กัลฟ์ มอบเครื่องช่วยหายใจ-เครื่อง ECMO แก่คณะแพทย์ฯ รามาธิบดี เพื่อผู้ป่วยโควิด

กัลฟ์ มอบเครื่องช่วยหายใจ-เครื่อง ECMO  แก่คณะแพทย์ฯ รามาธิบดี เพื่อผู้ป่วยโควิด

มีการคาดการณ์ว่าหากประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโควิด-19 ถึง 33% ต่อวัน จะทำให้จำนวนผู้ป่วยในประเทศทะลุ 3 แสนรายภายใน 1 เดือน โดยมีผู้ป่วยวิกฤตราว 17,597 ราย จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น หมายถึงเราต้องใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ที่จำเป็นเพิ่มขึ้น

ล่าสุด บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF มอบเงินสนับสนุนจำนวน 20 ล้านบาทแก่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจจำนวน 5 เครื่อง และเครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอดและหัวใจ (ECMO) ซึ่งมีศักยภาพในการทำงานทดแทนปอดและหัวใจ ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ปอดหรือหัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือเกิดความผิดปกติขึ้น จำนวน 3 เครื่อง นับเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่สำคัญและขาดแคลนท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (COVID-19)

158505208423

สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมากัลฟ์ได้มีการมุ่งดำเนินโครงการด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง สำหรับในโอกาสนี้บริษัทฯ ตระหนักถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เราจึงขอมอบเงินสนับสนุนจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อให้ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ รองรับและเพิ่มอัตราการรอดชีวิตผู้ป่วย COVID-19 รวมถึงยังสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคปอดและหัวใจต่อไป

158505206767

“จากตัวเลขของคนป่วยที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก การป้องกันและเตรียมตัวไว้เป็นสิ่งที่ดีกว่า เพราะโรคโควิด-19 เราก็ไม่รู้ว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างไร รุนแรงแค่ไหน และประเทศไทยจะอยู่ในระดับที่เท่าไหร่ เราเชื่อว่าทางสังคมทุกคนมีความพยายามในการระมัดระวังตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และพยายามไม่อยู่ในพื้นที่แออัดอยู่แล้ว แต่ในส่วนนี้เป็นการเตรียมความพร้อมขั้นสุดท้าย คือ ขั้นรักษาพยาบาล แต่หากเราสามารถป้องกันได้ จะทำให้ไม่เกิดการระบาดไปมากกว่านี้” สารัชถ์ กล่าว

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในขณะนี้ ทำให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องเร่งเตรียมการในการรักษาผู้ป่วยขั้นรุนแรง ซึ่งอาจจะมีจำนวนมากขึ้นในอนาคต เครื่อง ECMO และเครื่องช่วยหายใจ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ต้องใช้ในสถานการณ์เช่นนี้

สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งจะมี 15% ที่มีอาการรุนแรง และมี 5% ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทั้งนี้ เมื่อการติดเชื้อมีความรุนแรงจนถึงปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ จำเป็นต้องใช้เครื่องพยุงปอดและหัวใจ หรือ ECMO ซึ่งมีประโยชน์สำคัญในการซื้อเวลา หลังจากเชื้อหมดไป หากปอดมีอาการดีขึ้น ผู้ป่วยก็จะมีโอกาสเป็นปกติได้ แต่คนส่วนใหญ่ที่มาถึงขั้นการใช้เครื่อง ECMO จะมีเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตสูง แต่ก็เป็นเครื่องมือที่จะช่วยชีวิตและให้ผู้ป่วยหนักรอด

158505208472

“เช่นเดียวกันกับเครื่องช่วยหายใจ หากเราดูประสบการณ์ที่อิตาลี ซึ่งมีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อมีผู้ป่วยหนักจำนวนมากก็ต้องเลือกว่าคนไหนจะได้ใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือคนไหนที่ใช้เครื่อง ECMO หากเรามีเครื่องไม่เพียงพอรองรับ การระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คนก็จะยิ่งมีความเสี่ยงกับอันตรายที่จะเกิดจากโรค” ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าว

  • ประเทศที่เตรียมการอัตราตายต่ำ

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศที่มีการเตรียมการอย่างดี เช่น เยอรมนี ถึงแม้การระบาดจะมีเปอร์เซ็นต์สูง แต่อัตราการเสียชีวิตต่ำ ในขณะที่อิตาลี อัตราการเสียชีวิตสูงกว่ามาก เพราะจำนวนของผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนคาดไม่ถึง ทำให้ทางการแพทย์รองรับไม่ได้ ดังนั้น การที่กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี เล็งเห็นความสำคัญและมอบเครื่องมือเหล่านี้ให้กับรามาฯ เพื่อเตรียมรองรับการระบาดที่มีความรุนแรงสูงขึ้นเป็นเรื่องที่ดี

“จริงๆ เราหวังให้อัตราการเพิ่มของผู้ป่วยเกิดน้อยที่สุด แต่อัตราการเพิ่มที่เห็นกระโดดขึ้นมาก ส่วนใหญ่มา 2 ระลอกด้วยกัน คือ จากในผับ และ สนามมวย ซึ่งหากเกิดจากกรณีนี้หลังจากนี้ผู้ป่วยควรจะเริ่มลดลง แต่หากไม่เป็นอย่างนั้นเราก็จะมีอันตรายสูง การเตรียมการเราประมาทไม่ได้ มีแต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุดหากการติดเชื้อทวีความรุนแรงขึ้น”

