ประกาศ ล็อกดาวน์ โดยประกันสังคม เปิดลงทะเบียนผ่าน www.sso.go.th 

กระทรวงการคลัง ชี้แจงขยายกรอบวงเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม.39, ม.40 จากโควิด-19 ตามที่ คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. มีมติอนุมัติขยายกรอบวงเงินเพิ่ม จำนวน 44,314.05 ล้านบาท จากเดิม 33,471.00 ล้านบาท เป็นจำนวน 77,785.06 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 39 และ มาตรา 40 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ 29 จังหวัด

โดยช่วยเหลือจำนวน 5,000 บาท/คน รวมทั้งสิ้น 9,385,930 คน ได้แก่
- ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,436,171 คน
- ผู้ประกันตน มาตรา 40 จำนวน 7,949,759 คน

มติ ครม.ดังกล่าวสืบเนื่องจากมีการขยายระยะเวลาให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ในพื้นที่ 3 จังหวัด ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนรายใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1- 24 สิงหาคม และ พื้นที่ 16 จังหวัด ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนรายใหม่ ตั้งแต่วันที่ 4 - 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา

รวมทั้งขยายการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ 13 จังหวัด เพิ่มเติม 1 เดือน

มาตรการเยียวยาผู้ประกันตน มาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด มีดังนี้

- กลุ่ม 10 จังหวัดแรก ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา

- กลุ่ม 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา

- กลุ่ม 16 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี อ่างทอง นครนายก ปราจีนบุรี ลพบุรี ระยอง สิงห์บุรี สระบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์ ตาก

มาตรการดังกล่าว มีเงื่อนไขคือผู้ประกันตน มาตรา 39 และ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ต้องประกอบอาชีพอิสระในพื้นที่ 29 จังหวัดและจ่ายเงินสมทบครบถ้วนตามเงื่อนเวลาที่กำหนด

 

กรณีประกันสังคม มาตรา 39 

"ประกันสังคม มาตรา 39" สำหรับผู้ที่เคยเป็นพนักงานเอกชนแล้วลาออก โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือน ลาออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ลาออกจากงาน ให้ความคุ้มครอง 6 กรณี ดังนี้ เจ็บป่วย ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ

  • คุณสมบัติของผู้ประกันตน

- เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนและออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน
- ต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม

  • การส่งเงินสมทบ 
เงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ คือ เดือนละ 4,800 บาท เท่ากันทุกคน โดยคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (4,800 x 9% = 432 บาทต่อเดือน)
ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี (กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ) ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 
 
สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้เข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ทำงานในสถานประกอบการ/นายจ้างใหม่) นายจ้างหรือผู้รับมอบอำนาจสามารถดำเนินการแจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่เข้าทำงาน โดยผู้ประกันตนไม่ต้องไปดำเนินการลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (สปส.1-21) แต่อย่างใด 
ยกเว้น กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีการค้างชำระเงินสมทบจะต้องไปดำเนินการแจ้งการลาออก (สปส.1-21) ด้วยตนเอง ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่สมัครไว้
  • สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ 

สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้ มี 6 กรณี คือ

1.กรณีเจ็บป่วย หากเป็นการเจ็บป่วยปกติ มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุสปส.จะเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล

2.กรณีทุพพลภาพ ค่ารักษาพยาบาล กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากรักษาในสถานพยาบาลเอกชน ผู้ป่วยนอกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท กรณีผู้ป่วยในจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท

3.กรณีคลอดบุตร ฝากครรภ์และคลอดบุตรได้ทุกโรงพยาบาล ในการเบิิกค่าคลอด ผู้ประกันตนชาย -หญิง สามารถเบิกค่าคลอดแบบเหมาจ่าย 13,000 บาทไม่จำกัดจำนวนครั้ง และผู้ประกันตนหญิงจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอด 50% ของค่าจ้างเป็นระยะเวลา 90 วัน 4.กรณีสงเคราะห์บุตร เหมาจ่ายเดือนละ 600 บาทต่อบุตรหนึ่งคน โดยสามารถรับได้เมื่อบุตรมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน

5.กรณีชราภาพ หากผู้ประกันตนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ก็จะได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ เงินบำเหน็จชราภาพ หากจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ก็จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนได้จ่ายไป หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน ก็จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ ส่วนเงินบำนาญชราภาพ หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย แต่ถ้าจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นทุก 12 เดือน

และ 6.กรณีเสียชีวิต หากจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยจะได้รับเงินค่าทำศพ 40,000 บาท และได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย หากผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ได้รับอัตรา50 %ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน ถ้าส่งเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน

  • ช่องทางการสมัคร เป็นผู้ประกันสังคม มาตรา 39

ยื่นใบสมัครตามแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แบบ สปส. 1-20) ด้วยตนเอง ภายใน 6 เดือน นับแต่วันออกจากงาน โดยสถานที่ยื่นใบสมัคร กรุงเทพฯ ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ส่วนภูมิภาค ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา




 กรณีประกันสังคม มาตรา 40 

"ประกันสังคมมาตรา 40" คือ ช่องทางสร้างประกันในชีวิตให้กับประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระทุกอาชีพ ให้ความคุ้มครอง 3-4-5 กรณี ขึ้นอยู่กับทางเลือกในการสมทบ 

  • คุณสมบัติของผู้ประกันตน

- อายุ15 ปีเป็นต้นไป แต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ (ผู้ที่มีอายุ 60-65 ปี เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. 2563)
- ทำงานแบบไม่มีนายจ้าง 

  • ทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 40 มี 3 ทางเลือก ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย  กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย

ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ

ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย  กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร

  • ช่องทางการสมัคร เป็นผู้ประกันสังคม มาตรา 40 

ผู้ที่ต้องการสมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถสมัครขึ้นทะเบียนได้ด้วยตนเองหรือให้ผู้อื่นสมัครผ่าน https://www.sso.go.th/section40_regist/ ทั้งนี้ ผู้สมัครต้องกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน คำนำหน้า ชื่อ-นามสกุล วัน-เดือน-ปีเกิด e-mail หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ประกันสังคม 

\'เช็คสิทธิประกันสังคมมาตรา 40\' และ ม.39 ขยายวงเงินเยียวยา ยอดผู้ประกันตนจะได้เงิน