เรวตภิกขุ 'การเดินทางสู่ความไม่มีตัวตน'

เรวตภิกขุ 'การเดินทางสู่ความไม่มีตัวตน'

พระอาจารย์เรวตภิกขุ ตั้งคำถามจากการฟังธรรมบรรยายเรื่อง 'การเดินทางเพื่อค้นพบตนเอง' ให้เรากลับมาใส่ใจกับสิ่งที่มองไม่เห็นภายในใจ

พระอาจารย์เรวตภิกขุ ลูกครึ่งไทย-มอญ กัมมัฏฐานาจริยะ ธัมมกถิกะ ตั้งคำถามกับผู้เข้าฟังธรรมบรรยายจากท่านเรื่อง 'การเดินทางเพื่อค้นพบตนเอง' และกระตุกให้เรากลับมาใส่ใจให้เรากลับมาใส่ใจกับสิ่งที่มองไม่เห็นภายในใจ ทำให้เราเริ่มเห็นลางๆ ว่า เอ๊ะ เราคือใครกันแน่

"ท่านทั้งหลายอยากเป็นนายหรือเป็นทาสของกิเลส หลายครั้งเราเห็นคนทำบางสิ่งบางอย่าง เราก็ตัดสินเขาผิดๆ เพราะเราไม่รู้เจตนาของเขา เรามีความโอหัง มีความมั่นใจในตนเอง เมื่อเห็นคนทำอะไรบางอย่าง เราก็คิดว่า เขาน่าจะทำอะไรอย่างนั้น แต่จริงๆ เขาอาจไม่ได้ทำอย่างนั้นก็ได้ แต่เป็นเพราะเราไม่รู้วาระจิตของเราเอง จึงถูกกิเลสที่อาศัยอยู่ในจิตหลอกเอา หากว่าเรามีความฉลาดในการรู้วาระจิตของตนเอง เราจะรู้ว่า ชีวิต ไม่ได้อยู่เพื่อส่งเสริมกิเลสมานะของตนเอง ท่านเห็นด้วยไหม ดังนั้น เราจึงต้องเลือกที่จะไม่ไปยุ่งเรื่องคนอื่น"

พระอาจารย์เรวตภิกขุ ลูกครึ่งไทย-มอญ กัมมัฏฐานาจริยะ ธัมมกถิกะ แห่งศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติ พะอ็อก ตอยะ เมืองหมอละเหมียง สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ตั้งคำถามกับผู้เข้าฟังธรรมบรรยายจากท่านเรื่อง 'การเดินทางเพื่อค้นพบตนเอง' เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 3 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก หลังสวนอุทยานเบญจสิริ กรุงเทพ ฯ ซึ่งจัดโดย ชมรมใฝ่ธรรมวันพุธ

การที่ท่านตั้งคำถามและกระตุกให้เรากลับมาใส่ใจกับสิ่งที่มองไม่เห็นภายในใจ ทำให้เราเริ่มเห็นลางๆ ว่า เอ๊ะ... เราคือใครกันแน่ เมื่อเรากลับมาปลุกสติให้ตื่นขึ้นตามคำแนะนำของท่าน เราจะเห็นโลกเปลี่ยนไป และเราจะเกิดความเมตตาต่อคนที่เรากำลังวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเขาอยู่ในขณะนั้นมากขึ้น รวมทั้งเห็นอาการของกิเลสที่ผลักให้เราพูดออกไป และสิ่งนั้น หาใช่ตัวของเราไม่

เราคือใครกันแน่

พระอาจารย์เรวตะกล่าวต่อมาว่า หากเราฉลาดในการรู้วาระจิตตนเองจะทำให้เรามีความสุขที่แท้จริง แต่ว่า มีความจำเป็นต้องเรียนรู้ทีละขั้น

