'HIV' คืออะไร แล้วเหมือนหรือต่างจาก 'AIDS'

'HIV' คืออะไร แล้วเหมือนหรือต่างจาก 'AIDS'

ในอดีตเมื่อมีคนพูดถึงโรค "HIV" และ โรค "AIDS" หลายยคนจะเกิดความกลัว กังวัลหากต้องใช้ชีวิตกับคนกลุ่มนี้ ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ การรักษา โรคดังกล่าวอาจไม่ได้น่ากลัว เพียงแต่ต้องรู้ว่าโรคดังกล่าวเป็นเช่นไร

กรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์โรค "AIDS" หรือโรคเอดส์ในประเทศไทย ปี 2561  คาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV”เอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 480,000 คน  กำลังรับยาต้านไวรัส 358,606 คน มีผู้เสียชีวิตเนื่องจาก “HIV”  18,000 คน และติดเชื้อรายใหม่ 6,400 คน

พบว่ากรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด  มีจำนวน 1,345 คน และ เสียชีวิตในปี มีจำนวน 1,874 คน และเป็นพื้นที่ที่มีความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูง แต่การให้บริการดูแลรักษา“HIV” เอชไอวียังไม่ครอบคลุม

รู้หรือไม่? ว่า โรคติดเชื้อไวรัส “HIV” เอชไอวี และโรคเอดส์ “AIDS” มีความแตกต่างกัน

   

  • รู้จัก “HIV” และ โรค “AIDS”

พญ. รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และ พว. วิภาวรรณ อรัญมาลา พยาบาลวิชาชีพ งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า “HIV” เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค "ภูมิคุ้มกันบกพร่อง" รวมทั้งโรคเอดส์ (AIDS)  คือ ระยะท้ายของการติดเชื้อ “HIV”  ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและมีโรคแทรกซ้อนได้ เชื้อ “HIV”  จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า CD4 (ซีดีโฟร์) ส่งผลให้"ภูมิคุ้มกัน"โรคของร่างกายลดต่ำลง ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

รวมทั้ง มะเร็งบางชนิดได้มากกว่าคนปกติ ซึ่งอาการอาจจะรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม "ผู้ที่ติดเชื้อ HIV" ที่ยังมีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ดีพอสมควร เราจะเรียกว่า “ผู้ติดเชื้อ HIV” และ "ผู้ที่ติดเชื้อ HIV" ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำลง  จนกระทั่งมีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเกิดอาการเจ็บป่วยด้วยโรคฉวยโอกาสเราจะเรียกว่า “ผู้ป่วย AIDS”

เมื่อป่วยด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแล้ว ต้องรับการรักษา รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดเป็นซ้ำ จนกว่าระดับ"ภูมิคุ้มกัน"โรคหรือ CD4 จะสูงขึ้นเพียงพอที่จะป้องกันร่างกายจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสและเพียงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อ “HIV” ได้ในระดับหนึ่งด้วยภูมิของร่างกายเอง

   

  • การติดเชื้อ “HIV”เกิดจากอะไร ?

เชื้อ HIV” สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสเลือด  น้ำเหลือง น้ำอสุจิ  น้ำในช่องคลอด  ส่วนน้ำลาย เสมหะและน้ำนมมีปริมาณเชื้อ HIV”น้อย  สำหรับเหงื่อ ปัสสาวะและอุจจาระแทบไม่พบเลย ทั้งนี้มีช่องทางการติดต่อที่สำคัญ ได้แก่การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เช่น ไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัย  ไม่ว่าชายกับชาย ชายกับหญิง หรือหญิงกับหญิง ทั้งทางช่องคลอดและทวารหนัก ก็ล้วนมีโอกาสติดโรคนี้ได้ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลของการระบาดวิทยาพบว่า มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อ HIV” ได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ ใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV” ซึ่งมักพบในกลุ่มผู้ฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือด การสัมผัสเลือดหรือน้ำเหลืองของผู้ติดเชื้อ HIV”ผ่านผิวสัมผัสที่เป็นแผลเปิดหรือรอยถลอก

