"นอกใจ ซึมเศร้า อยากตาย” มาแชทไลน์ '@d-chat' คลายทุกข์กันดีกว่า

"นอกใจ ซึมเศร้า อยากตาย” มาแชทไลน์ '@d-chat' คลายทุกข์กันดีกว่า

ความทุกข์ที่เก็บงำไว้ บอกใครไม่ได้ ปรึกษาใครไม่เข้าใจ ‘ช่อผกา วิริยานนท์’ อดีตพิธีกรดัง และเพื่อนๆอาสากลุ่มนี้ขันอาสาแชท ช่วยถอนพิษทางใจ คลายเศร้า คลายทุกข์ ให้บริการฟรี เพื่อให้ชีวิตคนไทยดำเนินต่อไป

“ผู้หญิงคนหนึ่งทำงานที่ดีมากๆ มีพร้อมทุกอย่าง ปรึกษาว่าติดเซ็กส์ มีเซ็กส์กับคนข้างบ้านที่มีเมียแล้ว ไม่สามารถเลิกได้”

“ผู้หญิงอีกคนเล่าว่า สามีมีเมียน้อย แล้วยังตบตีทำร้าย เพื่อเอาเงินไปใช้ ไม่อยากเลิกกับสามี จะต้องทำอย่างไร”

“คนป่วยซึมเศร้า ปรึกษาว่าอยากจะตายทุกครั้งเมื่ออาทิตย์ตกดิน เขาวิ่งหนีแสง แชทกับเรา เพราะอยากให้เราวิ่งหนีแสงเป็นเพื่อนกับเขา”

...........................

อุ๊-ช่อผกา วิริยานนท์ อดีตพิธีกรชื่อดัง ศิษย์เสถียรธรรมสถาน เล่าถึงงานอาสาสมัครให้คำปรึกษาความทุกข์ผ่าน LINE ID : @d-chat โดยกลุ่มจิตอาสา ผ่านการนัดหมายล่วงหน้า เพื่อเลือกวันเวลาปรึกษาทุกวัน ครั้งละไม่เกิน 45 นาที ช่วงเวลา 19.00-22.00 น. โดยอาสาให้คำปรึกษาและผู้ปรึกษาไม่จำเป็นต้องรู้ชื่อจริง หรือสถานภาพใดๆ ทางสังคม

160828369255  

จิตอาสา@d-chat

กลุ่ม@d-chat ตั้งขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว อุ๊- ช่อผกา และศิษย์เก่าสาวิกาสิกขาลัย เสถียรธรรมสถาน 7-8 คน รวมตัวกัน เพื่ออาสาให้คำปรึกษาคนที่มีความทุกข์ โดยทำมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบันมีจิตอาสาประมาณ 30 คน

“ตอนที่คุณแม่ชีศันสนีย์ เรียกศิษย์เก่าสาวิกาฯมาเจอกัน ท่านให้การบ้านว่า พวกเราจะทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้าง ในกลุ่มเราก็ปรึกษากัน ถ้าจะทำงานเพื่อคนอื่น โดยไม่ต้องใช้เวลาเยอะ แรกๆ คิดเรื่องการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์

แต่อุ๊เคยมีประสบการณ์ทำรายการทีวี เคยให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์แล้วติดพันนัวเนีย มาถึงจุดขอเงิน ขอความช่วยเหลือ เพราะเขารู้ว่าคนที่คุยด้วยคือช่อผกา และเราก็เคยมีประสบการณ์ช่วยเหลือคนอยากฆ่าตัวตาย ชีวิตตอนนั้นจึงวุ่นวาย ก็เลยเสนอเพื่อนๆ ว่าให้ตั้งกลุ่มไลน์แชทดีกว่า” ช่อผกา เล่าถึงจุดเริ่มต้น @d-chat คลายทุกข์ ที่เริ่มจากศิษย์สาวิกาสิกขาลัยที่เรียนเรื่องจิตปรึกษาเคยฝึกให้คำปรึกษาแบบเพื่อนช่วยเพื่อน

 

แชทไลน์ปรึกษา

ใช่ว่าใครนึกอยากเป็นจิตอาสาให้คำปรึกษาก็ทำได้เลย ต้องผ่านกระบวนการให้คำปรึกษา แม้ผ่านการอบรมแล้ว ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา บางครั้งทีมอาสาก็ต้องช่วยเยียวยากันเอง

“เราใช้ชุมชนเสถียรธรรมสถานเป็นสถานที่ฝึกอบรม อาสาสมัครเหล่านี้จะรู้จักธรรมะระดับหนึ่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นจิตปรึกษาเชิงพุทธ แต่เวลาให้คำปรึกษาไม่เน้นธรรมะ ก็แล้วแต่สไตล์ของผู้ให้คำปรึกษาแต่ละคน”

160828465973

(ชุมชนเสถียรธรรมสถานกับงานเพื่อสังคม)

แม้จะเป็นงานจิตอาสา ก็ต้องมีกฎกติกาให้ชัดเจน พวกเขาจึงตั้งกฎว่าเป็นการให้คำปรึกษาผ่านแชทเท่านั้น โดยนัดหมายเวลากับแอดมินอาสาสมัคร

“คนส่วนใหญ่คิดว่าควรให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ แต่พอพิมพ์แชทกัน คนถามและคนตอบต้องใช้เวลา จึงได้คิด ตั้งสติ วิเคราะห์ กลายเป็นว่าดีกว่าใช้โทรศัพท์ อันนี้เป็นความบังเอิญ

เราเคยถามคนใช้บริการ ก็ได้คำตอบว่า เวลาจะเขียนก็ต้องคิดก่อน คนให้คำปรึกษาทุกคนเป็น d-chat นิรนาม ไม่ต้องรู้จักชื่อตัวตนกัน” ช่อผกา เล่า ทั้งๆ ที่ช่วงแรกไม่แน่ใจว่า การแชทไลน์ให้คำปรึกษาจะให้บริการได้ดีระดับหนึ่ง

เมื่ออาสาสมัครรับฟังความทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ ช่อผกา บอกว่า การพิมพ์แชท ทำให้กระบวนการพร่ำพรรณนา อยากระบายความทุกข์ ถูกสติของคนๆ นั้นทำให้ช้าลง และเห็นคำตอบได้เร็วขึ้น

 “แรกๆ ก็คิดว่าให้คำปรึกษาแบบนี้ไม่โอเค แต่พอมีคนใช้บริการ หน้าที่ของเราคือรับฟัง ฟังแบบไม่ตัดสิน ฟังด้วยหัวใจ อยู่ที่คุณภาพของคนรับฟัง การฟังของเราจะช่วยให้เขามีสติมากขึ้น หากคนให้คำปรึกษามีความพร้อม มีฝีมือในการให้คำปรึกษา ก็จะไกด์ให้เขาผ่านไปอีกขั้น จนกระทั่งหาคำตอบได้

20 นาทีแรกของการแชท คนส่วนใหญ่จะพร่ำพรรณนา ถ้าเรามีสติในการคำปรึกษาหรือฟังดีๆ คนมาปรึกษาจะเริ่มฉุกคิด 10 นาทีหลัง จนได้คำตอบเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

แต่ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้หมด และพบว่าการแชทอาจมีอุปสรรคไม่ได้ดั่งใจ แต่การไม่ได้ดั่งใจ ทำให้คนมีสติ เป็นเครื่องมือที่ทำให้ได้คำตอบที่ดีขึ้น เป็นคำยืนยันจากอาจารย์ที่ปรึกษา”

