‘Pocket Park’ สวนจิ๋วแห่งใหม่ใจกลางชุมชน ‘คลองเตย’

‘Pocket Park’ สวนจิ๋วแห่งใหม่ใจกลางชุมชน ‘คลองเตย’

เปลี่ยนพื้นที่รกร้างไร้ประโยชน์ เป็นพื้นที่สีเขียวแห่งการเรียนรู้ "Pocket Park" สร้างสุขภาวะที่ดีให้ชาว "คลองเตย"

หากสุขุมวิทคือย่านของคนรวย ชุมชนแถวถนนพระราม 4 ที่มักขึ้นต้นด้วยคำว่า สลัมและขยายความด้วยคำว่า แออัดอย่าง ชุมชนคลองเตย คงสะท้อนภาพ 'คนจนเมือง' ได้ชัดเจนทีเดียว เพราะบนพื้นที่ราว 4,000 ไร่ของคลองเตย มีผู้คนอาศัยอยู่กว่า 60,000 คน ชุมชนแห่งนี้จึงขึ้นชื่อเรื่องความแออัดเป็นอันดับต้นๆ ในกรุงเทพ

คงไม่ต้องพูดถึงพื้นที่สีเขียวในชุมชนที่ควรจะมี เพราะพื้นที่เหล่านั้นเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง และพื้นที่รกร้างไร้ประโยชน์ที่มักกลายแหล่งมั่วสุม เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม ไม่มีพื้นที่ใดเลยที่จะเป็นปอดและเติมเต็มความอบอุ่นของชุมชนแห่งนี้

แต่แล้วการ ‘เปลี่ยน-แปลงก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้งภายใต้โครงการ สภาวิศวกรปันสุขให้ชุมชนโดยตั้งต้นชุมชนคลองเตยล็อค 1-2-3 เป็นต้นแบบในการคิกออฟ ‘Pocket Park’ แหล่งเรียนรู้และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งแรกของชุมชน

  • คลองเตยโมเดล

จากโครงการดังกล่าวที่เกิดขึ้นช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยความร่วมมือของสภาวิศวกร วิศวกรอาสา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) และเขตคลองเตย ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เพิ่มแสงสว่างยามค่ำคืนให้ทั่วถึง และมีระบบระบายน้ำที่ดี เพื่อประโยชน์ของคนในชุมชน นำไปสู่การเปลี่ยนพื้นที่รกร้างแปลงเล็กๆ เป็นพื้นที่สีเขียวที่สร้างการเรียนรู้ในชุมชน

ศาสตราจารย์.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร เล่าว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการปรับภูมิทัศน์ชุมชนให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น โดยเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ จัดการปรับสนามฟุตบอลและระบบบำบัดแหล่งน้ำ เปลี่ยนอาคารเป็นหอสังเกตการณ์ชุมชนโดยรอบ พร้อมออกแบบให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น เพื่อให้ทุกคนในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งเป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะแก่ชุมชนอื่นต่อไป

159780007684

พื้นที่รกร้างในชุมชนคลองเตยที่กำลังจะกลายเป็น Pocket Park

เราอยากเห็นกรุงเทพฯ เห็นชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงทำสวนสาธารณะขนาดย่อมที่เรียกว่า Pocket Park เหมือนกรุงโตเกียวที่มีสวนสาธารณะเช่นนี้เป็นพันแห่ง เพราะใช้เงินลงทุนไม่เยอะและคุ้มค่า ดูแลรักษาง่าย และคนเข้าถึงง่ายกว่าสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งในกรุงเทพเองมีสวนสาธารณะไม่กี่แห่งและเข้าถึงยาก ชุมชนคลองเตยจึงเป็นตัวอย่างในการแปลงพื้นที่รกร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งถ้าชุมชนไหนสนใจสามารถติดต่อมาที่สภาวิศวกรได้เลย

