นนท์ อัลภาชน์ โค้ชตัวจริงเสียงจริงมาแล้ว

นนท์ อัลภาชน์ โค้ชตัวจริงเสียงจริงมาแล้ว

นนท์ อัลภาชน์ โค้ชรุ่นใหม่ที่จะนำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไทยและแวดวงกีฬา ด้วยดีกรีปริญญาโทจากอีดิธโคแวน มหาวิทยาลัยระดับท็อปโลกด้านวิทย์ฯกีฬา

             หลังจากสนทนากับ มิกกี้-นนท์ อัลภาชน์ ณ ป้อมเพชร ก็ได้ค้นพบว่า นี่คือคนรุ่นใหม่ที่จะนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดในสังคมไทย เพียงแต่ตอนนี้ต้องให้เวลาบ่มเพาะประสบการณ์ ความพร้อมและสร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จักและยอมรับก่อน แต่มั่นว่าอีกไม่เกิน 5 ปีชื่อของเขาจะรั้งอันดับต้นๆ โค้ชคิวทองอย่างแน่นอน เขาเป็นตัวจริงเสียงจริงด้านกีฬา เติบโตมาในครอบครัวที่ชอบเล่นกีฬา ทั้งคุณพ่อ (สุภรัตน์) ยังเป็นอดีตนักกีฬารักบี้และผู้ฝึกสอนรักบี้ทีมชาติไทย สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาสาขาฟิตเนส แอนด์ นิวทรีชั่น (Fitness and Nutrition) จากมหาวิทยาลัยออริกอนสเตต สหรัฐอเมริกา ด้วยผลการเรียนระดับเกียรตินิยม และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยอีดิธโคแวน ออสเตรเลีย
               “โค้ชทำหน้าที่ training for trainer เรียกผมว่า โค้ช จะเหมาะกว่าคำว่าเทรนเนอร์” คำแนะนำตัวเบื้องต้นจากโค้ชนนท์หรือโค้ชมิกกี้ พร้อมทั้งขยายความว่าเขาเป็นโค้ชความแข็งแรงและความฟิตของนักกีฬา strength&conditioning coach ที่เรียกสั้นๆว่า strength coach

๐๐โค้ชดูแลสุขภาพอย่างไร
             โจทย์แรกที่ขอคำตอบจากนักวิทยาศาสตร์การกีฬาคือ สูตรสร้างสุขภาพดี เขาแนะนำว่าต้องจัดให้สมดุลทั้งการออกกำลังกายและการกิน ทั้งยังบอกว่า สุขภาพดีในมุมคิดของเขาไม่ได้แปลว่าหุ่นดี แต่หุ่นดีจะเป็นผลพลอยได้จากสุขภาพดี ส่วนแนวทางสร้างสุขภาพดี คือการที่ออกกำลังกายครบแบบมีแรงต้านทั้งคาร์ดิโอและแอโรบิก ร่างกายมีทั้งความแข็งแรงและความยืดหยุ่นซึ่งอาจจะเกิดจากการยืดหรือเล่นโยคะ อาหารต้องกินให้ครบทุกหมวดหมู่ ไม่ตัดแป้งและไขมันออกไป
               “คุณอาจเป็นคนอ้วนก็ได้แต่มีร่างกายที่ฟิตจากการออกกำลัง หัวใจดี ไม่มีโรคภัย โภชนาการดีแต่ด้วยปริมาณอาจจะยังไม่ถูกก็เลยทำให้น้ำหนักมาก แต่โดยรวมคุณก็ยังสุขภาพดี ไม่จำเป็นต้องมีซิกแพค ฉะนั้น นิยามสุขภาพดีของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน คุณก็ควรจะมีสุขภาพดีในแบบฉบับของคุณเอง”
                ส่วนการดูแลสุขภาพของโค้ชมิกกี้จะออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-5 วัน เน้นเล่นเวทสร้างกล้ามเนื้อและควบคุมปริมาณแคลอรีที่เข้าสู่ร่างกาย โดยเป็นปีที่ 3 แล้วที่ผมนับแคลอรี พอทำเป็นประจำก็จะรู้ได้อัตโนมัติว่า ไก่ 150 กรัมมีกี่แคลอรี มีโปรตีนเท่าไร ไขมันเท่าไร ผมแค่ควบคุมปริมาณแคลอรีให้ได้ในแต่ละวัน ไม่ต้องอดมื้อกินมื้อ ไม่ต้องอดแป้งอดน้ำตาล ผมกินทุกอย่างที่อยากกิน มื้อค่ำมื้อดึกก็กิน เพียงแต่ต้องอยู่ในปริมาณที่ควบคุมได้ ส่วนปริมาณแคลอรีที่ร่างกายแต่ละคนก็แตกต่างกันตามรูปแบบกิจกรรมการใช้ชีวิต
           เขาย้ำว่า การนับแคลอรีใช้ได้ผลจริงๆ สำหรับการควบคุมน้ำหนัก คุณควรจะลองแล้วจะรู้ว่าได้ผลจริง ถือว่าเป็นนิสัยอย่างหนึ่งที่ต้องฝึกทำให้กลายเป็นวินัย

