สอนลูกน้อยใช้เงินให้เป็น

สอนลูกน้อยใช้เงินให้เป็น

ความต้องการของเด็กๆ ที่มักจะร้องขอจากผู้ปกครองอยู่บ่อยๆ หากพ่อแม่ตามใจ ของใช้ไฮเทค หรือ เสื้อผ้าแฟชั่น คงตกเป็นของลูกๆ ได้อย่างง่ายดาย

“หนูอยากได้ไอแพด”
“พ่อครับผมอยากเปลี่ยนมือถือรุ่นใหม่”
“แม่คะ ชุดของหนูเชยแล้ว รองเท้าก็ไม่อินเทรนด์ด้วย แม่ซื้อให้หนูใหม่นะคะ”

เหล่านี้คือความต้องการของเด็กๆ ที่มักจะร้องขอจากผู้ปกครองอยู่บ่อยๆ หากพ่อแม่ตามใจ ของใช้ไฮเทค หรือ เสื้อผ้าแฟชั่น คงตกเป็นของลูกๆ ได้อย่างง่ายดาย แต่ในขณะเดียวกัน พ่อแม่คงไม่รู้ตัวว่ากลายเป็นตัวอย่างของการใช้เงินที่คิดจะซื้ออะไรก็ซื้อ ให้ลูกๆ ได้ลอกเลียนแบบเมื่อโตขึ้น

นพ.โกวิทย์ นพพร จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ บอกว่า พ่อแม่มีอิทธิพลอย่างมากต่อนิสัยการใช้เงินของลูก เพราะถ้าพ่อแม่ไม่รู้จักประมาณตัวเองว่าเราควรให้ลูกเราใช้เงินแค่ไหน พ่อแม่เป็นคนที่อาจจะมีส่วนในการทำให้คิดว่าลูกต้องทัดเทียมเพื่อนก็ส่งเสริมลูก แทนที่จะสอนให้ลูกรู้ว่าควรจะอยู่ ควรจะกินแค่ไหนให้เหมาะสมกับฐานะตัวเอง มันก็ทำให้ลูกป่วยเพราะเงินได้เหมือนกัน คือมีความเห็นผิดเกี่ยวกับเรื่องของการใช้เงิน พ่อแม่ไม่น้อยมีค่านิยมการซื้อรถยนต์เป็นรางวัลให้ลูกเวลาที่ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ในความเป็นจริงการที่ลูกจะมีรถได้ เข้าต้องรู้จักรับผิดชอบรถของตัวเอง เขาควรจะมีเงินเติมน้ำมันเอง พ่อแม่ซื้อให้แล้วยังต้องมานั่งจ่ายค่าน้ำมัน พอลูกขับไปชนก็จ่ายค่าซ่อมให้ลูกอีก ดังนั้นการที่พ่อแม่ไม่ให้แนวคิดนี้กับลูกก็ทำให้ลูกไม่ได้สร้างความรู้สึกรับผิดชอบขึ้นมา

นพ.โกวิทย์ อธิบายให้เห็นภาพว่า สมัยก่อนบ้านหนึ่งมีรถหนึ่งคันใช้ได้ทุกคน แต่พอบ้านเมืองเจริญขึ้น ครอบครัวต่างๆ มีฐานะดีขึ้น ก็จะรู้สึกว่ารถคันเดียวไม่พอใช้แล้ว กลายเป็นว่าใช้รถกันคนละคัน พอลูกมีรถยนต์ก็เหมือนกับติดปีกให้ลูก ไปไหนมาไหนด้วยตัวเองได้ก็เกิดปัญหาอีก ลูกเที่ยวดึก ไม่กลับบ้าน พ่อแม่เป็นห่วง บ่นว่าทำไมลูกเอาแต่เที่ยวกลางคืนไม่กลับบ้าน ไม่อ่านหนังสือสอบ จริงๆ พ่อแม่ก็เป็นคนยื่นกุญแจรถให้เขาเอง การเลี้ยงลูกจึงต้องมีวิจารณญาณที่ดี ว่าเรากำลังให้ในสิ่งที่ลูกเอาไปใช้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตในภายภาคหน้าของเขา หรือกำลังให้สิ่งที่จะเป็นโทษกับเขา