นอกจากนี้ยังมีการลงพื้นที่สำรวจความปลอดภัย ปรับปรุงระบบไฟฟ้าในบ้านกลุ่มเสี่ยง และมอบของช่วยเหลือครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีสาเหตุจากขยะที่ทับถมกันเป็นเวลานานและบริเวณนั้นยังมีสายไฟพันกันมากมายที่ไม่ได้จัดการอย่างถูกต้อง ทำให้เกิิดเหตุไฟไหม้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงเกิดเป็นไอเดียในการปรับปรุงระบบไฟฟ้าในชุมชนและดูแลเรื่องระบบความปลอดภัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และหากใครมีข้อสงสัยในการซ่อมแซมบ้าน หรือตรวจสอบความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ก็สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาจากสภาวิศวกรได้ที่โทร 1303

159780057453

วิศวกรอาสา ลงพื้นที่ปรับปรุงระบบไฟฟ้าในชุมชนคลองเตย 

ในส่วนของคอนเซปต์และการดำเนินการ ‘เปลี่ยน-แปลงของโครงการออกแบบศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและ Pocket Park รองศาสตราจารย์ ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หรืออาจารย์โจ้ อธิบายว่า เริ่มต้นพร้อมๆ กับโครงการปันสุขที่ได้ลงพื้นที่ชุมชนแจกของช่วงโควิด-19 ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนั้นเบื้องต้นสำรวจพบพื้นที่ที่ควรได้รับการปรับปรุงทั้งหมด 4 จุดด้วยกัน จุดแรกคือพื้นที่รกร้าง จุดสองคือสถานีดับเพลิง จุดสามคือสนามเด็กเล่น และจุดสี่คือสนามฟุตบอล ซึ่ง Pocket Park จะสร้างขึ้นบนพื้นที่รกร้างในจุดแรกนั่นเอง

โดยคอนเซปต์ในการเปลี่ยน-แปลงนั้น นอกจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชนแล้ว การเป็นเพียงสวนสาธารณะอย่างเดียว อาจจะไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์มากนัก อาจารย์โจ้จึงปิ๊งไอเดียซึ่งตรงกับความต้องการของคนในชุมชนที่อยากได้พื้นที่ให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรม หรือเล่าเรื่องราวของชุมชน กลายเป็นศูนย์เรียนรู้และ Pocket Park ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ที่ชุมชนคลองเตย ล็อค 1-2-3

159780065424

แผนที่พื้นที่ชุมชนคลองเตยทั้ง 4 จุดที่กำลังจะได้รับการปรับปรุง

สำหรับการออกแบบนั้นอาจารย์โจ้บอกว่าก็ไม่ง่าย ด้วยพื้นที่จำกัดเพียง 6x12 เมตร รายล้อมด้วยบ้านเรือน การออกแบบจึงต้องคำนึงถึงทิศทางลมเป็นอย่างแรก โดยเน้นให้โปร่ง เพื่อเปิดพื้นที่ให้ดูกว้างขึ้น จัดวางต้นไม้ใหญ่ไว้ตรงกลางเป็นร่มเงา นั่นคือ ต้นหูกระจง และเซ็ตพื้นที่ประมาณ 60 เซนติเมตรสำหรับปลูกต้นโมกกับต้นเตยไว้รอบๆ อาคาร ซึ่ง 'ต้นเตย' ก็เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้ด้วย และยังมีต้นตะไคร้ช่วยไล่ยุงได้อีก ส่วนกำแพงนั้นนอกจากบังลมแล้ว ยังสามารถเป็นบอร์ดติดภาพถ่ายหรือเรื่องราวต่างๆ ได้อีกด้วย

เราออกแบบให้เป็นอาคารแบบโปร่ง เพื่อการใช้งานง่าย ซึ่งถ้าเป็นอาคารปิดอาจกลายเป็นพื้นที่ทิ้งขยะเช่นเดิม และเพิ่มจุดเสี่ยงในการเกิดอันตรายด้วย Pocket Park ในชุมชนนี้จึงจัดเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่ให้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย คาดว่าหลังจากนี้ราว 1-2 เดือน จะได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างและพร้อมใช้งาน โดยทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ร่วมกัน เป็นเจ้าของพื้นที่นี้ร่วมกัน

