รังนกหมื่นล้าน วังวนธุรกิจสีเทา

รังนกหมื่นล้าน วังวนธุรกิจสีเทา

ปัญหาคาราคาซังของธุรกิจรังนกไทยที่ดูเหมือนจะไม่มีใคร 'วิน'

ในย่านที่มีคนเชื้อสายจีนไปจับจ่ายใช้สอย ‘รังนก’ คืออาหารยอดนิยมที่พ่วงมาด้วยสรรพคุณตามความเชื่อมากมาย แต่รู้หรือไม่ว่า ที่มาของรังนกเหล่านั้นอาจไม่ได้หอมหวานเหมือนเส้นใสๆ ในถ้วยซุบ ซึ่งถูกจัดให้เป็น 1 ใน 10 ของอาหารที่แพงที่สุดในโลก เพราะตามกฎหมายไทย มีเพียงรังนกจากแหล่งธรรมชาติที่ได้รับสัมปทานจากรัฐเท่านั้นที่มีที่มาถูกต้อง ขณะที่รังนกจำนวนมากซึ่งเป็นผลผลิตจาก ‘ตึกนก’ หรือ ‘บ้านนก’ ยังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

S__57958556_2

ระหว่างคำถามถึงคุณค่าทางอาหาร การละเมิดสิทธิสัตว์ การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ, ความต้องการบริโภครังนกในตลาดโลก โดยเฉพาะ ‘จีน’ กำลังพุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในธุรกิจรังนกก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่หมายถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถือเป็นแหล่งผลิตรังนกสำคัญของโลก

มีการประเมินว่ามูลค่าของตลาดรังนกดิบในจีนนั้นน่าจะสูงถึงหลักแสนล้านบาท ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกสำคัญคือ ประเทศอินโดนีเซีย ตามมาด้วยมาเลเซียซึ่งเคยเป็นรองประเทศไทย แต่เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียให้การสนับสนุนทางการเงินกับผู้ทำธุรกิจรังนกผ่านธนาคารเพื่อการเกษตร และให้ความสำคัญกับการวิจัยเพื่อการพัฒนาการเกษตรนกนางแอ่น ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของเราก้าวแซงหน้าไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

และแม้ในปี ค.ศ.2011 จะเกิดวิกฤตรังนก เนื่องจากจีนตรวจพบรังนกปลอมจากมาเลเซียจนนำมาซึ่งเหตุการณ์ ‘หักดิบธุรกิจรังนกมาเลเซีย’ ตามมาด้วยการออกกฎระเบียบมากมายเพื่อป้องกันการปลอมปน ไม่ว่าจะเป็น การระบุแหล่งที่มาตามกฎหมาย การกำหนดให้บริษัทที่นำเข้าต้องได้รับใบอนุญาต ไปจนถึงมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวด แต่รัฐบาลมาเลซียก็ได้เจรจาจนกระทั่งจีนยกเลิกการห้ามนำเข้า ทว่าผลกระทบกลับตกอยู่ที่ธุรกิจรังนกในไทย ซึ่งมีผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพียงสองราย และต้องเป็นรังนกถ้ำที่ได้รับสัมปทานอย่างถูกต้องเท่านั้น

“ปัจจุบันรังนกไทยเข้าไปในจีนได้น้อยมาก เพราะว่ารังนกส่งไปจีนต้องถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันมีการกำหนดมาตรฐาน CNCA โรงงานที่ได้มาตรฐานนี้ที่อินโดนีเซียมี 21 โรงงาน มาเลเชีย 33 โรงงาน ประเทศไทยมีแค่ 2 โรงงาน แล้ว 2 โรงงานของประเทศไทยส่งรังนกถ้ำได้อย่างเดียว รังนกบ้านส่งไม่ได้เลย เพราะผิดกฎหมาย

เช่นนั้นเราก็หวังว่ารัฐจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะปัจจุบันรังนกทำให้เรามีรายได้มหาศาล ถ้ากฎหมายรังนกไม่ปลดล็อค รังนกบ้านไม่มีกฎหมายมารองรับ เราก็ไม่มีทางส่งออกได้ ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย เพราะมาตรฐานการนำเข้ารังนกของจีนเขากำหนดไว้ว่าต้องมีแหล่งที่มาที่ถูกต้อง เมื่อรังนกบ้านของเรายังขึ้นทะเบียนไม่ได้ แม้แต่โรงงานผมก็ไม่สามารถส่งออกไปจีนได้ ขายในเมืองไทย หรือขายไปที่ฮ่องกงได้เท่านั้น” อนันต์ จองศักดิ์เจริญกุล เจ้าของบริษัท อนันต์ไทยเบิร์ดเนสท์ จำกัด กล่าว