สำหรับการจะปลูกฝังให้เด็กใช้เงินเป็นนั้น จิตแพทย์แนะนำว่า พ่อแม่จะต้องสร้างค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องเงินให้ถูกต้องแก่เด็ก นั่นคือ เราสอนให้เด็กพัฒนาการเรียนรู้ การใช้ใช้ชีวิตอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานะ โดยมีข้อแนะนำดังนี้
1. พ่อแม่ต้องพยามยามมีสติ เวลาเราให้เงินลูก เราอาจต้องถามตัวเองว่า สมัยเราปู่ย่าตา ยาย ให้เราเท่าไหร่ เราไม่ได้ให้เพราะจะให้ลูกทัดเทียมกับเด็กข้างบ้าน แต่เราควรจะสอนให้เด็กได้รู้ว่า แค่ไหนคือพอ แค่ไหนเหมาะสมกับฐานะตัวเอง
2. สร้างค่านิยมและปลูกฝังเรื่องแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ท่านทรงสอนให้เรารู้จักพอเพียง ให้เรารู้จักประมาณตนเอง
3. พ่อแม่ควรพูดคุยสื่อสารกับลูกว่าการใช้เงินต้องใช้อย่างไร คำนึงถึงเหตุผล และความจำเป็น เช่น การจะซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่นั้น ควรซื้อหรือไม่ จำเป็นหรือไม่ ซื้อเพราะเหตุผลอะไร เพียงเพราะเพื่อนๆ ซื้อรุ่นใหม่ก็ซื้อตาม จะต้องมีตามเพื่อนๆ หรือ ซื้อเพราะว่าเครื่องเก่าชำรุด ไม่สามารถซ่อมได้แล้ว หรือ ถ้าหากซ่อม ต้องเปลี่ยนอะไหล่ก็มีราคาแพง สู้ซื้อเครื่องใหม่คุ้มค่ากว่า พ่อแม่ควรจะพูดคุยกับลูกลักษณะนี้มากกว่า จะไปตามใจลูก เพราะไม่อยากขัดใจลูก
4. ควรเล่าเรื่องราวในอดีตของพ่อแม่ให้ลูกฟัง ว่าความเหนื่อยยากของการหาเงินเป็นอย่างไร พ่อแม่ลำบากแค่ไหน ถ้าหากลูกรักพ่อแม่ก็ควรช่วยกันประหยัด หรือ ใช้เงินให้คุ้มค่า

“สมัยก่อนตอนที่บ้านเมืองยังมีแต่ต้นไม้สีเขียวอยู่เยอะๆ เราก็ไปเที่ยวสวนสาธารณะ เที่ยวที่เป็นธรรมชาติ แต่เดี๋ยวนี้บ้านเมืองพัฒนาขึ้นก็ต้องไปเดินห้างหรูๆ ขายของแพงๆ ชอปปิ้ง ต้องเข้าร้านอาหารแบบนี้ กลายเป็นของโก้ว่าเราต้องกินร้านอาหารแบบนี้ ใช้ของยี่ห้อนี้ ทุกอย่างมันต้องใช้เงิน มันก็เลยทำให้เงินเป็นของที่มีความหมาย มีความสำคัญมากขึ้น ทั้งๆ ที่สมัยก่อน ปู่ ย่า ตา ยาย สิ่งเหล่านี้ยังไม่มี เราก็ยังกินขนมครก กล้วยแขกอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ต้องกินเค้กชิ้นละร้อยกว่าบาท พอมียี่ห้ออะไรมาใหม่ก็เข้าคิวรอกินกัน ทั้งๆ ที่ชิ้นหนึ่งราคาแพงมาก เป็นวัฒนธรรม วัตถุนิยม บริโภคนิยม ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับเงิน หากพ่อแม่ยังปฏิบัติแบบนี้ให้ลูกๆเห็น หรือ ทำเป็นเรื่องปกติในครอบครัว ลูกก็จะเกิดการซึมซับเรื่องของบริโภคนิยมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว จึงควรเริ่มจากพ่อแม่ที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกได้เห็น ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ติดหรู ควรใช้ชีวิตแบบพอเพียง บริหารการเงินให้มีคุณภาพ แล้วลูกๆ ก็จะเป็นแบบที่พ่อแม่เป็น”

ทั้งนี้การที่พ่อแม่จะสื่อสารกับลูกๆ และสมาชิกในครอบครัวให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดนั้นจะต้องอาศัยทักษะและความรู้ความเข้าใจ รวมถึงความรักอย่างมาก แต่จะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการบ่มเพาะความรัก เพราะความรักเป็นพื้นฐานของความเข้าใจภายในครอบครัว เพื่อให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็ง ทุกครอบครัวมีความรักที่อบอุ่น สื่อสารกันอย่างเข้าใจ โรงพยาบาลมนารมย์ ขอเชิญชวนท่านที่สนใจเข้ารับฟังบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “ครอบครัวเป็นสุข เมื่อปลูกรักถูกวิธี” โดย พญ.วนัทดา ถมค้าพาณิชย์ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน Marrital and Family Therapy โรงพยาบาลมนารมย์ ในวันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 โรงพยาบาลมนารมย์ สุขุมวิท 70/3 บางนา ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS บางนา (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) สนใจสำรองที่นั่งและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร 02-725-9595 หรือ www.manarom.com