  • พื้นที่สีเขียวของคนเมือง

สัญชัย ยำสัน ประธานและคณะกรรมการชุมชนคลองเตยล็อค 1-2-3 เล่าว่า ชุมชนคลองเตยเป็นพื้นที่แออัด มีประชากรหนาแน่นอาศัยอยู่ในพื้นที่ 41 ไร่ ของชุมชนคลองเตยล็อค 1-2-3 ถึง 8,000 คน จาก 40 กว่าชุมชนและประชากรเกือบแสนคน ดังนั้นการจะมีพื้นที่สร้างสรรค์เข้าไปแทรกอยู่ระหว่างชุมชนจึงเป็นไปได้ยาก และเต็มไปด้วยพื้นที่รกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่ง Pocket Park ที่กำลังจะเกิดขึ้นทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลง มีสวนสาธารณะขนาดย่อมๆ มีศูนย์เรียนรู้สำหรับทำกิจกรรมสร้างสรรค์มากมาย และยังช่วยกำจัดแหล่งมั่วสุมลงไปได้บ้าง

ทว่า สวนสาธารณะที่ใกล้ที่สุดในเขตคลองเตยแม้จะมี 3 แห่งใหญ่ๆ คือ สวนเบญจกิติ สวนชูวิทย์ และอุทยานเบญจสิริ แต่ก็ค่อนข้างไกลจากชุมชนคลองเตยแห่งนี้ และยากที่จะไปใช้ประโยชน์ โดยสัญชัยบอกว่า สวนพวกนั้นจะอยู่ใกล้สุขุมวิทซึ่งใกล้กับคนชั้นกลางมากกว่า เพราะฉะนั้นโอกาสที่คนจนจะมีส่วนร่วมในการใช้ก็ยาก แต่ความจริงแล้วในชุมชนเองก็จะมีสนามกีฬาที่ชื่อว่า ศูนย์เยาวชนคลองเตยที่อยู่ห่างออกไปราว 1 กิโลเมตร และมีเพียงที่เดียว ถ้ามีสถานที่แบบนี้ในชุมชนเลยจะทำให้ชุมชนมีทางเลือกมากขึ้น

159780093332

โมเดล Pocket Park 

ทั้งนี้การเข้ามาในชุมชนของ Pocket Park จะเป็นการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ได้ยั่งยืนหรือไม่ สัญชัยมองว่า ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการที่ดีของชุมชน เพราะความยั่งยืนนั้นขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และภาครัฐหรือภาคเอกชนที่ต้องคอยสนับสนุนด้วยเช่นกัน

เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว ในอนาคตคิดว่ามันน่าจะเกิดประโยชน์มากๆ เพราะจริงๆ แล้ว พื้นที่สร้างสรรค์แบบนี้มันไม่ค่อยมี แล้วในชุมชนก็หายากมาก อาจช่วยให้ปัญหาเด็กและเยาวชนที่เป็นอยู่ลดลง และส่วนหนึ่งก็ได้เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกทางทักษะต่างๆ เป็นการพัฒนาคนไปในตัว ซึ่งปัจจุบันเด็กคลองเตยมีการศึกษาที่ดีขึ้นแล้ว มีอาชีพที่มั่นคงในการดูแลครอบครัว เด็กหลายคนกำลังจะจบหมอ จบปริญญาเอก ปริญญาโท เป็นอาจารย์มากมาย และสิ่งที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในอนาคตข้างหน้าคือ เด็กจากชุมชนคลองเตยจะไม่เป็นภาระสังคมอีกต่อไป อันนี้คือสิ่งที่อยากจะบอกเล่าสู่สังคมภายนอก คลองเตยเราก็มีสิ่งที่งดงามเช่นเดียวกันสัญชัย กล่าว

