5 มาตรการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน

 5 มาตรการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน

สช.หนุนมาตรการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนเต็มที่ ทั้งสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง-งดดอกเบี้ยกองทุนฯ-ลงทะเบียนรับเงินทดแทนเยียวยาต่าง ๆ หวังฝ่าวิกฤตโควิดไปด้วยกัน

นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดเผยถึงการให้ความช่วยเหลือการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ ตามข้อเสนอของสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เพื่อให้การช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 4,143 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรโลน่า 2019 (COVID-19)

ทำให้โรงเรียนไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ตามปกติ ต้องสูญเสียรายได้ แต่ในขณะเดียวกันยังคงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย และเงินเดือนครู บุคลากรทางการศึกษาต่าง ๆ เช่นเดิม และบางแห่งก็ถึงขั้นปิดกิจการ ทำให้มีผู้ตกงาน ด้วยนั้น

เลขาธิการ กช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ภายใต้การนำของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกำกับดูแลการจัดการศึกษาเอกชน ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามหาแนวทางช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของโรงเรียนและสถานศึกษาเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยได้หารือร่วมกันเพื่อออกมาตรการให้การช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนในหลายส่วน ดังนี้

- กองทุนสงเคราะห์ออกมาตรการสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ
ในเรื่องนี้เกิดจากแนวคิดของ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ. ได้มอบให้ สช.หารือร่วมกับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของโรงเรียนและสถานศึกษาเอกชน ให้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปได้

โดยกองทุนได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) เพื่อเสริมสภาพคล่องใน 2 ส่วน คือ การงดคิดดอกเบี้ยและค่าปรับสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (กองทุนเลี้ยงชีพ) ลูกหนี้เดิม (โครงการ 1-4) เป็นระยะเวลา 6 เดือน (วันที่ 1 พฤษภาคม - 30 ตุลาคม 2563) และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการ จาก 4.5% ต่อปี เหลือ 4% ต่อปี (ยกเว้นโครงการที่ดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว) โครงการที่ 3-4 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป โดยให้มีผลอัตโนมัติโดยที่สมาชิกไม่ต้องยื่นคำร้องใด ๆ

พร้อมจัดตั้งสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) โครงการ 5 เพื่อขยายสิทธิ์ให้กับสมาชิกที่มีอายุงาน 5 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้มีสิทธิ์กู้สินเชื่อ ร้อยละ 90 ของเงินสะสม (3%) และส่งเงินสะสม 60 งวดขึ้นไปต่อเนื่อง ส่วนสมาชิกที่มีอายุงาน 10 ปีขึ้นไป กู้ได้ร้อยละ 90 ของเงินสะสมและเงินสมทบ (12%) โดยส่งเงินสะสมและเงินสมทบ 120 งวดขึ้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

“มาตรการจัดตั้งสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) โครงการ 5 เป็นแนวคิดของ รมช.ศธ. ที่ต้องการจะขยายสิทธิ์ให้กับสมาชิกที่มีอายุงาน 5 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้มีสิทธิ์กู้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการของตนเอง เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของครูและบุคลากรใหม่ ๆ ในขณะเดียวกัน ครูที่เป็นสมาชิกมานานแล้ว ก็จะได้แบ่งเบาภาระในการชำระค่างวดที่น้อยลง” เลขาธิการ กช. กล่าว

- ช่วยบุคลากร รร.เอกชน ให้ได้รับเงินทดแทนของประกันสังคม-เงินเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน”
จากการบูรณาการทำงานอย่างต่อเนื่องของ สช. ร่วมกับ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ตลอดจนผู้แทนสมาคมโรงเรียนเอกชน เพื่อให้บุคลากรโรงเรียนเอกชน ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม จำนวนประมาณ 100,000 คน ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่มีการสั่งปิดโรงเรียน และโรงเรียนงดจ่ายเงินเดือนค่าจ้าง อันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สามารถยื่นขอรับเงินทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563

ล่าสุด ได้รับรายงานจาก ดร.ศุภเสฎฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานงานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ปส.กช.) ว่า จากการที่ สช.ร่วมประชุมชี้แจงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจของโรงเรียนเอกชน เกี่ยวกับขั้นตอนและเงื่อนไข เอกสารต่าง ๆ โดยเฉพาะหนังสือรับรองให้แก่ลูกจ้างกรณีที่ไม่ได้จ่ายเงินค่าจ้าง

เพื่อใช้สำหรับยื่นรับเงินทดแทนจากกองทุนประกันสังคม 62% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 90 วัน (3 เดือน) ขณะนี้มีข่าวดีสำหรับบุคลากรโรงเรียนเอกชน ที่สามารถยื่นเรื่องได้ทันตามกำหนดเวลา และได้รับเงินทดแทนจากกองทุนประกันสังคมแล้ว ประมาณ 50,000 คน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบุคลากรโรงเรียนเอกชน ถือเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่จะได้รับเงินทดแทนกรณีนี้ ทั้งนี้ เชื่อว่าการประชุมชี้แจงเพื่อซักซ้อมความเข้าใจร่วมกันของทั้งฝ่ายสำนักงานประกันสังคม และโรงเรียนเอกชน เป็นกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และช่วยให้การขอรับสิทธิประโยชน์ของบุคลากรเอกชนครั้งนี้ เป็นไปด้วยความรวดเร็วและราบรื่น

นอกจากนี้ สช.ยังได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรโรงเรียนเอกชน ในการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือน ตามมาตรการของรัฐบาล สำหรับดูแลและเยียวยาแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ทางเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบโรคติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งขณะนี้มีผู้ที่ได้รับสิทธิ์ตามหลักเกณฑ์และได้รับเงินเยียวยา ถึงร้อยละ 60 ของจำนวนบุคลากรที่ลงทะเบียนทั้งหมด

ในส่วนของเงินอุดหนุนรายหัวต่าง ๆ สช.ได้เร่งโอนงบประมาณไปยังโรงเรียนให้รวดเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการตามบริบทของแต่ละแห่ง ซึ่งเชื่อว่าผู้อำนวยการและผู้รับใบอนุญาตสามารถใช้อำนาจในการบริหารงานของโรงเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ได้อย่างเต็มที่ ทั้งการบริหารจัดการ งบประมาณ บุคลากร แผนการเรียนการสอน เป็นต้น