"เราจำต้องควบคุมกิเลสของเรา เมื่อสามารถควบคุมกิเลสได้ เราจะไม่ฟังกิเลสอีกต่อไป แล้วเราจะน้อมใจไปฟังในสิ่งที่ต้องการ แต่ว่า ท่านยังกำจัดมันไม่ได้ เพราะว่าเรายังไม่ได้มรรคยาน และผลยาน จึงยังหยุดกิเลสไม่ได้ ด้วยเหตุนี้กิเลสจึงอยู่กับเรา ในเบื้องต้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องรู้วิธีควบคุมมันก่อน นี่คือสิ่งที่อาตมาปฏิบัติตั้งแต่เป็นเด็ก ตอนที่อยู่ชั้นประถมยังไม่รู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่โชคดีที่สนใจเกี่ยวกับจิต จึงศึกษาและได้ประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาก อาตมาฝึกฝนจนสามารถควบคุมกิเลสได้ แต่ไม่สามารถหยุดมันได้ อาตมารู้ว่าสามารถมีชีวิตอย่างมีสันติสุข เพราะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของคนอื่นตั้งแต่ยังไม่ได้บวช อาตมาพบว่าหากเรามีความฉลาดในการรู้วาระจิตของตนเอง เราจะรู้ว่า ชีวิตไม่ใช่เพื่อจะอยู่อย่างมีความสุข และไม่ได้อยู่เพื่อส่งเสริมกิเลสของตนเอง ท่านเห็นด้วยไหม ดังนั้น เราจึงต้องเลือกที่จะไม่ไปยุ่งเรื่องคนอื่น เพราะเป็นเรื่องไม่จำเป็น

"ถ้าเราไม่ฉลาดในการรู้วาระจิตของตนเอง ท่านจะไม่มีทางเป็นนายของตนเองได้ และท่านก็จะเป็นทาสของกิเลสต่อไป ท่านเคยได้ยินคำนี้ไหม 'เราเป็นนายของชีวิต' เราใช้คำนี้เมื่อไหร่ เราจะใช้คำนี้เมื่อเราได้สิ่งที่เราต้องการ เราจึงบอกว่า ลองพิจารณาให้ดีคำว่า 'ฉันเป็นนายของตัวเอง' ใครเป็นนายกันแน่ 'ท่านหรือกิเลส'

ใครคือผู้บงการชีวิตเรา


พระอาจารย์เรวตะตั้งคำถามกับเราต่อมาว่า เมื่อไรที่เห็นของสวยงาม โลภะจะบอกว่า เราอยากได้ เพราะเห็นผิดในสักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดว่าตัวตนคือเรา เราจึงเข้าใจผิดว่า นี่แหละ เราต้องการ ดังนั้น ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเป็นทาสรับใช้โลภะ เมื่อท่านได้ในสิ่งที่ท่านต้องการ ท่านก็เป็นทาส ไม่ใช่นาย และนั่นเป็นการเดินทางที่หาจุดจบไม่ได้ เพราะโลภะไม่เคยพอใจ


โลภะเป็นของท่านหรือเปล่า

"อาตมารู้ว่า ท่านคงจะตอบว่า โลภะไม่ใช่ของเรา ตอนนี้ท่านกำลังมีโลภะอยู่หรือไม่ ตอนนี้ท่านอาจจะยังไม่มีความโลภ แต่ว่า ท่านไม่มีความโลภหรือเปล่า ท่านสามารถแสดงให้อาตมาเห็นได้ไหมว่าความโลภอยู่ตรงไหน ท่านจับมันได้ไหม ไม่ทราบ แต่รู้ว่ามี"


แล้วท่านก็ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม

"เช่นว่า โยมได้ถวายน้ำอาตมา โดยสมมติสัจจะ อาตมาสามารถบอกได้ว่า นี่คือน้ำของอาตมา เพราะอาตมาสามารถจับได้ ถ้าอาตมาไม่อยากได้ก็ให้ท่านได้ดังนั้น ท่านสามารถแสดงให้อาตมาเห็นได้ไหมว่า ความโลภอยู่ที่ไหน แต่เพราะท่านไม่สามารถจับมันได้ แสดงได้ และไม่รู้ด้วยว่าอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นบอกได้เลยว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ของท่าน หากความโลภเป็นของท่านจริงๆ ท่านก็สามารถที่จะชี้มันได้ และถ้ามันเป็นของท่าน ท่านก็สามารถที่จะทำในสิ่งที่ท่านต้องการได้ แต่เมื่อมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น กิเลสจึงไม่ใช่ของเรา"


อีกตัวอย่างหนึ่งที่ท่านชี้ให้เห็นว่ากิเลสไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา !

"เมื่อเราเห็นเมล็ดมะม่วง ท่านเห็นต้นมะม่วงและผลมะม่วงด้วยหรือไม่ แต่เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อม เมล็ดมะม่วงนั้นจะเติบโตเป็นต้นมะม่วง และให้ผล เหตุปัจจัยนั้นคืออะไร คือ ดิน น้ำ แสงแดด ในทำนองเดียวกัน โลภะ เรารู้ว่ามีอยู่ แต่ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน เมื่อท่านเห็นสิ่งที่น่าปรารถนา โลภะที่ท่านไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน ก็จะลอยโผล่ขึ้นมาแล้วบงการว่า ฉันอยากได้ เช่นเดียวกับเมล็ดมะม่วงที่ได้เติบโตเป็นต้นและออกดอกออกผลแล้ว และเพราะความเห็นผิดในตัวตน ท่านก็เข้าใจผิดว่า 'ฉัน' เป็นคนต้องการ จริงๆ แล้วท่านไม่ได้ต้องการสิ่งนั้นแต่โลภะต่างหากต้องการสิ่งนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น เรากำลังรับใช้โลภะใช่ไหม

เราเป็นนาย หรือเราเป็นทาส

พระอาจารย์เรวตะชี้ให้เห็นว่า ในทำนองเดียวกันกับกิเลสตัวอื่นๆ เมื่อท่านเห็นสิ่งที่พึงพอใจ มีเหตุสี่ประการที่ทำให้เราเห็นสิ่งที่พึงพอใจ คือ มีจักษุประสาท มีแสง มีวัตถุ และต้องมีโยนิโสมนสิการ (การทำในใจโดยแแยบคาย หรือการพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วน)

"หากท่านใส่ใจในสิ่งที่น่าพึงปรารถนาด้วยโยนิโสมนสิการ ขณะนั้นเอง โลภะที่ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนจะโผล่ขึ้นมาแล้วบอกว่า ฉันต้องการ แล้วท่านก็เห็นเหตุปัจจัยที่ทำให้โลภะเกิดขึ้น ท่านจะรู้ว่า นี่ไม่ใช่ฉันที่ต้องการ ดังนั้นยิ่งท่านรู้จักใจมากเท่าไหร่ ท่านจะรู้จักกิเลสของท่านมากเท่านั้น ท่านจะรู้ว่า โลภะก็คือโลภะ โลภะไม่ใช่ของท่าน ถ้าหากท่านมองกิเลสว่าเป็นคนแปลกหน้า และรู้เหตุที่ทำให้มันเกิด เราจะเป็นผู้ฉลาดในการรู้วาระจิตตนเอง"

"เหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกฝนให้ฉลาดในการรู้วาระจิตของตนเอง เพื่อจะได้เห็นความแตกต่าง แยกระหว่างสิ่งที่ปรารถนากับตัวเรา หรือแยกกิเลสกับตัวตนของเราได้ สำหรับพระโสดาบันบุคคล และพระอริยบุคคลขั้นต้น ท่านละสักกายทิฐิได้แล้ว ท่านจะเข้าใจเป็นอย่างดี แล้วท่านก็จะไม่ยึดว่า โลภะนั้นเป็นท่าน ไม่ยึดว่าความโกรธเป็นของท่าน ไม่ยึดว่ามานะเป็นของท่าน ท่านจึงทุกข์น้อยลง ท่านอาจจะรู้สึกโกรธในบางครั้ง โลภในบางครั้ง เพราะท่านไม่สามารถกำจัดกิเลสออกไปได้ และเมื่อกิเลสโกรธขึ้นมา ท่านก็จะมองเห็นว่า กิเลสเป็นคนภายนอก ท่านจะเห็นว่า กิเลสมาทำร้ายท่าน และสำหรับปุถุชนทั่วไป เมื่อโลภะเกิดขึ้นมาในใจ ก็จะเข้าใจผิดว่า ฉันต้องการ

"ต่อเมื่อท่านเป็นผู้ฉลาดในการรู้วาระจิตของตน ท่านจะรู้ว่าไม่มีตน นี่คือการเดินทางสู่การค้นพบตนเอง และเมื่อเราเดินทางสายนี้ต่อไป เราจะสามารถแยกสองสิ่งนี้ออกไปได้ และนั่นคือการเดินทางไปสู่ความไม่มีตัวตน"
ท่านให้เรากลับมาใคร่ครวญว่า ชีวิตที่ผ่านมา เราทั้งหลายใช้การเดินทางอย่างไม่มีจุดสิ้นสุดกันมานานมากแล้ว

"อาตมามีความปรารถนาว่า เมื่อเราได้ศึกษาพุทธศาสนา ศึกษาคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เราจะใช้การเดินทางนี้ไปสู่ที่สิ้นสุด อาตมาเชื่อว่าเราได้เดินทางมามากมายในชีวิต อย่างที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ว่า สังสารวัฏ หาที่ตั้งต้นและจุดจบไม่ได้ ไม่เพียงชาตินี้เท่านั้น ชาติก่อนๆ ที่ผ่านมาในสังสารวัฏ เราก็ได้เดินทางไปอย่างหาที่สิ้นสุดไม่ได้ เพราะเหตุใด เราจึงเดินทางไปสู่ที่สิ้นสุดไม่ได้ เหตุใดเราจึงไม่สามารถกระทำถึงที่สุดแห่งการเดินทางให้เกิดขึ้น เพราะว่าเราเดินทางไปสู่การพอกพูนชื่อเสียง และไขว่คว้าหากามคุณ ซึ่งเป็นการเดินทางที่หาที่สุดไม่ได้ เหตุใดบุคคลทั้งหลายจึงไขว่คว้าหากามคุณเหล่านั้น เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เร้าใจ และดึงดูดใจ เราจึงไล่ตามไขว่คว้าให้ได้"


