‘ปิดโรงเรียน เปิดชีวิต’ พลิกวิกฤต ‘Lockdown’ เป็นโอกาสทางการศึกษาที่ยิ่งกว่า ‘เรียนออนไลน์’

‘ปิดโรงเรียน เปิดชีวิต’ พลิกวิกฤต ‘Lockdown’ เป็นโอกาสทางการศึกษาที่ยิ่งกว่า ‘เรียนออนไลน์’

เปลี่ยนแนวคิด ปรับแนวทาง สร้างการศึกษาที่เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ท่ามกลางวิกฤต “โควิด-19” ให้ช่วง “Lockdown” ไม่ได้มีแค่การศึกษาผ่านการ “เรียนออนไลน์”

การแพร่ระบาดของ โควิด-19 สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางในแทบทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ระบบการศึกษาที่ถูกเร่งให้ต้องปรับเปลี่ยนยกเครื่องขนานใหญ่ เบื้องต้นเพื่อรับมือกับวิกฤตเฉพาะหน้า ซึ่งการไปโรงเรียนตามปกติเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่จนถึงวันนี้หลายฝ่ายเริ่มเห็นว่าภายใต้สถานการณ์ที่อาจจะยืดเยื้อยาวนาน การปรับรูปแบบการเรียนรู้ในครั้งนี้อาจกลายเป็นโอกาสในการปฏิรูปการศึกษาไทยครั้งสำคัญ 

Child Based Learning หรือการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนเป็นฐานหลัก คือหนึ่งในแนวคิดการจัดการศึกษาที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนานำมาใช้ในสถานการณ์นี้ โดยมีหัวใจสำคัญคือ “อยู่ที่ไหนก็สามารถเกิดการเรียนรู้ได้” ชวนให้เรากลับไปตั้งต้นที่หลักการสำคัญของการจัดการเรียนรู้ นั่นคือสมรรถนะของ ‘ผู้เรียน’

งานเสวนาออนไลน์ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 1 กรณีศึกษา โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาและเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ จัดโดย คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา นอกจากจะนำเสนอวิธีจัดการเรียนรู้จากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา พร้อมกับโรงเรียนในเครือข่าย อย่างโรงเรียนบ้านปะทาย และโรงเรียนโรงเรียนบ้านกระถุน ซึ่งใช้หลัก “Child Based Learning” และวง PLC (Professional Learning Community) เป็นเครื่องมือสำคัญแล้ว ในวงเสวนายังเปิดเวทีสะท้อนคิดโดยผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษา อาทิ

  • .ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางนโยบายและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
  • ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฐานสมรรถนะ
  • รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อนุกรรมการด้านบริหารงานวิชาการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  • ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.
  • รศ.ประภาภัทร นิยม อธิบดีสถาบันอาศรมศิลป์
  • .นพ.วิจารณ์ พานิช รองประธานมูลนิธิสยามกัมมาจล
  • โควิด-19 เปลี่ยนมายเซ็ตทั้งประเทศ: โรงเรียนไม่ได้ผูกขาดระบบการศึกษาอีกต่อไป

รศ.ประภาภัทร นิยม อธิบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ให้ความเห็นว่า “โควิด-19” ไม่ได้ทำให้เราติดกับหรือถูกล็อกการเรียนรู้ กลับกันโควิด-19 ทำให้เกิดนวัตกรรมหรือเครื่องมือใหม่ๆ ในระบบการศึกษาบ้านเรา รวมถึงการปรับเปลี่ยนมายเซ็ตครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการมองโรงเรียนในเวลานี้เป็นเพียงศูนย์ปฏิบัติการที่จะทำให้เกิดการสร้างการเรียนรู้ไปสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ (ครู ผู้ปกครอง นักเรียน) มองเห็นสถานที่เรียนรู้ที่เป็นไปได้ทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะ ‘บ้าน’ ก็เปิดโอกาสแห่งการเรียนรู้ได้มหาศาล

นอกจากนี้ มายเซ็ตของผู้เรียนเองที่กลายเป็นเรียนรู้ด้วยตัวเองจริงๆ เกิดเป็น Trust หรือความเชื่อมั่นว่าเด็กเรียนรู้เองได้ มายเซ็ตผู้ปกครอง จากที่เคยมองว่าโรงเรียนเป็นคนจัดการเรียนรู้ให้ลูก วันนี้ผู้ปกครองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง หรือแม้แต่ปู่ย่าตายายเองก็จัดการศึกษาให้ลูกหลานได้ และมายเซ็ตของครูในการทำงาน จากทำงานเป็นปัจเจก ก็รวมมือผ่านวง PLC ช่วยกันแชร์ vision (วิสัยทัศน์)