คำตอบอยู่ที่ตัวเอง

แม้แชทไลน์ @d-chat จะไม่ได้โด่งดัง หรือมีผู้ใช้บริการอย่างถล่มทลาย รวมถึงอาสาสมัครไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ แต่พวกเธอก็ยังเดินหน้าให้คำปรึกษาทุกวัน ผ่านไปสามปีมีผู้ใช้บริการกว่าสี่พันคน และพบว่า ความทุกข์อันดับหนึ่งของผู้หญิงคือ ปัญหาแฟนนอกใจ ส่วนอันดับสองคือ ซึมเศร้า ซึ่งอาสาสมัครทำได้แค่ประคองกันไป และที่น่าเห็นใจคือ ซึมเศร้า แต่ไม่รู้ว่าซึมเศร้า 

จึงต้องฟังโดยไม่ตัดสิน เพื่อให้เขามีสติ นี่คือกระบวนการที่'ช่อผกาและอาสาสมัครถูกฝึกมา ส่วนการคลายปมความทุกข์ ช่อผกายกตัวอย่างเคสมีเซ็กส์กับคนข้างบ้านที่มีเมียแล้ว เธอรู้สึกผิดที่เลิกไม่ได้

“ต้องอธิบายก่อนว่า ความอยากมีเพศสัมพันธ์ต้องถูกกระตุ้น เราก็ชวนคนที่มาปรึกษาค้นหากันว่า การกระตุ้นอารมณ์มาจากไหน จนพบว่าคู่นอนของเธอ ชอบชวนเข้าไปในกลุ่มแชทหนังเอ็กซ์ ซึ่งมีคลิปโป๊ให้ดูทั้งวัน เมื่อรู้สาเหตุแล้ว ลองให้เธอตั้งเป้าว่า ตลอดสัปดาห์ที่แชทกับเรา จะไม่นอนกับผู้ชายคนนี้ได้ไหม

เคสนี้เธอทุกข์มาก ไม่สามารถปรึกษาเพื่อน เพราะเธอมีสถานะภาพทางสังคมดีมาก แต่เธอรู้สึกว่า ทำสิ่งที่น่าละอายมาก หยุดตัวเองไม่ได้ ซึ่งการคุยกันครั้งที่สาม เธอบอกว่าต้องต่อสู้กับตัวเองให้ได้”

ส่วนเคส ผู้หญิงหาเลี้ยงสามี สามีมีเมียน้อยและตบตีภรรยาเมื่อเงินไม่พอ เธอมาขอคำปรึกษา โดยมีโจทย์ว่า ไม่อยากเลิกกับสามี

ช่อผกา เล่าว่า แรกๆ ก็ปล่อยให้เธอระบายความรู้สึกก่อน แล้วตั้งคำถามให้คิดว่า ข้อดีและข้อเสียของการมีสามีคนนี้คืออะไร ก็ได้คำตอบว่าไม่มีอะไรดี มีดีข้อเดียวคือยังมีเขาอยู่ แต่เธอบอกว่า แม้จะมีข้อดีข้อเดียว เธอไม่พร้อมที่จะอยู่โดยไม่มีเขา นี่คือการบ้านที่ยากที่สุดของผู้หญิง

“ถ้าเป็นจริตของเราที่สามารถอยู่คนเดียวได้ โดยไม่ต้องมีผู้ชาย เราก็ค่อยๆ แนะนำ ส่วนอีกเคสซึมเศร้า อยากตายทุกครั้งแสงอาทิตย์จะตกดิน วิ่งหนีแสงทุกวัน เขาแชทกับเรา เพราะอยากให้เราวิ่งเป็นเพื่อนกับเขา ”

 

ป่วยทางจิตจะช่วยอย่างไร

“พวกเราเหมือนกระโถน เรารับพิษที่เขาสำรอกออกมา “ ช่อผกา เล่าถึงงานอาสาคลายทุกข์ เพื่อที่จะบอกว่า ฟังความทุกข์แล้วต้องทิ้งให้เป็น

