เมื่อลูกเป็น "อัจฉริยะ"

เมื่อลูกเป็น "อัจฉริยะ"

มีลูกเป็นอัจฉริยะ ใครๆ ก็อิจฉา แต่รู้ไหมว่า การดูแลเด็กกลุ่มนี้ไม่ง่าย โดยเฉพาะบนโจทย์ที่ว่า อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเจ้าตัวน้อย

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนสังคมโซเชียลตื่นเต้นกันยกใหญ่กับข่าวเด็กไทยไอคิวสูงจน “เมนซา อินเตอร์เนชันแนล” องค์กรที่รวบรวม “หัวกะทิ” จากทั่วโลกยังรับเข้าไว้เป็นสมาชิก 

พร้อมๆ กับยอดแชร์ถล่มทลาย ถ้อยคำยินดีที่ฝากไปถึงผู้ปกครองนั้น ทราบไหมว่า แม้กระทั่งพ่อแม่ของเด็กน้อยอายุ 4 ขวบดังกล่าวเอง ยังมึนๆ งงๆ เกี่ยวกับแนวทางการเลี้ยงดูว่า จะพาลูกน้อยไปในทางไหนดี

เพราะถึงแม้ผลการทดสอบจะบ่งชัดถึงความเป็นอัจฉริยะ แต่ทางไหนล่ะ? ที่จะเหมาะสมในการเสริมสร้างพัฒนาการให้ไปได้สุดทางพร้อมๆ กับโจทย์สำคัญนั่นคือ “ความสุข” ของอัจฉริยะตัวน้อยเจ้าของไอคิว 135

  • ไม่มีคำว่า “เพอร์เฟคต์”

สำหรับใครที่เห็นข่าวแล้วอยากพาลูกหลานไปวัดไอคิวบ้างนั้น ขอให้หยุดความคิดไปได้เลย เพราะโดยทั่วไป จิตแพทย์จะไม่แนะนำให้มีการวัดไอคิวให้กับเด็กหากไม่มีเหตุจำเป็น โดยเคสที่จัดให้มีการทำเทสต์ก็เนื่องจากปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นกับเด็กและจำเป็นต้องค้นหาถึงสาเหตุของพฤติกรรม

อย่างกรณี “น้องอุ้ม” เด็กหญิงวัย 4 ขวบที่เพิ่งเป็นข่าวไปเมื่อเร็วๆ นี้ สาเหตุที่ผู้ปกครองพาไปนั้นก็เนื่องจากน้องมีพฤติกรรมบางอย่างที่ผิดจากเด็กทั่วไป 

“เวลาน้องอยู่กับหนังสือ เขาจะมีสมาธิมาก เราเรียกยังไงก็เหมือนว่า เขาไม่ได้ยิน หรือบางครั้งถ้าเราชวนเขาไปวิ่งเล่น หรือให้ปิดหนังสือ เขาก็จะหงุดหงิดมาก นอกจากนี้เวลาเขาไปโรงเรียน เขาก็จะไปคุยเรื่องปลาที่มันยากๆ ให้เพื่อนฟัง แล้วเพื่อนเขาก็จะไม่รู้เรื่อง ก็ไม่คุยด้วย จนตอนหลังเขาเลยชอบไปอยู่กับคุณครู หรือไม่ก็นั่งคนเดียว” วีต์วรินท์ ทวียศ หรือ “ม๊าภู่” เล่าถึงสิ่งที่จับสังเกตได้จากลูกสาวตัวน้อย

“ตอนแรกเราก็คิดว่า เขาเป็นแค่เด็กหัวไวคนนึง เขาพูดคำแรกได้ตอน 10 เดือน เรียก ดาดา (พ่อ) พอขวบนึงเขาก็ได้ alphabet เขาเล่นแฟลชการ์ด ก็รู้จักตัวอักษร พอ 14 เดือนก็เริ่มหัดผสมคำง่ายๆ เช่น NO, GO แล้วพอ 18 เดือนก็เริ่มอ่านหนังสือง่ายๆ ได้ ส่วนใหญ่ก็เป็นเล่มที่เราเคยอ่านให้เขาฟัง"