รวมทั้งการใช้ของมีคมร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV” โดยไม่ทำความสะอาดอุปกรณ์ให้สะอาดเพียงพอ เช่น  มีดโกนหนวด  กรรไกรตัดเล็บ เข็มสักผิวหนังหรือคิ้ว  เข็มเจาะหู การติดต่อจากแม่สู่ลูก  ทั้งระหว่างตั้งครรภ์  การคลอดและการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ รวมถึงการรับโลหิตบริจาคที่มีเชื้อ HIV” ปนเปื้อน  ซึ่งมีโอกาสน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากโลหิตที่ได้รับบริจาคทุกขวดต้องผ่านการตรวจหาการติดเชื้อ HIV” เพื่อความปลอดภัย

ดังนั้น หากสงสัยว่า  ได้รับเชื้อ HIV” ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อกินยาต้านเชื้อ HIV” แบบฉุกเฉินหรือยา PEP (เพ็บ) ภายใน 72 ชั่วโมง  หรือหากมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อสามารถกินยา PrEP (เพร็บ) ซึ่งเป็นยาที่กินก่อนที่จะได้รับเชื้อหรือป้องกันเชื้อ HIV”ได้

  

  • ระยะของการติดเชื้อ “HIV”

ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อ  HIV ในช่วงแรกที่ติดเชื้อปริมาณไม่มาก และยังไม่ได้สร้างภูมิต้านทานขึ้นมาอาจยังตรวจหาเชื้อหรือภูมิต้านทานต่อเชื้อไม่พบ  ซึ่งอาจเป็นช่วงตั้งแต่ 2-12 สัปดาห์ ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้ หนาวสั่น  เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว  น้ำหนักลด หรือมีฝ้าขาวในช่องปาก

อาการเหล่านี้มักจะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วหายไปได้เอง และเนื่องจากอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่หรือไข้ทั่วไป ผู้ติดเชื้ออาจซื้อยากินเองหรือไปพบแพทย์ก็อาจไม่ได้รับการตรวจเลือด นอกจากนี้บางรายหลังติดเชื้ออาจไม่มีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็น  ดังนั้นผู้ติดเชื้อบางรายจึงอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ในระยะนี้

ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ติดเชื้อมักจะแข็งแรงเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป แต่เมื่อตรวจเลือดจะพบเชื้อ HIV” และสารภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนี้ จึงสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เรียกว่าเป็นพาหะ (Carrier) ระยะนี้แม้ว่าจะไม่มีอาการแต่เชื้อ HIV”จะแบ่งตัวเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ และทำลายระบบ "ภูมิคุ้มกัน"โรคจนมีจำนวนลดลง เมื่อลดต่ำลงมาก ๆ ก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย

ทั้งนี้ อัตราการลดลงของระบบ"ภูมิคุ้มกัน"โรคจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อ HIV” และสภาพความแข็งแรงของระบบ "ภูมิคุ้มกัน" โรคของผู้ติดเชื้อเอง ระยะนี้คนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 85 มักเป็นอยู่นาน 5-10 ปี แต่มีกลุ่มผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10 ที่ระยะนี้อาจสั้นเพียง 2-3 ปี ซึ่งเรียกว่า กลุ่มที่มีการดำเนินโรคเร็ว (Rapid progressor) ในขณะที่ประมาณร้อยละ 5 จะมีการดำเนินโรคช้า  โดยบางรายอาจนานกว่า 10-15 ปีขึ้นไป เรียกว่า กลุ่มที่ควบคุมเชื้อได้ดีเป็นพิเศษ (Elite controller)

   

  • ปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อติดเชื้อ “HIV” แล้ว

ระยะติดเชื้อที่มีอาการ  ผู้ป่วยจะมีอาการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันโรค ดังนี้

อาการเล็กน้อย ระยะนี้ถ้าตรวจระดับ CD4 มักจะมีจำนวนมากกว่า 500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร  ผู้ป่วยอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่คอโตเล็กน้อย  โรคเชื้อราที่เล็บ  แผลร้อนในในช่องปาก  ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแคที่ไรผม ข้างจมูก  ริมฝีปาก  ฝ้าขาวข้างลิ้นซึ่งขูดไม่ออก โรคสะเก็ดเงินที่เคยเป็นอยู่เดิมกำเริบ