“มีน้องอาสาคนหนึ่งเจอเคสอยากฆ่าตัวตาย ก็พลุ่งพล่านอยากช่วยเขา เราจึงต้องมีกรุ๊ปไลน์และอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้สติซึ่งกันและกัน เพราะบางทีคนให้คำปรึกษาก็มีปัญหาเหมือนกัน สิ่งที่เราได้เห็นคือ คนที่มีความทุกข์จะติดอยู่ในวังวน จะหลุดออกจากวังวนได้ต้องยอมรับความจริงและความล้มเหลว

ถ้าพูดภาษาพระคือ ยอมถอยอัตตา เราต้องให้สติเพื่อให้เขาเข้มแข็ง ทลายความเชื่อของเขาให้ได้ ตอนนี้เราคุยกับกรมสุขภาพจิตให้มาฝึกอบรมพวกเราเพิ่ม เพื่อตั้งรับบางเรื่อง โดยเฉพาะกรณีคนอยากฆ่าตัวตาย เราต้องพัฒนาศักยภาพคนให้คำปรึกษา”

ทุกวันนี้ปัญหาสุขภาพจิตเสมือนระเบิดเวลา มีคนมากมายแก้ปัญหาในชีวิตไม่ได้ จนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ แม้กระทั่งหน่วยงานมากมายของกรมสุขภาพจิตก็ให้คำปรึกษาไม่เพียงพอกับความต้องการ

ช่อผกา สะท้อนว่า ตามสถิติคนที่เดินผ่านเรา 10 คนจะมีปัญหาสุขภาพจิต 1 คน มีทั้งอาการซึมเศร้า โรคจิตเวช หรือความเครียดขั้นสูงสุด

160828387185

(ช่อผการ่วมกับเพื่อนๆ ที่เคยเรียนสาวิกาสิกขาลัย ร่วมกันคิดเรื่องแชทไลน์คลายทุกข์)

"เคสของกรมสุขภาพจิตเยอะมาก ไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึง  ปีหนึ่งมีเป็นหลักแสน ปัญหาสุขภาพจิตเป็นรากที่คนๆ นั้นสะสมไว้ สาเหตุสำคัญคือความไม่แข็งแรงของจิตวิญญาณในวัยเด็ก จึงไม่สามารถพัฒนาภูมิต้านทานในการตั้งรับกับวิกฤติและความทุกข์ได้

เราเป็นแค่ปลายทางให้เขาคลายพิษทางใจเบื้องต้น ช่วยได้สำหรับคนที่เครียดไม่เยอะ ถ้าคนอาการหนักก็ถอดพิษได้ระดับหนึ่ง ถ้าป่วยเป็นโรคต้องเข้ากระบวนการรักษาอย่างลึกซึ้ง"

สิ่งที่เธอเล่า ทำให้เห็นภาพว่า แม้จะมี @d-chat อีกร้อยแห่ง ก็ไม่เพียงพอสำหรับการให้คำปรึกษา เธอ จึงแนะว่าคนต้องหันมาฝึกจิต จนกระทั่งฟื้นคืนชีวิตด้วยตัวเขาเอง นั่นคือคำตอบของทุกอย่าง 

"เราไม่ได้ทุกข์คนเดียวในโลก ยังมีคนอื่นที่ทุกข์อีก ตอนที่พ่อเราป่วยอยู่ไอซียู แม้เราจะทุกข์มาก แต่เรารับเคสไว้ก็ไม่อยากยกเลิก ต้องตั้งสมาธิ เอาเรื่องพ่อออกจากใจก่อน เพราะเรารู้ว่าถ้าจิตไม่ว่าง เราจะให้คำปรึกษาได้แย่

เพราะวันนั้นมี 3 เคสต้องให้คำปรึกษา เราต้องมีสมาธิอยู่กับเขาตรงนั้นจริงๆ พอผ่านไปได้ เรารู้เลยว่า ถ้าเราหยุดคร่ำครวญ แล้วโฟกัสกับเรื่องบวกๆ ความทุกข์มันเบาลง แม้จะเป็นเรื่องยากที่สุด แต่การลุกขึ้นมาช่วยคนอื่น มันเป็นการเยียวยาตัวเอง"