สำหรับใครที่อยากพาลูกหลานไปวัดไอคิวบ้าง
ขอให้หยุดความคิดไปได้เลย
เพราะจิตแพทย์จะไม่แนะนำให้มีการวัดไอคิวให้กับเด็ก
หากไม่มีเหตุจำเป็น

เพราะคงไม่ใช่พฤติกรรมปกติของเด็กวัย 4 ขวบเศษสักเท่าไร ที่จะมานั่งขลุกอยู่กับหนังสือสารานุกรมสำหรับเด็ก(ภาษาอังกฤษ) เรียกไม่หัน และสนใจคุยแต่เรื่องปลา รู้ลึกตั้งแต่พฤติกรรมการหากิน วงจรชีวิตสัตว์ ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งชื่อปลาในอดีตกาล เจ้าตัวน้อยก็ยังสามารถเล่าได้เป็นฉากๆ แถมประกาศชัดว่า โตขึ้นอยากเป็น “นักชีววิทยาทางทะเล” 

แต่ในขณะที่เรื่องง่ายๆ อย่างเช่น การนำกระเป๋าไปวางในที่ที่จัดไว้ให้นั้น น้องกลับไม่ยอมทำเลยสักครั้ง

ในที่สุด พ่อแม่จึงตัดสินใจพาไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจดูว่า ลูกสาวตัวน้อยมีความผิดปกติตรงไหนหรือเปล่า

“เราก็เผื่อใจไว้นะว่า หรือเขาจะเป็นสมาธิสั้นมั้ย เพราะบางครั้งเขาจะไม่ฟังเราเลย หรือบางทีก็ขี้หงุดหงิดเกินไป แล้วพัฒนาการทางร่างกายเขาก็ไม่ค่อยทันเพื่อน เขาเริ่มเดิน เริ่มวิ่งได้ช้ากว่าเด็กคนอื่น หรือตอนนี้เพื่อนๆ วิ่งเล่น ปั่นจักรยานกันเก่งมาก แต่เขาก็จะยังช้าๆ อยู่ เราก็ห่วงเขา เลยตัดสินใจพาไปหาหมอ” ภควัฒน์ ทวียศ  หรือ “ป๊าเค” ร่วมเสริม

คำว่า “Gifted” ในภาษาอังกฤษอธิบายว่า
“Asynchronous development”
หรือ “พัฒนาการที่ไม่สมดุลกัน” 

เรื่องหนึ่งที่สำคัญและทุกคนควรเข้าใจให้ตรงกัน ก็คือ โอกาสที่เด็กอัจฉริยะจะมีความเพียบพร้อมนั้นมีน้อยมาก เมื่อเก่งด้านหนึ่งก็ย่อมมีข้อด้อยอีกด้านหนึ่ง ดังนั้น“ความเข้าใจ” จากผู้ใหญ่รอบตัว ทั้งครอบครัวรวมถึงคุณครูจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเด็กๆ กลุ่มนี้

เพราะจริงๆ แล้ว คำว่า “Gifted” ในภาษาอังกฤษอธิบายว่า “Asynchronous development” หรือ “พัฒนาการที่ไม่สมดุลกัน” หน้าที่ของผู้เลี้ยงดูจึงต้องช่วยสร้างจุดสมดุลให้แก่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อม ปรับพฤติกรรม หรือเสริมในส่วนที่เด็กยังอ่อน

  • หาเส้นทางที่เหมาะสม

หนึ่งในประเด็นที่ผู้ปกครองของเด็กอัจฉริยะพยายามหาคำตอบอย่างจริงจัง ก็คือ แล้วจะส่งเสริมหรือเลี้ยงดูเด็กไปทางไหน หรือ อย่างไรดี.. 

ในความเห็นของ ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ระบุว่า ตัวเลขไอคิวไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับความสามารถพิเศษที่เด็กมี ซึ่งโดยปกติแล้ว เด็กที่จัดเป็น “เด็กที่มีความสามารถพิเศษ” หรือ เด็ก Gifted นั้นมีอยู่สองระดับ ระดับแรก คือ เด็กที่มีความสามารถพิเศษซึ่งพบได้ทั่วไป จะมีอยู่ที่ราวๆ 3 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละสาขา (สติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษา ผู้นำ ศิลปะ ดนตรี และ กีฬา) และอีกกลุ่ม คือ เด็กที่มีความสามารถพิเศษในระดับ “อัจฉริยะ” ซึ่งกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 หมื่นคน

“บ้านเรามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีความสามารถพิเศษ แต่น่าเสียดายคือการศึกษาของไทยทำลายเรียบ เพราะมีลักษณะเหมือน ‘ฟาร์มไก่’ ไม่ว่าจะเก่งกว่าเพื่อนแค่ไหน เด็กก็ต้องเรียนเหมือนเพื่อน เขาก็เบื่อ ไม่สนใจที่จะเรียน จนเขากลายเป็นเด็กธรรมดา หรือร้ายกว่านั้น คือ กลายเป็นมีปัญหาเพราะผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ” ผศ.อุษณีย์ เอ่ย

พร้อมยกตัวอย่างในต่างประเทศที่มีความยืดหยุ่นทางการศึกษามากกว่าบ้านเรา โดยจัดการเรียนการสอนให้เด็กตามความสามารถ เช่นลูกของตัว ผศ.อุษณีย์ เอง สมัยย้ายไปเรียนที่อเมริกาใหม่ๆ เนื่องจากภาษาอังกฤษยังไม่แข็งแรงก็ต้องไปเรียนคลาสเดียวกับรุ่นน้อง ส่วนคณิตศาสตร์ที่ถนัดก็ได้เรียนพร้อมรุ่นพี่ เป็นต้น

“เรามีโรงเรียนสำหรับเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ เด็กที่มีสติปัญญาต่ำ แต่ทำไมเราถึงไม่สามารถมีโรงเรียนเพื่อเด็กที่มีความสามารถพิเศษได้ แต่ที่เวียดนามเขาทำถึงขนาดมีโรงเรียนที่เปิดสอนเฉพาะเด็กที่มีความสามารถพิเศษ โดยคัดมาตั้งแต่อนุบาล และจัดการเรียนการสอนโดยมหาวิทยาลัย มีอาจารย์มหาวิทยาลัยมาสอน

ส่วนญี่ปุ่นและสิงคโปร์เขาไปไกลกว่านั้น เขาไม่ได้เปิดโรงเรียนพิเศษ แต่เขาทำให้ทุกโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนเฉพาะบุคคลได้โดยเป็นการเรียนแบบผสมผสาน ขณะที่บ้านเรา มีเคสหนึ่ง เป็นเด็ก ป.5 เขาเก่งคณิตศาสตร์มากชนิดที่สามารถทำโจทย์ของคนเรียนปริญญาตรี เอกคณิตศาสตร์ได้เลย แต่ระบบการศึกษาของเราทำให้เรื่องจบลงที่เขากลายเป็นเด็กมีปัญหา” ดร.อุษณีย์ ยกตัวอย่าง

และสำทับว่า บ้านเรายังมีมุมมองที่ผิดเกี่ยวกับเด็กที่มีความสามารถพิเศษอยู่หลายเรื่อง อย่างเช่น การคิดว่า “ความสามารถพิเศษ” มีเพียงเรื่องวิชาการเท่านั้น แต่ความจริงยังหมายรวมถึงดนตรี กีฬา ศิลปะ หรือ อื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ สังคมมักคิดเอาเองว่า เด็กเก่งอยู่แล้ว น่าจะช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ในความจริง เด็กอัจฉริยะก็มีปัญหาไม่น้อยไปกว่าเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาเลย

“เราเคยมีเคสเด็ก 3 ขวบเขาสนใจเรื่องปรัชญา เขาตั้งคำถามสารพัด คนเราเกิดมาทำไม เมื่อไหร่สงครามจะเลิก ฯลฯ ซึ่งพอเขาตั้งคำถามกับเรื่องแบบนี้ มันก็ให้เขารู้สึกเครียด เด็กพวกนี้เจ็บปวดนะ แต่คนทั่วไปไม่รู้หรอกว่า เขาทุกข์ สังคมจะชอบคิดว่า เขาเก่ง เขาต้องช่วยตัวเองได้ นี่เป็นความเข้าใจผิดที่ใหญ่ที่สุด”

เด็กพวกนี้เจ็บปวดนะ แต่คนทั่วไปไม่รู้หรอกว่า เขาทุกข์
สังคมจะชอบคิดว่า เขาเก่ง เขาต้องช่วยตัวเองได้
นี่เป็นความเข้าใจผิดที่ใหญ่ที่สุด

เสริมอีกหนึ่งความเห็นโดย พ.ญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ สมาคมนักวิจัยไทยเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว (สวทด.) ที่ฝากคำแนะนำไปยังพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงคนรอบข้างว่า ไม่ควรคาดหวังหรือกดดันเด็กมากจนเกินไป 

“เด็กเขาก็เป็นมนุษย์คนนึง ไม่ว่าเขาจะฉลาดกว่าคนอื่น หรือเรียนไม่ทันคนอื่น ที่เราควรจะใส่ใจมากกว่าเรื่องไอคิวหรือความสามารถพิเศษ คือ จะทำอย่างไรให้เขาโตอย่างรอบด้าน เราควรเสริมในจุดที่เขายังอ่อน เพราะไม่มีใครสมบูรณ์ทุกอย่าง เขาเก่งเรื่องคณิตศาสตร์แต่อาจจะอ่อนทางการใช้ร่างกาย ยิ่งเด็กที่อ่านหนังสือเยอะ ก็มีโอกาสจะไม่แข็งแรงเท่าเด็กที่ออกมาวิ่งเล่น 

ส่วนคุณครูก็ควรเข้าใจเด็กด้วย เพราะความที่เขาเรียนรู้ได้ดีกว่าเด็กวัยเดียวกัน ทำให้เขาอาจจะเบื่อไม่สนใจสิ่งที่เพื่อนทำในห้องเรียน อย่างลูกของเพื่อนก็มีปัญหาแบบนี้ คือ เด็กอนุบาล เขาอ่านสารานุกรมได้แล้ว แต่พอไปโรงเรียน ครูให้เขานั่งลากเส้นต่อจุดเหมือนเพื่อน เขาก็เบื่อ ซึ่งกรณีนี้ คุณครูสามารถหากิจกรรมอื่นทดแทนเพื่อเป้าหมายเดียวกันได้” พ.ญ.จันทร์เพ็ญ ให้คำแนะนำ

พร้อมสำทับว่า เรื่องที่สำคัญที่สุด ก็คือ การช่วยประคับประคองให้เด็กโตไปอย่างสมบูรณ์มีเพื่อนฝูง เข้าสังคมได้ มีความฉลาดทางอารมณ์ ไม่คิดว่า ตัวเองฉลาดกว่าใคร

“ต้องดูแลเรื่องอีโก้ของเด็ก เพราะเมื่อไหร่ที่เขาเห็นว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น เขาก็จะไม่มีเพื่อน เข้ากับใครไม่ได้ ผู้ปกครองควรสร้างพื้นฐานการเข้าสังคมให้แก่เด็ก ด้วย”

เพราะไอคิวอย่างเดียวคงไม่พอ.. แต่ที่ต้องเน้นเสริมไม่แพ้กัน คือ ความสามารถทางร่างกาย รวมถึงทักษะการเป็นมนุษย์ที่เพื่อเตรียมพร้อมในวันที่เขาต้องโตไปเป็นผู้ใหญ่