และที่เราไขว่คว้าหากามคุณ แล้วก็ยังเป็นทุกข์เพราะสิ่งนี้ บางครั้งอยากจะถอนตัวออกจากสิ่งนี้แต่ก็ทำไม่ได้ ทำไม
พระอาจารย์เรวตะให้เรากลับมาเดินทางเข้าไปในใจเรา แล้วสำรวจไปพร้อมๆ กับธรรมบรรยายของท่าน

"เพราะว่าการปฏิบัติกัมมัฏฐานนั้นไม่ได้ดึงดูดใจ ไม่เร้าใจ ทำให้เราไม่สามารถอยู่กับการเจริญสติ สมาธิภาวนาได้ เราทุกคนควรทราบธรรมชาติของใจ กิเลสของเราก็มีความพึงพอใจที่จะไล่หากามคุณอารมณ์ ไม่ใช่ตัวตนของเราที่ชอบ แต่เป็นเพราะกิเลสชอบ กิเลสนั้นเป็นแรงผลัก แล้วเราก็หลงทำตามมัน ถึงแม้เรารู้ว่ากัมมัฏฐานเป็นประโยชน์ แต่นิสัยที่เราพอกพูนไว้ในสังสารวัฏ ทำให้เราปฏิบัติกัมมัฏฐานได้ยาก และการที่เราไม่สามารถทำให้การเดินทางสิ้นสุดลงได้ เพราะกิเลสนั่นเอง"

เดินทางสู่อิสรภาพ


ท่านกล่าวว่า ถ้าเราไม่เห็นกิเลส เราก็ไม่สามารถหยุดการเดินทางในสังสารวัฏได้

"แม้ว่าเราจะได้เดินทางมามากมาย แต่อาตมาก็อยากให้เราเดินทางไปสู่เส้นทางหนึ่ง ซึ่งเราควรจะได้เดินอยู่ในเส้นทางนั้น เส้นทางนั้นคือ การเดินทางเพื่อการค้นพบตนเอง ท่านได้เดินทางเพื่อการค้นพบตนเองหรือยัง วันนี้ อาตมาอยากให้เราเดินทางสู่การค้นพบตนเอง นักวิจัยทั้งหลายได้ค้นพบสิ่งต่างๆ กันไป บางท่านค้นคว้าสัตว์บก สัตว์น้ำ และวิจัยอื่นๆ อีกมากมาย แต่การเดินทางของนักวิจัยนั้นก็หาจุดจบไม่ได้เหมือนกัน

"อาตมาอยากให้เราเป็นนักวิจัยว่า เราคือใคร และเราเป็นอะไร หากท่านรู้สิ่งต่างๆ มากมาย แต่ไม่รู้ว่า ท่านคือใคร ก็ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ ไม่สามารถไปสู่การเดินทางที่สิ้นสุดได้"
สิ่งที่พระอาจารย์เรวตะฝากคำถามไว้กับเรานั้นเป็นเรื่องสำคัญมากในชีวิต เพราะถ้าเราไม่ถามตัวเรา ชีวิตของเราจะไหลเลื่อนไปตามแรงผลักของกิเลสไปเรื่อยๆ จนอาจจะพลาดที่จะได้เดินทางสายนี้ในชาตินี้ ดังที่ท่านกล่าวว่า ก่อนที่เราจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเดินทางที่มีจุดจบ เราอาจจบซะเอง

"เพราะฉะนั้น อาตมาจึงอยากให้เราเดินทางไปสู่เส้นทางที่มีจุดจบ และนั่นคือการเดินทางสู่การค้นพบตนเอง เราจะต้องเป็นผู้ฉลาดในการรู้วาระจิตตนเอง สิ่งนี้จะช่วยให้เราเห็นกิเลสว่าไม่ใช่ตัวเราและเราจะสามารถหยุดการเดินทางในสังสารวัฏได้"
อยู่ที่ว่า เราอยากหยุดการเดินทางในสังสารวัฏหรือยัง