ศ.นพ.ปิยะมิตร แนะนำว่า ประชาชนให้ลดกิจกรรมข้างนอกบ้านให้มากที่สุด อยู่ที่บ้านให้มากที่สุด โดยในคณะแพทย์ฯ เริ่มให้มีการทำงานที่บ้านในส่วนที่ไม่จำเป็น และหยุดการเรียนการสอนของนักศึกษาทั้งหมด ผู้ป่วยผ่าตัดที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เช่น ซ่อมเข่า ซ่อมสะโพก ผ่าตัดถุงน้ำดี แบบที่ไม่มีการอักเสบรุนแรง ให้เลื่อนทั้งหมด เพิ่มจำนวนยาสำหรับผู้ป่วยที่เคยกำหนดไว้ 2 เดือน เป็น 6 เดือน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดสิ่งที่ไม่จำเป็นทุกอย่าง เพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด -19 ซึ่งมีการหารือกับโรงพยาบาลอื่นๆ และพยายามให้การดำเนินงานเหล่านี้เกิดขึ้นในทุกโรงพยาบาล

ด้าน ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แม้ผู้ป่วยโควิด -19 ส่วนใหญ่ 85% อาการไม่รุนแรง ไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่สิ่งที่เรากังวลใจ คือผู้ป่วย 15% ที่เหลือที่มีอาการรุนแรง ทำให้เกิดปอดอักเสบ ปอดบวม มีภาวะแทรกซ้อน ขณะที่ทรัพยากรในการรองรับผู้ป่วยหนักมีจำกัด และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงแต่ละคน จะใช้ทรัพยากรต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็น 10 – 50 เท่า ทั้งกำลังคน แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง การตรวจ เครื่องมือช่วยเหลือต่างๆ จะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วน

158505206793

“หากยิ่งรุนแรงมาก ยิ่งจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเหล่านี้มาก ดังนั้นโรค โควิด-19 ไม่ใช้เรื่องเล่นๆ เป็นเรื่องที่ซีเรียสมาก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทั้งเรื่องของการป้องกัน ละเลยไม่ได้ หากมีอาการหรือกลุ่มเสี่ยงต้องรีบตรวจ ปฏิบัติตามที่มีคำแนะนำจะป้องกันได้มากพอสมควร” ผศ.นพ.กำธร กล่าว

  • เพิ่มวันละ33%อีก30วันทะลุ3แสน

รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 อธิบายว่า หากดูสถานการณ์ต่างประเทศ พบว่า จะมี 2 กลุ่ม คือ “ประเทศกลุ่มที่ติดเชื้อมาก” เช่น อิตาลี อิหร่าน อังกฤษ ค่าเฉลี่ยการเพิ่มขึ้นแต่ละวันอยู่ที่ 33% และ “กลุ่มที่มีผู้ติดเชื้อน้อย” เช่น ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง จะเห็นว่ามีมาตรการปิดโรงเรียน ปิดประเทศ การทำมาตการต่างๆ ยอดจะต่ำค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10-20% ต่อวัน ตอนนี้เราอยู่ในช่วง Golden period เราเลือกได้ว่าจะเป็นอย่างอิตาลี สเปน อิหร่าน หรือเราอยากเป็นแบบสิงคโปร์ ฮ่องกง

“หากประเทศไทยยังมีระดับอัตราการเพิ่มของผู้ป่วย 33% ต่อวันต่อไป ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบสาธารณสุข คือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มีนาคม) 351,948 ราย ผู้ป่วยที่ต้องรับเข้ารักษาในโรงพยาบาลภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มีนาคม) 52,792 ราย และผู้ป่วยวิกฤตภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มีนาคม) 17,597 ราย เราคงไม่อยากอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ หรือให้ถึงวันที่เราไม่มีทรัพยากรเพียงพอจะดูแลทุกคนที่มีปัญหา”

“หากเรากดลงมาเหลืออัตราผู้ป่วยใหม่อยู่ที่เฉลี่ย 20% ต่อวัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มีนาคม) จะอยู่ที่ 24,269 ราย ผู้ป่วยที่ต้องรับเข้ารักษาในโรงพยาบาลภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มีนาคม) 3,640 ราย จำนวนผู้ป่วยวิกฤตภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มีนาคม) 1,213 ราย”

158505209591

ปัจจุบันบุคลากรสาธารณสุขของไทย จำนวนแพทย์โรงพยาบาลรัฐ และเอกชน รวม 37,160 คน พยาบาล 151,571 คน แบ่งเป็น โรงพยาบาลรัฐ แพทย์ 29,449 คน พยาบาล 126,666 คน โรงพยาบาลเอกชน แพทย์ 7,711 คน พยาบาล 24,905 คน (ที่มา : มติ ครม. ณ 17 มีนาคม 2563)

รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราอาจจะคิดว่ามีแพทย์เยอะ แต่ต้องเรียนให้ทราบว่า หมอทุกคนไม่ได้เชี่ยวชาญโรคปอด นอกจากนี้ เตียงต้องรองรับผู้ป่วยอื่นๆ ที่มีความจำเป็น เช่น ผู้ป่วยหัวใจวาย เส้นเลือดในสมองตีบ เส้นเลือดในสมองแตก หรือคนไข้ที่จำเป็นต้องรักษา เราไม่สามารถเอาโรงพยาบาลทั้งหมดรองรับคนไข้ที่เป็นโรคโควิด-19 ได้ ไม่อย่างนั้นคนไข้ทั้งหมดก็ต้องสละชีพเพื่อโควิด-19