๐๐ ทำความรู้กับโค้ชนนท์หรือโค้ชมิกกี้ 
                โค้ชมิกกี้ไปอเมริกาตั้งแต่อายุ 12 เรียนประถมจนถึงปริญญาตรีแล้วไปต่อปริญญาโทที่ออสเตรเลีย ตอนแรกฝันอยากเป็นนักฟุตบอลเคยไปคัดตัวเมเจอร์ลีกและเล่นทีมของมหาวิทยาลัย แต่รู้สึกว่าฝีเท้าไปไม่ถึงจึงเลือกเรียนด้านฟิตเนสแอนด์นิวทรีชั่น คือ ออกกำลังกาย ฟิตเนสและโภชนาการ
            “ผมเป็นเด็กเรียนไม่เก่ง ผมชอบออกกำลัง ชอบเล่นกีฬา ก็น่าจะสามารถเปลี่ยนความชอบมาเป็นอะไรก็ได้ที่ให้ประโยชน์ ผมเอาความชอบเป็นตัวตั้งในการชี้นำอนาคต จะทำให้มีความมุ่งมั่นที่จะทำ สุดท้ายแล้วก็สามารถเปลี่ยนให้เป็นรายได้ ในทางกลับกันถ้าเอาเงินเป็นตัวตั้งชี้นำอนาคต มันจะเหมือนธุรกิจ สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ความยั่งยืนก็จะไม่มี”
                เขาจึงเป็นนักเรียนที่ความสุขที่สุด ใช้เวลาแต่ละวันคลุกคลีในแล็บ โรงยิมและห้องอาหารเพื่อศึกษาโภชนาการ การออกกำลังและดูแลนักกีฬา
          “ตอนที่จะเรียนต่อปริญญาโท ตอนแรกว่าจะเรียนด้านคอมมูนิเคชั่น หรือ สปอร์ต เมเนจเมนท์คือการจัดอีเวนท์งานกีฬา แต่อาจารย์หัวหน้าภาคถามถึงความต้องการหรือความชอบที่แท้จริง ผมก็บอกว่า ชอบเรื่องออกกกำลัง ชอบการเทรนคน จึงแนะนำให้ไปที่มหาวิทยาลัยอีดิธโคแวน”
มหาวิทยาลัยอีดิธโคแวนติดท๊อปของโลกด้านความแข็งแรง (Strength) ซึ่งเป็นพื้นฐานของสมรรถภาพทางการกีฬาต่างๆ และจำกัดรับรับผู้เรียนเฉพาะที่จบมาทางการกีฬาเท่านั้น
             “ผมจบวิทยาศาสตร์การกีฬาแต่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า เรียนมาเป็นเทรนเนอร์ ขณะที่เทรนเนอร์ในไทยมีไม่กี่คนที่จบวิทยาศาสตร์การกีฬา ขณะที่ส่วนใหญ่แค่ผ่านการอบรมคอร์ส 2-3 วันแล้วได้รับประกาศนียบัตรให้เป็นเทรนเนอร์ หรือเป็นเซเลบที่หุ่นดีก็มาเป็นเทรนเนอร์โดยไม่ได้เรียนมาทางวิทยาศาสตร์การกีฬา”
                 เทรนเนอร์ในไทยจึงมีเกลื่อนกลาด ด้วยเหตุนี้ จึงควรเรียกเขาว่า strength coach ซึ่งต้องมีประจำทุกทีมกีฬาหรือแม้แต่นักกีฬารายบุคคล ขณะที่ในต่างประเทศจะมีทั้งโค้ชฟิตเนส โค้ชโภชนาการ โค้ชจิตวิทยาและโค้ชสร้างความแข็งแรง แต่ที่นี่เมืองไทย โค้ช 1 คนทำหน้าที่ทุกอย่าง อาจเพราะบุคลากรไม่เพียงพอ
               “ผมมักถูกถามว่าจบมาแล้วทำมาหากินอะไร เงินจะดีหรือไม่ ตอนแรกผมก็ไม่ได้มองว่าได้เงินดี แต่พอทำไปทำมาก็มีทางหารายได้เพียงแต่ต้องรู้จักประยุกต์ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ถ้าให้สอนปริญญาตรีก็ได้เพราะผมเรียนจบปริญญาโท แต่ผมไม่ชอบงานวิชาการเต็มตัว ผมชอบที่จะเคลื่อนไหวขยับร่างกาย ผมไม่ชอบงานหนักแต่ชอบทำงานที่ฉลาด”
              อย่างไรก็ตาม โค้ชมิกกี้เชี่ยวชาญในเรื่องที่ว่าทำอย่างไรให้คุณแข็งแรงขึ้น ฟิตขึ้น ก็จะเป็นผลพลอยได้ที่ทำให้หุ่นดีขึ้น แต่เมืองไทยตลาดแคบและไม่เห็นถึงความสำคัญสำหรับการออกกำลังสร้างความแข็งแรงและยืดหยุ่น

สร้างบันไดเปลี่ยนความคิด
            เด็กนอกที่ใช้ชีวิตมากกว่า 10 ปีในต่างประเทศ เพิ่้งได้สัมผัสความเป็นจริงในสังคมไทยถึงกลับแปลกใจและตกใจในความสุดโต่งของคนไทยบางกลุ่ม ซึ่งรวมถึงตัวเขาเองในอดีต ยกตัวอย่างเรื่องอาหาร  ผมควบคุมอาหารจนไม่ออกไปกินนอกบ้าน ลงมือเข้าครัวทุกมื้อเพราะสามารถควบคุมสิ่งที่จะกินเข้าไปได้ทั้งแคลอรี ไขมัน แป้ง ทำไป 2 เดือนก็เห็นผลแน่นอนชัดเจนตามเป้าหมาย แต่ถามว่าชีวิตมีความสุขไหม ก็ไม่สุข เพื่อนชวนก็ไม่ไปถ้าไปก็พกปิ่นโตไปด้วย ก็ได้เรียนรู้ว่าไม่ดี คราวนี้ก็เลยยืดหยุ่นขึ้น สมมติว่าตอนเย็นมีนัดกินกับเพื่อน ตอนเช้ากับกลางวันก็จะกินให้น้อยๆ มื้อไหนทำกินเองได้ก็จะทำ มื้อใดไม่สะดวกก็ไม่ทำ หรือออกกำลังกายก้โหมหนักมากเคยคาร์ดิโอตลอดทั้ง 7 วันแล้วรู้สึกว่าเหนื่อย ทำได้แค่เดือนเดียว ตอนนี้ก็ลดเหลือสัปดาห์ละ 1-2 วัน
                  เขามองว่า ถ้ากระแสมา 100 คนไทยจะล้ำกระแสไป 150 ยกตัวอย่างใกล้ๆ ก็จากตัวเขาเองจากพฤติกรรมสุดโต่งที่เขาเคยทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉาบฉวย ไม่ใช่ไม่ดีแต่ก็ควรมีสติยั้งคิด ควรจะรู้ว่าอะไรมากอะไรน้อย สังคมไทยยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจใหม่ ทั้งเรื่องเทรนเนอร์ การเลือกใช้บริการฟิตเนสใหญ่ๆ การลดน้ำหนักแบบไม่ยั้งคิด ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมีโครงการนำวิชาความรู้ที่เรียนมาถ่ายทอดเพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับคนไทย แม้จะเป็นโครงการเล็กๆ เริ่มที่กลุ่มคนไม่กี่สิบคนแต่เมื่อทำบ่อยๆ ครั้ง จากจำนวนสิบก็จะเพิ่มเป็นร้อยและหลายๆ ร้อย ที่จะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้น
“ผมจะจัดเวิร์คช็อปเดือนละ 1 ครั้ง นำเสนอหัวข้อเกี่ยวกับสุขภาพ การออกกำลังและโภชนาการในประเด็นที่อยู่ในความสนใจ สิ่งที่คนไทยควรจะรู้และสิ่งที่ถูกถามมามาก ทั้งยังมีบทความในเฟซบุ๊ค Healthy Getaway"
                 ล่าสุดก็วันเสาร์ 25 มี.คที่ผ่าานมา เป็นเวิร์คช็อปกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 30 คน มี 3 หัวข้อ คือ การออกกำลังกายแบบวิ่งเร็วสลับช้าเทียบกับการออกกำลังกายแบบเดินลู่ธรรมดาแบบไหนดีกว่ากัน ผลดีผลเสียต่างกันอย่างไร หัวข้อถัดมาเป็นการตีแผ่วิธีไดเอตที่คนไทยนิยม เช่น การกินคลีน กินแป้งน้อยโปรตีนมาก ไม่กินไขมัน และหัวข้อที่ 3 เป็นเรื่องอาหารเสริม โดยเฉพาะเวย์โปรตีนเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ในระยะสั้น ระยะยาว มีผลเสียหรือไม่
     ส่วนรอบถัดไปเล็งไว้ว่าจะเป็นช่วงหลักเทศกาลสงกรานต์ ผู้ที่สนใจติดตามรายละเอียดได้ในเฟซบุ๊ค Healthy Getaway