นอกจากการปรับมายเซ็ตแล้ว รศ.ประภาภัทร กล่าวว่า “เห็นการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนทักษะ เห็นการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการศึกษาเวลานี้ เช่น ทักษะการสร้างคำถาม ทักษะการสร้างประเมินผลที่ไปถึงผู้เรียนจริงๆ ตัวผู้เรียนได้วิเคราะห์งานที่ทำว่าได้อะไรจากการทำสิ่งๆ นี้ แม้แต่ครูเองก็ได้ทักษะการเข้าไปสำรวจตัวเอง รวมถึงผู้ปกครอง ฯลฯ ทั้งหมดนับเป็นสมรรถนะที่อยู่ใน 21st century skills หรือทักษะในศตวรรษที่ 21”

เหล่านี้เป็นสิ่งที่รศ.ประภาภัทรทำงานมาตลอด รวมถึง การสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ที่ช่วยให้การเรียนรู้เกิดได้ทุกที่ ทำให้บ้านกับโรงเรียนเชื่อมโยงใช้เครื่องมือเดียวกัน สะดวกในการปฎิบัติ ทำให้เกิดเรียนรู้ที่มีความหมาย

  • ผู้อำนวยการโรงเรียนคือผู้นำการเปลี่ยนแปลง ระดมความคิดออกแบบการเรียนรู้ด้วย PLC

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงเรียนจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ .ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางนโยบายและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ความคิดเห็นว่า อยู่ที่การทำงานของผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ลำปลายมาศพัฒนา ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนถ่ายทอดความฝันได้ หลักคิด ปรัชญาของผู้บริหาร สร้างเป็นโครงสร้างที่ยืดหยุ่น และก็ได้คุณครูในโรงเรียนมาร่วมกันสร้างผ่านวง PLC จนสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์เป้าหมาย

นอกจากนี้ กระบวนการเรียนรู้เน้นตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ จะเห็นได้จากเป้าหมายที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาตั้งให้นักเรียน คือ เน้นพัฒนาการของเด็ก เช่น EF (การทำงานของสมองขั้นสูง) Self (ตัวตน)

“การแชร์ vision ให้เกิด passion นำมาสร้างเป็นกระบวนการเรียนรู้ มันมีเส้นแบ่งบางๆ ว่า เรากำลังสร้างภาระให้ผู้ปกครองหรือพาผู้ปกครองเรียนไปด้วยกัน ถ้าไม่สร้าง passion ให้ผู้ปกครอง ใช้ระบบเดิมๆ สิ่งนี้ก็จะกลายเป็นภาระงานให้ผู้ปกครอง เพราะเขาจะมีความรู้สึกว่า “ทำไมต้องทำ” ฉะนั้น การตระเตรียมผู้ปกครองจึงสำคัญ ที่ลำปลายมาศฯ มีการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้ปกครองรู้สึกว่าเขากำลังพัฒนาลูกหลาน มีครูที่คอยบอกว่าเขาต้องปฎิบัติตัวยังไง พูด ตั้งคำถามแบบไหนกับลูก และยังทำให้การเรียนรู้ที่บ้านกับโรงเรียนเชื่อมโยงกัน” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

ด้าน รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อนุกรรมการด้านบริหารงานวิชาการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ก็หยิบประเด็นการทำงานร่วมกันของครูและผู้ปกครองมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยให้ความเห็นว่าการจัดการศึกษาเช่นนี้ต้องอาศัยการคิดนอกกรอบ ความคิดสร้างสรรค์ที่ได้จากการแชร์ผ่านเครื่องมือที่สำคัญอย่างวง PLC

“วิกฤตครั้งนี้ทำให้เห็นคีย์เวิร์ดตัวหนึ่งที่เป็นประโยชน์ การเรียนรู้ของผู้ปกครอง เรารู้ว่าระบบการศึกษาพอโรงเรียนแยกมาจากคำว่า “บวร” ผู้ปกครองก็โยนภาระให้ครู ให้โรงเรียน แต่ครั้งนี้ผู้ปกครองได้เรียนรู้มหาศาลเลย ที่สำคัญได้เข้าใจลูกตัวเองที่กำลังอยู่ในระบบการศึกษา ได้เห็นพัฒนาการของลูก ได้เห็นว่าครูยากลำบากยังไงในการสอนลูกตัวเอง วิกฤตอันนี้ถือเป็นการสื่อสารวิชาพ่อแม่ครู พ่อแม่กลายเป็นครู เป็นครูคนแรกของเด็กอย่างจริงจังเสียที

“ที่ผู้ปกครองเปลี่ยนได้ส่วนหนึ่งเพราะกระบวนการจิตศึกษาที่ลงไปที่ผู้ปกครอง ทำยังไงถึงจะดึงผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา เข้ามามีส่วนร่วม เปลี่ยนมายเซ็ตพวกเขา เพื่อเป็นหนึ่งเดียวกับโรงเรียน” รศ.ดร.สุธีระ กล่าว

รศ.ดร.สุธีระทิ้งท้ายคำถามชวนคนในวงเสวนาคิดต่อว่า โครงสร้างระบบการศึกษาในเวลานี้สามารถตามทันโลกปัจจุบันหรือไม่ และระบบพัฒนาครูที่ต้องเปลี่ยนมายเซ็ตใหม่ ในอนาคต แนวโน้มการพัฒนาครูจะเป็นอย่างไร