S__57958538

สำหรับผู้ประกอบการแล้วหากส่งรังนกดิบไปจีนได้อย่างถูกกฎหมายถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีดลูกคิดรางแก้วรอได้เลย อนันต์เปรียบเทียบให้ฟังง่ายๆ ว่า รังนกบ้านเกรด A (รังนกสีขาวล้างทำความสะอาดแล้ว) ขายในไทยอย่างมากกิโลกรัมละ 80,000 บาท แต่ถ้าขายในจีนจะได้กิโลกรัมละ 120,000-180,000 บาท ส่วนรังนกถ้ำถ้าเป็นรังนกดิบขายในไทยจะได้ประมาณ 100,000-120,000 บาท ขายใต้ดิน 180,000 บาท แต่ถ้าขายในจีนอย่างถูกต้องตามกฎหมายสูงสุดได้ถึงกิโลกรัมละ 1 ล้านบาท

“ถ้าเราสามารถขายได้ราคานี้ รายได้มหาศาลตรงนี้ เอาเงินส่วนหนึ่งเป็นภาษีเข้ารัฐ รัฐก็มีรายได้ชัดเจน ของเราก็ทำธุรกิจได้เปิดเผย ไม่ต้องเป็นธุรกิจสีเทาอย่างในปัจจุบัน” อนันต์สรุป

S__57958539

แม้จะมีหลักฐานว่ากลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มีการ ‘เก็บใช้’ รังนกจากแหล่งธรรมชาติ เป็นอาหารและยา และ ‘เก็บค้า’ รังนกกับกลุ่มชาติพันธุ์จีนมาไม่น้อยกว่า 500 ปีแล้ว แต่มุมมองที่มีต่อการบริโภครังนกก็ยังแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่าย ทั้งที่เห็นดีเห็นงามและไม่เห็นด้วย

ในงานวิจัยเรื่อง ‘ชาติพันธุ์สัมพันธ์กับทรัพยากรรังนกแอ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ พื้นที่ศึกษาในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และจีน(ฮ่องกง) โดย อาจารย์เกษม จันทร์ดำ และทีมวิจัย ภายใต้การสนับสนุนจากฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระบุว่า การจัดการทรัพยากรรังนกแอ่นในแหล่งธรรมชาติมี 3 ลักษณะ คือ 1.ระบบสิทธิถ้ำรังนกเป็นของส่วนบุคคลหรือครอบครัว มีการสืบทอดสิทธิมรดกถ้ำรังนกตามกฎหมายจารีต 2.ระบบสิทธิถ้ำรังนกเป็นแบบถ้ำร่วม 3.ระบบสิทธิถ้ำรังนกเป็นของรัฐให้เอกชนสัมปทาน

“ของเรามีพัฒนาการจากระบบศักดินามาเป็นธุรกิจ เมื่อก่อนต้องยื่นฎีกา วันนี้ยื่นประมูล มันก็คล้ายกันเพียงแต่ว่าเงินเมื่อก่อนมันเข้ากรมพระคลังสินค้า แต่ในปัจจุบันมันอยู่ที่ท้องถิ่น” อ.เกษม ให้ข้อมูลและว่า เดิมรังนกเป็นสินค้าของหลวง ไพร่รังนกซึ่งมีเฉพาะในภาคใต้เป็นคนเก็บ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นระบบสัมปทาน คนกลุ่มนี้ยังสืบทอดภูมิปัญญาในการเก็บรังนกต่อๆ กันมา อาจจะมีกลุ่มใหม่เข้ามาบ้างแต่ไม่มาก เพราะเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงและรายได้ไม่มากนัก ปีหนึ่งๆ จะมีรอบการเก็บรังนกเพียง 3 ครั้งเท่านั้น

รายได้เป็นกอบเป็นกำจากการเก็บค้า ‘รังนกถ้ำ’ หรือ ‘รังนกเกาะ’ จึงตกอยู่ที่ผู้รับสัมปทานซึ่งมีอยู่ไม่กี่ราย ขณะที่แหล่งรังนกตามธรรมชาติในประเทศไทยพบตามเกาะทั้งในทะเลอันดามันและอ่าวไทย ส่งผลให้องค์ท้องถิ่นในจังหวัดนั้นๆ ได้รับประโยชน์จากการให้สัมปทานด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์มหาศาลของธุรกิจรังนกภายใต้เงื่อนปมทางกฎหมายนี้กำลังส่อเค้าปัญหาทั้งจากการที่มีคู่แข่งน้อยรายในระบบสัมปทานรังนกถ้ำ การลดลงของปริมาณนกแอ่นกินรังในธรรมชาติ การขยายตัวของตึกนกที่ไม่มีกฎหมายรับรอง และการติดล็อคเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้ไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศจีนได้

“จีนเป็นตลาดใหญ่สุดที่บริโภครังนก ประมาณ 90 กว่าเปอร์เซนต์ แต่รังนกที่เข้าไปแบบถูกต้องตามกฎหมายน้อยมาก ตัวเลขอย่างเป็นทางการมันแค่ 10 เปอร์เซนต์ของทั้งหมด” อ.เกษม กล่าว ก่อนจะชี้สถานการณ์ปัจจุบันว่า