อาการปานกลาง ระยะนี้ถ้าตรวจระดับ CD4 มักจะมีจำนวนระหว่าง 200-500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้  เริมที่ริมฝีปากหรืออวัยวะเพศ  ซึ่งกำเริบบ่อยและเป็นแผลเรื้อรัง  งูสวัด  โรคเชื้อราในช่องปากหรือช่องคลอด ท้องเสียบ่อยหรือเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน  มีไข้เป็น ๆ หาย ๆ หรือติดต่อกันทุกวันนานเกิน 1 เดือน  ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 1 บริเวณ (เช่น คอ รักแร้ และขาหนีบ) นานเกิน 3 เดือน  น้ำหนักลดเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ  ปวดกล้ามเนื้อและข้อ  ไซนัสอักเสบเรื้อรัง  ปอดอักเสบจากแบคทีเรีย

ระยะป่วยเป็นเอดส์ (เอดส์เต็มขั้น) ระยะนี้ระบบ"ภูมิคุ้มกัน"โรคของผู้ป่วยเสื่อมเต็มที่ ถ้าตรวจระดับ CD4 จะพบว่ามักมีจำนวนต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร เป็นผลทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา โปรโตซัว วัณโรค ฉวยโอกาสเข้ารุมเร้าเรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่รักษาค่อนข้างยากและอาจติดเชื้อชนิดเดิมซ้ำ หรือชนิดใหม่หรือหลายชนิดร่วมกัน

ทั้งนี้ อาการของผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วย "AIDS"อาจมีอาการที่คล้ายคลึงกับโรคอื่นได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดว่า ติดเชื้อ HIV” หรือไม่ จึงควรทำการตรวจเลือดหาการติดเชื้อ HIV”

การปฏิบัติตนเมื่อติดเชื้อไวรัสเอชไอวีแล้ว ที่สำคัญ ได้แก่ 1.หาความรู้เกี่ยวกับโรคให้มากที่สุด 2.ศึกษาวิธีป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น 3.รับยาต้านไวรัส (Antiviral therapy) เป็นประจำ อย่าให้ขาดยา 4.รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง ผู้ที่ติดเชื้อแล้วจะยังไม่เกิดอาการรุนแรง หรือไม่มีอาการอยู่เป็นเวลานาน บางคนไม่มีอาการผิดปกติเป็นเวลาหลายๆปี

ในช่วงเวลาเหล่านี้ควรออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ (อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ในปริมาณที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วน และน้ำหนักตัวเกิน) พักผ่อนให้เพียงพอ เลิกดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ เลิกพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม 5.หาวิธีลดความเคร่งเครียดทางจิตใจด้วยวิธีการต่างๆ

  

  • รักษาอย่างไรเมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้ว

แนวทางการรักษาเมื่อติดเชื้อเอชไอวี คือ การใช้ยายับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส หรือยาต้านเชื้อไวรัสซึ่งต้องรับประทานตลอดชีวิตเรียกว่า Antiretroviral therapy เราสามารถติดตามผลการรักษาได้จากการเจาะเลือดดูปริมาณเม็ดเลือดขาว CD 4 positive T cell ว่า อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ และนับปริมาณไวรัสในเลือดได้โดยตรง (Viral load)

เป้าหมายในการให้ยาก็เพื่อให้โรคอยู่ในระยะที่ 2 หรือระยะสงบต่อไปนานๆโดยไม่เป็น "โรคเอดส์" การใช้ยารักษาโรคติดเชื้อต่างๆที่เกิดขึ้นจากการมี"ภูมิคุ้มกัน"ต้านทานโรคบกพร่อง ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยติดเชื้อชนิดใด เช่น ติดเชื้อวัณโรคก็ให้ยารักษา วัณโรค ติดเชื้อราก็ให้ยารักษาเชื้อรา หรือถ้าเป็นโรคมะเร็งก็รักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น