  • เอื้ออำนวยด้วยการปลดล็อกระเบียบและปฎิรูปการศึกษาไทยผ่าน หลักสูตรสมรรถนะ

แม้ว่าที่ผ่านมาหลายโรงเรียนจะพยายามปรับตัวเพื่อที่สอดรับกับวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่เสียงสะท้อนจากผู้อำนวยการและครูในฐานะผู้ปฏิบัติ คือ กฎระเบียบต่างๆ ได้สร้างเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ทำให้ปรับเปลี่ยนได้ค่อนข้างยาก ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า ทางสำนักวิชาการฯ พยายามปลดล็อกข้อจำกัดที่มีอยู่ โดยติดตามจากสถานการณ์ในปัจจุบันว่าโรงเรียน ครู นักเรียนมีปัญหาติดขัดอะไรบ้าง และส่งเรื่องไปยังเขตพื้นที่การศึกษา เช่น ปัญหาเวลาเรียน จากสถานการณ์ทำให้เวลาเรียนของเด็กที่ตามระเบียบจะต้องร้อยละ 80 ขึ้นไปถึงจะสามารถเลื่อนชั้นหรือเรียนจบได้ ทางสำนักฯ พยายามยืดหยุ่นโดยให้ครูเป็นคนวัดว่าความสามารถเด็กในตอนนี้ผ่านเกณฑ์ที่ครูตั้งไว้หรือไใม่ โดยไม่ต้องคำนึงเรื่องเวลาเรียน หรือการวัดและประเมินผลจากเดิมที่ต้องใช้แบบทดสอบ ก็สามารถปรับเปลี่ยนตามที่โรงเรียนเห็นสมควร

ในอีกมุมหนึ่ง ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฐานสมรรถนะ กล่าวว่า ขณะนี้การทำงานของคณะกรรมการพยายามปรับเปลี่ยนหลักสูตรโดยใช้สมรรถนะเป็นฐาน เพราะตอนนี้เทรนด์การศึกษาโลกเปลี่ยนจาก content based เป็น capacity based ใช้สมรรถนะเป็นฐาน ความกังวลของคณะกรรมการ คือ กลัวว่าจะเป็นการเพิ่มภาระงานให้ครูและนักเรียนในสภาวะเช่นนี้ แต่จากการฟังงานเสวนาครั้งนี้ก็พบว่า หลักสูตรที่โรงเรียนคิดมีการใส่เป้าหมายพัฒนาเด็กโดยใช้สมรรถนะตั้ง แถมมีสมรรถนะมากกว่าที่คณะกรรมการกำหนดเสียอีก ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการปรับเปลี่ยนในระบบการศึกษาไทย

“หัวใจของความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ จากที่คณะกรรมการฯ ได้ศึกษาตัวอย่างหลากหลายประเทศที่ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ไม่ว่าจะเป็นนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย หรือฟินแลนด์ที่สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนและคุณครูทุกคน ในการร่วมมือวางแผนจัดการเรียนรู้ วันนี้จากที่ฟังครูทั้ง 3 โรงเรียน กระบวนการที่พวกท่านทำเหมือนที่ฟินแลนด์ทำเลย ทั้งผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และเด็กต่างมีส่วนร่วม โดยเฉพาะนักเรียนที่รู้ว่าตัวเขาต้องการสมรรถนะอะไร และต้องทำยังไงให้ไปถึงได้” ดร.สิริกรกล่าว

ปิดท้ายด้วยมุมมองจาก ดร.พิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กล่าวถึง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (อ่าน พื้นที่นวัตกรรม: การศึกษาไทยแก้ได้ในชาตินี้ ให้คนในพื้นที่เป็นเจ้าของ) พื้นที่นำร่องทั้ง 8 จังหวัดได้เปิดให้โรงเรียนเป็นคนออกแบบหลักสูตรการศึกษาด้วยตัวเอง ความสำคัญของพื้นที่นี้ คือ การขยายผลเอากระบวนการของโรงเรียนที่ทำสำเร็จส่งต่อให้โรงเรียนอื่นๆ เพื่อปฎิรูปการศึกษาไทย

“เราเอาระบบการศึกษากลับไปที่หัวใจจริงๆ ก็คือการเรียนรู้ด้วยตัวเองของผู้เรียน เน้นเป้าหมายแท้จริง เปลี่ยนจากโรงเรียนที่เคยเป็นฐาน กลายมาเป็นผู้เรียนเป็นฐาน”

ดร.พิทักษ์ กล่าวถึงหลักคิดในการจัดการเรียนรู้ที่น่าจะเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนทิศทางการศึกษาไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ว่า “ที่ลำปลายมาศให้ความสำคัญกับการตั้งโจทย์ น้อยแต่สำคัญยิ่ง เน้นความท้าทายเป็นหลัก ปิดโรงเรียน เปิดชีวิต เราเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เปิดการเรียนรู้ที่กว้างขึ้น ให้ความสนใจสำคัญกับสิ่งที่เป็นหัวใจของการเรียนรู้จริงๆ”

ภาพโดย Sasin Tipchai