“ระหว่างรังนกถ้ำกับรังนกบ้าน ถ้าเราดูตัวอย่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ในมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย มันจะอยู่ที่ประมาณ 75 ต่อ 25 เปอร์เซนต์ แต่ตอนหลังมันกลับกัน รังนกถ้ำน้อยลงเหลือประมาณ 30 เปอร์เซนต์ รังนกบ้าน 70 เปอร์เซนต์ ประเทศไทยของเรานกบ้านมันเพิ่มปริมาณมากขึ้น เพราะการดูแลทรัพยากรรังนกของเขา ต่างจากนกถ้ำ เพราะระบบสัมปทานถึงจะมีกฎหมาย แต่การปฏิบัติของเรา คนที่เป็นกลไกรัฐไม่ได้ทำหน้าที่ นั่นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็เป็นการลูบหน้าปะจมูก มีการเก็บไม่เป็นไปตามสัญญา เพราะฉะนั้นพยากรณ์ได้ว่ารังนกถ้ำถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปจะลดลงอย่างน่าใจหาย”

DSC_2076

ข้อค้นพบจากงานวิจัยระบุว่า การเก็บรังนกจนเกินขนาด เนื่องมาจากราคารังนกที่สูงขึ้นมากตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นกนางแอ่นในแหล่งธรรมชาติทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดจำนวนลง ขณะที่การทำธุรกิจนกนอกแหล่งธรรมชาติ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลายประการ เช่น สุขภาวะของชุมชนที่เกิดจากการถ่ายมูลของนก เกิดมลภาวะทางเสียงจากการเปิดเสียงเพื่อล่อนกจากตึกรังนก ผู้คนในชุมชนมีความวิตกเรื่องโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มากับตัวนก ตึกนกมีการใช้อาคารผิดประเภทตามกฎหมายควบคุมอาคาร น้ำที่ใช้ในตึกนกเป็นน้ำทิ้งที่ปะปนกับมูลนกระบายโดยตรงลงแหล่งน้ำสาธารณะโดยไม่ได้บำบัด

S__57958546

กมลศักดิ์ เลิศไพบูลย์ ประธานสมาคมธุรกิจรังนกแอ่น(ประเทศไทย) มองว่าปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยการออกกฎหมายให้ทันสถานการณ์ เขาเสนอในเบื้องต้นว่า ถ้าไม่ปลดล็อคนกแอ่นกินรังจากสัตว์ป่าคุ้มครอง ปรับปรุงกฎหมายให้นกแอ่นเป็นสัตว์ที่เพาะเลี้ยงได้ ก็ควรออกใบอนุญาตการทำบ้านนกอย่างถูกกฎหมาย

“วิธีการที่ง่ายที่สุด เนื่องจากว่านกชนิดนี้ถูกประกาศในกฎกระทรวงฯ อำนาจก็คือรัฐมนตรี คุณประกาศได้เลย อาจจะวงเล็บว่าเป็นรังนกบ้านที่มีหลักฐานยืนยัน และเพื่อป้องกันการทำร้ายนกในธรรมชาติในถ้ำ ก็อาจระบุว่ามีแหล่งที่มาจากบ้าน โดยกำหนดให้มีใบอนุญาตซะมันก็ได้อยู่เหมือนกัน เรื่องแบบนี้ถ้าแก้ได้เร็วก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจนักลงทุน เนื่องจากตลาดมันยังไม่จำกัด”

ทั้งนี้หากรังนกบ้านยังผิดกฎหมายทั้งที่บ้านนกผุดขึ้นทั่วประเทศ การควบคุมดูแลจะเป็นเรื่องยาก เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องย่อมใช้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร หรือ พ.ร.บ.สาธารณสุข “แต่ถ้าเมื่อไหร่มีใบอนุญาตขึ้นมา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำบ้านนกจะถูกบังคับใช้โดยอัตโนมัติ อาจนำระบบการจัดการฟาร์มมาใช้ โดยต้องไปขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ ก็จะทำให้อยู่กันได้ มีมาตรฐาน มีตัวชี้วัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาคาร เสียง หรือสุขอนามัย” กมลศักดิ์ เสนอทางออก

เช่นเดียวกับมุมมองของนักวิจัยอย่าง อ. เกษม ที่เห็นว่าควรจะทำให้รังนกเป็นสินค้าทางการเกษตร และทำรังนกบ้านให้ถูกต้องสามารถส่งออกได้

“ผมคิดว่าถึงที่สุดแล้ว ถ้าปลดล็อคอย่างนี้ได้ ทุกที่ก็จะแข่งกันดูแลทรัพยากรนกแอ่น เพราะว่ามันเป็นตัวสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่ที่่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราไปเจอกับดักของหน่วยงานราชการที่คิดว่า ผมทำดีที่สุด ถ้าปลดล็อคมันจะวิบัติ ซึ่งข้อมูลเชิงประจักษ์ในเซาท์อีสเอเชีย...ตรรกะว่าถ้าปลดล็อคแล้วนกจะถูกทำลาย เป็นเท็จ ถึงที่สุดแล้วจะแข่งกันในการดูแลมากกว่า”

สุดท้ายไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์ของคน หรือประโยชน์ของนก ผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรือผลประโยชน์ของประเทศ การจัดการอย่างเหมาะสมคือสิ่งที่รัฐต้องทบทวนเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน