ปิดตำนาน ‘ทอม & เจอร์รี่’

ปิดตำนาน ‘ทอม & เจอร์รี่’

สิ้นแล้วคนวาด ‘ทอม แอนด์ เจอร์รี่’ การ์ตูนที่เป็นมากกว่าการ์ตูน

การเสียชีวิตของชายชราชาวอเมริกัน วัย 95 ปี ชื่อ จีน ดีทช์ (Gene Deitch) กลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก ท่ามกลางความสงสัยของคนจำนวนไม่น้อยว่า

 

ผู้ชายคนนี้เป็นใคร? มีคุณูปการอย่างไร? ถึงมีผู้คนไว้อาลัยต่อการจากไปของเขามากขนาดนี้

 

แต่ถ้าบอกว่าชายชราท่านนี้คือคนวาดการ์ตูน ‘ทอม แอนด์ เจอร์รี่’ หลายคนคงสิ้นสงสัย เพราะการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่ความเป็นอมตะ โด่งดังข้ามยุคสมัย ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายส่งต่อมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเท่านั้น

 

แต่การ์ตูนที่มีเพียงแค่หนูกับแมวสองตัววิ่งไล่ตีกันนี้ ยังมีนัยสำคัญทางสังคมอยู่ไม่น้อย

 

88268547_1271069026415874_9143341480276918272_o

credit: face book Gene Deitch

 

จีน ดีทช์ มีชื่อเต็มว่า ยูจีน เมอร์ริล ดีทช์ (Eugene Merrill Deitch) เขาเกิดที่นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.. 1924 แต่ไปเติบโตที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เพราะครอบครัวของเขาย้ายไปอยู่ที่นั่นตอนเขาอายุได้ 5 ขวบ

 

หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยม Los Angeles High School ดีทช์ก็ไปทำงานเป็นช่างเขียนแบบให้กับบริษัทผลิตเครื่องบิน North American Aviation ก่อนจะย้ายไปเป็นช่างเขียนแบบให้กองทัพ และเข้ารับการฝึกเป็นนักบิน แต่เผอิญเป็นโรคปอดบวมเสียก่อนเลยต้องปลดประจำการในปี ค.. 1944

 

พอพ้นจากกองทัพ ดีทช์ก็กลับมาใช้ความถนัดเดิมเลี้ยงชีพอีกครั้ง โดยในช่วงระหว่างปี ค.. 1945-1951 เขาทำงานวาดภาพปก และภาพประกอบภายในเล่มให้กับนิตยสารเพลงแจ๊สชื่อ The Record Changer แล้วยังเคยทำงานเป็นผู้ช่วย และวิศวกรเสียง (audio engineer) ให้ Connie Converse นักร้องนักแต่งเพลงชาวอเมริกันยุคแรก ๆ ด้วย

 

GENE+DEITCH2

 

สำหรับการทำภาพยนตร์แอนิเมชั่นนั้น ต้องถือว่าดีทช์ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เริ่มจากการคว้ารางวัลเหรียญทองจาก New York Art Directors Club จากผลงานโฆษณา 2 ชิ้น ในช่วงปลายยุค 1940 กับช่วงต้นยุค 1950 ซึ่งปัจจุบันผลงานเหล่านี้ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ Museum of Modern Art หรือ MOMA อันโด่งดังในนิวยอร์ก

 

ดีทช์ทำงานอยู่ที่ UPA ซึ่งเป็นสตูดิโอแอนิเมชั่นชื่อดังในยุคนั้น ก่อนจะมาเป็นครีเอถีฟไดเร็กเตอร์ให้ Terrytoons (ภายใต้สังกัด 20th Century Fox) แล้วสร้างตัวการ์ตูนอย่าง Sidney the Elephant, Gaston Le Crayon, Clint Clobber และ Terr’ble Thompson ออกมาจนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Sidney’s Family Tree ในปี 1958

 

1946-Gene-working-at-UPA-600

จีน ดีทช์ สมัยทำงานอยู่ที่ UPA

credit: cartoonresearch.com

 

แล้วพอในปี 1961 เขาก็คว้ารางวัลออสการ์ สาขา Animated Short Film มาครองจนได้ จากการ์ตูนเรื่อง Munro โดยดีทช์กลายเป็นผู้ผลิตการ์ตูนนอกประเทศสหรัฐอเมริกาคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ไปครอง แล้วหลังจากนั้นก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงอีก 2 ครั้งในปี 1964 จากเรื่อง Here’s Nudnik กับ How to Avoid Friendship

 

 

