สบยช. เตือนภัย 'สมองติดยา' นำไปสู่สมองพิการถาวร

สบยช. เตือนภัย 'สมองติดยา' นำไปสู่สมองพิการถาวร

เตือนผู้เสพยาและสารเสพติดเสี่ยง สมองติดยา เซลล์สมองถูกทำลาย และมีโอกาสสมองพิการถาวร

 นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สมองติดยา เป็นอาการที่พบได้ในผู้เสพยาและสารเสพติด เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย จะมีผลต่อสมอง 2 ส่วน คือ สมองส่วนคิด (Cerebral Cortex) และสมองส่วนอยาก (Limbic System) ยาและสารเสพติดจะเข้าไปกระตุ้นสมองให้หลั่งโดปามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความสุขออกมามากกว่าปกติ ทำให้มีความสุขอย่างมากและรวดเร็ว เกิดความพึงพอใจมากกว่าปกติ เมื่อหมดฤทธิ์จะทำให้ผู้เสพมีอาการหงุดหงิด ซึมเศร้า จึงพยายามแสวงหายาและสารเสพติดมาใช้ซ้ำเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันเมื่อใช้ยาและสารเสพติดบ่อยๆ จะทำให้สมองส่วนคิดถูกทำลาย การใช้ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลเสียไป สมองส่วนอยากจะอยู่เหนือสมองส่วนคิด ทำให้ทำอะไรตามใจตามอารมณ์ ผู้เสพยาและสารเสพติดจึงมักแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม  เช่น ก้าวร้าว หงุดหงิด เกิดอาการทางจิตประสาท ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หมกมุ่นกับการใช้ยาและสารเสพติด ทำทุกวิถีทางให้ได้ยาเสพติดมาเสพ ส่งผลกระทบทั้งต่อตนเองและสังคม

สบยช. เตือนภัย 'สมองติดยา' นำไปสู่สมองพิการถาวร

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ผู้เสพยาและสารเสพติดเข้ากระบวนการเลิกยาและสารเสพติดอย่างจริงจังช้าเกินไป เนื่องจากคิดว่าตนเองไม่ติด ไม่จำเป็นต้องรักษา สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ เซลล์สมองถูกทำลาย ซึ่งจะมีความชัดเจนหลังจากเสพเพียง 1 เดือน และหากมีภาวะเสริมจากปัญหาของสมอง เช่น ระดับสติปัญญาต่ำ หรือมีสภาพจิตใจที่ไม่ปกติ มีแนวโน้มทางกรรมพันธุ์ที่มีโอกาสจะเกิดโรคทางจิตเวช ยิ่งทำให้อาการทางสมองที่ผิดปกติแสดงออกมาอย่างรุนแรงมากขึ้น ทำให้สูญเสียความทรงจำ คล้ายคนสมองเสื่อม ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้เกิดความผิดปกติทางจิตเวชจากภาวะสมองพิการ อย่างไรก็ตามหากหยุดเสพยาและสารเสพติดตั้งแต่เริ่มเสพไม่นาน และเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง สมองจะมีโอกาสฟื้นฟูเป็นปกติมากขึ้น แต่ในรายที่เสพยาและสารเสพติดมาเป็นระยะเวลานานมากกว่า 5 -10 ปี และเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาช้าสมองจะถูกทำลายกลายเป็นโรคสมองพิการถาวร โอกาสที่สมองจะกลับมาเป็นปกติเป็นเรื่องที่ยาก แม้จะสามารถเลิกเสพยาและสารเสพติดได้ก็อาจสายเกินไป เพราะไม่สามารถใช้สมองเพื่อเรียนหนังสือหรือทำงานได้อย่างเช่นคนปกติทั่วไป  ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165  หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์  จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmindat.go.th