  • เมืองแห่งอนาคต

ในการเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ ลานออกกำลังกาย ห้องสมุดและอีกมากมาย เหล่านี้ก็คือการพัฒนาเมืองที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสังคมได้ แต่จะดีกว่าถ้าพื้นที่เหล่านั้นมีอย่างทั่วถึงและถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนในชุมชนนั้นๆ อย่างแท้จริง

ทว่า Pocket Park จะเกิดในพื้นที่นั้นๆ ได้ ต้องมาจากการสำรวจพื้นที่และความต้องการของคนใช้งานเสียก่อน ใช่ว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงก็จัดแจงออกแบบมาเสร็จสรรพ และนำไปตั้งไว้ในชุมชนโดยที่คนใช้งานเองอาจไม่ได้ต้องการ

การออกแบบไม่ใช่การ Copy แล้ววาง แต่ต้องไปสำรวจชุมชนก่อน อย่างชุมชนนี้มีครบทุกอย่างแล้ว แต่คนแก่เยอะ เราอาจเน้นเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่สาธารณสุข เป็นจุดตู้ยาสามัญประจำบ้านก็ได้เช่นกัน ซึ่งชุมชนนี้เขาต้องการศูนย์เรียนรู้ ต้องการพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรม และเกิดการเรียนรู้ร่วมกันอาจารย์โจ้อธิบายถึงการออกแบบที่เข้าใจชุมชน

159780119497

การจะเปลี่ยนเมืองของคนยุคเก่าสู่เมืองของคนยุคใหม่ จึงต้องให้เวลาทำความเข้าใจกันอย่างถี่ถ้วนในการออกแบบเมืองที่นำไปสู่การพัฒนาเมือง อย่างชุมชนคลองเตยเป็นชุมชนเก่า 70 กว่าปีแล้ว และสลัมคลองเตยอันดับต้นๆ ของประเทศ ที่อาจารย์โจ้เอ่ยปากว่าการจะเข้ามาพัฒนาไม่หมูเลยสักนิด ทุกฝ่ายจะมีความระแวงระวังกัน ว่าการเข้ามาต้องการผลประโยชน์อะไร ต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมมหาศาล และใช้เวลาพอสมควร

การพัฒนาเมืองคือการผนวกความเป็นเมืองเข้ากับธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี เมืองอาจเต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้า แต่นั่นต้องมีที่พัก มีพื้นที่สวนสาธารณะด้วย เราสามารถแบ่งสันปันส่วนพื้นที่ทำอะไรได้หลายอย่าง เป็นพื้นที่ที่พัฒนาไปพร้อมๆ กับกิจกรรมใหม่ๆ

Pocket Park จึงเป็นตัวชี้วัดการพัฒนาเมือง ที่อาจารย์โจ้มองว่า แนวคิดของ Pocket Park ทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของคนทุกเพศวัย ในการมาร่วมกันทำอะไรสักอย่าง ทำให้เรารู้จักการดูแลพื้นที่สาธารณะใกล้ๆ ตัว และ Pocket Park เช่นนี้ถ้าภาครัฐเข้าใจและยื่นมือเข้ามาทำจะเกิดประโยชน์มากต่อชุมชน ประเด็นสำคัญคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวไม่ได้นับที่จำนวนต้นไม้ แต่เป็นการใช้สอยจากพื้นที่นั้นมากกว่า

“เมืองไม่ใช่ของเรา เมืองเป็นของทุกคน ซึ่งโมเดลที่เราออกแบบมาเป็นเพียงไกด์ไลน์ เป็นเหมือนตุ๊กตาที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม ตามสภาพพื้นที่ และไม่ลืมที่จะคำนึงถึงการใช้งานจริง” อาจารย์โจ้ ทิ้งท้าย

159780123777