สธ.ปลดล็อก 'กัญชง'ปีนี้-อภ.ร่วม3จ.ปลูก'กัญชา'

สธ.ปลดล็อก 'กัญชง'ปีนี้-อภ.ร่วม3จ.ปลูก'กัญชา'

สธ.ออกกฎกระทรวงปลดล็อก"กัญชง" อนุญาตประชาชนปลูก-ใช้ประโยชน์ไดัทุกส่วน ต่อยอดเป็นยา เครื่องสำอาง อาหาร ทันปี63 แน่นอน ขณะที่อภ.ร่วมวิสาหกิจชุมชนนำร่องปลูกกัญชา 3 จังหวัด

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม2563 ที่องค์การเภสัชกรรม อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ระหว่างการลงพื้นที่เป็นประธานเปิด "โครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือนหรือกรีนเฮ้าส์"ที่องค์การเภสัชกรรม อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรีว่า อีกไม่กี่สัปดาห์ สธ.จะออกกฎกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากกัญชง เนื่องจากกัญชงไม่ได้ถูกจัดเป็นยาเสพติด จึงสามารถดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงในการใช้ประโยชน์ จึงปลดล็อกได้เร็วกว่า เน้นการปลูกนำสารสกัดมาใช้ประโยชน์ โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชน วิสาหกิจชุมชนดำเนินการในลักษะของคอนแท็กฟาร์มมิ่ง ที่จะสามารถปลูก อยู่ภายใต้การควบคุมตามระเบียบของสธ.


"กัญชาหรือกัญชงไม่มีความแตกต่างแล้วในตอนนี้ เพราะสิ่งที่เป็นประโยชน์คือการเอาสารสกัดสำคัญทั้ง CBD และ THC ซึ่งจะมากน้อยแค่ไหน ผู้ผลิตก็สามารถมีวิธีผสมผสานการใช้ประโยชน์จากสารสำคัญ ซึ่งหลังจากมอบนโยบายเรื่องนี้ไป 1 ปีกว่า ถือว่ามีความก้าวหน้ามาก พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ ที่จะปลดล็อกกัญชามากขึ้น ผ่านครม.แล้ว แปลว่าได้รับความเห็นชอบจากพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภา จึงมั่นใจว่ากฎหมายนี้จะผ่านการพิจารณาในสภา ระหว่างนี้ถ้ามีใครแอบอ้างขายกัญชา แค่ชื่อก็ไม่ได้แล้ว เพราะผิดกฎหมาย อย่าเชื่อคำแอบอ้าง" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ส่วนกัญชานั้น รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับนโยบายนี้ ล่าสุดพ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ ที่จะปลอดล็อกในหลายๆเรื่อง ผ่านคณะรัฐมนตรี(ครม.)อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและส่งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป หากพ.ร.บ.ผ่านสภา ก็ไม่ต้องถามหาการปลูก กัญชา 6 ต้นอีก เพราะจะปลูกกี่ต้นก็ได้หากมีการขออนุญาตปลูกอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์เป็นไปตามกฎหมายโดยผู้รับผิดชอบหลัก โดยผู้รับผิดชอบหลัก คือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ขณะนี้กฎกระทรวงฯเรื่องกัญชง จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีการอบสุดท้ายไม่เกินเดือน ต.ค.นี้ หากส่งกลับมายัง อย.ก็จะเสนอรองนายกฯ ลงนามทันที คาดว่าจะสามารถใช้ได้ภายในปี 2563 แน่นอน โดยกฎกระทรวงฉบับนี้จะให้ประโยชน์กับทั้งเกษตรกรและประชาชนในเชิงการใช้สารสกัดที่กัญชงจะมีCBD สูงTHC ต่ำ สามารถนำมาผลิตเป็นยา เครื่องสำอาง นอกจากนี้ เส้นใยยังสามารถนำมาผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงเมล็ดกัญชงจะมีน้ำมันจากเมล็ดสามารถนำไปผลิตเป็นยา อาหาร และเคนื่องสำอางได้เช่นกัน แต่การดำเนินการทั้งหมดต้องผ่านการอนุญาตตามกฎระเบียบ"นพ.ไพศาลกล่าว

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(ผอ.อภ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการนำร่องกับวิสาหกิจชุมชนใน 3 จังหวัดคือ บุรีรัมย์ ลำปาง และนครราชสีมา โดยเบื้องต้นเป็นการมอบสายพันธุ์กัญชาจากองค์การเภสัชกรรมให้ไปปลูกเพื่อให้ได้ช่อดอกที่มีคุณภาพตามมาตรฐานอภ. นำมาผลิตสารสกัดกัญชาที่มีคุณภาพต่อไป และแผนการดำเนินงานปี 2564 จะมีการพัฒนาสารสกัดในรูปแบบฟิล์ม แชมพู ซึ่งอยู่ในขั้นกาคทดลอง โดยในเดือนม.ค. 2564 จะผลิตสารสำคัญให้ละลายในน้ำ รวมถึงมีการทำแผ่นมาร์กหน้านอนด้วย