ดีทช์ย้ายไปอยู่ที่ปรากในช่วงปลายปี 1959 ซึ่งตอนนั้นยังอยู่ในประเทศคอมมิวนิสต์ เชโกสโลวะเกีย โดยตอนแรกเขาตั้งใจว่าจะพักอยู่แค่ 10 วันเท่านั้น แต่พอได้เจอกับคนทำหนังแอนิเมชันชื่อ Zdenka Najmanova (ซึ่งต่อมากลายเป็นภรรยาของเขา) ดีทช์ก็ปักหลักฐานถาวรอยู่ที่นั่น

 

1963-GZ-leave-on-first-trip-to-West-600

Gene กับ Zdenka ในปี 1963

credit: cartoonresearch.com

 

84332798_1285209845001792_3525911315266666496_o

credit: face book Gene Deitch

 

แต่ถึงแม้จะทำงานอยู่หลังประเทศม่านเหล็ก ดีทช์ก็สามารถผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันออกมาได้ถึงกว่า 70 เรื่อง และซีรีส์ทางทีวีอีก 7 เรื่อง แล้วยังเขียนบันทึกความทรงจำเรื่องชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในปรากช่วงเผด็จการคอมมิวนิสต์ออกมาให้อ่านกันด้วย

 

ดีทช์มีความรักในกรุงปราก ที่ถึงแม้จะไม่ใช่ถิ่นกำเนิด แต่ก็เป็นถิ่นที่เขาอาศัยอยู่จนลมหายใจสุดท้ายเป็นอย่างมาก โดยเขาเคยบอกเอาไว้ว่า เจ้าหน้าที่ทางการเชโกฯ ไม่เคยเข้ามาแทรกแซงการทำงานเลยจนทำให้เขาสามารถผลิตผลงานออกมาได้มากมายขนาดนั้น

 

แม้ว่าจะมีครั้งหนึ่งที่หนังสั้นเรื่อง The Giants (Obri) ของเขาที่ออกฉายเมื่อปี 1969 จะถูกห้ามฉายในประเทศก็ตาม เนื่องจากมีการวิพากษณ์วิจารณ์การรุกรานของโซเวียตในปี 1968

 

อาจจะเป็นด้วยความสามารถทั้งเรื่องการวาดภาพ และการควบคุมเสียงนี่เองที่ทำให้ดีทช์สามารถสร้างหนังการ์ตูนแอนิเมชั่นที่มีคุณภาพขึ้นมา โดยนอกจาก ‘ทอม แอนด์ เจอร์รี่’ แล้ว ผลงานการ์ตูนอีกเรื่องหนึ่งของดีทช์ที่ยังคงความเป็นอมตะมาถึงปัจจุบันก็คือ ‘ป๊อปอาย’ ที่ทำให้เด็ก ๆ ทั่วโลกหันมากินผักโขมกัน เพราะอยากแข็งแรงเหมือนตัวการ์ตูนที่มีคาแร็กเตอร์เป็น กลาสีเรือกล้ามโต คาบไปป์ติดปาก

 

นักเขียนการ์ตูนในตำนานท่านนี้กำกับการ์ตูนแอนิเมชันเรื่อง ทอม แอนด์ เจอร์รี เอาไว้ทั้งสิ้น 13 ตอน รวมถึง ซีรีส์ Popeye the Sailor บางตอน

 

ในปี ค.. 2004 ดีทช์ได้รับรางวัลเกียรติยศ Winsor McCay Award ในฐานะที่อุทิศชีวิตเพื่อภาพยนตร์แอนิเมชั่นมาโดยตลอด และเจ้าตัวก็ได้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่าเป็นรางวัลที่เขาให้ค่ากับมันมากกว่ารางวัลออสการ์เสียอีก

 

จีน ดีทช์ เสียชีวิตที่อพาร์ทเมนต์ส่วนตัวในกรุงปรากเมื่อคืนวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา โดยสำนักพิมพ์ Petr Himmel ต้นสังกัดของนักวาดภาพดีกรีออสการ์รายนี้แถลงว่าเป็นการเสียชีวิตอย่างไม่คาดฝัน ซึ่งต้องรอรายละเอียดจากทางการกันต่อไปว่าเขาเสียชีวิตด้วยสาเหตุอะไร

 

สำหรับความอมตะในผลงานของจีน ดีทช์ เห็นได้จากการที่มีคนอาลัยต่อการจากไปของเขาทั่วโลก มีแฟน ๆ หลายคนใช้โซเชียลมีเดียเขียนถึงเขาว่า “เป็นผู้ทำให้วัยเด็กของพวกเขาเต็มไปด้วยความสนุกสนานบันเทิง”

 

80 ปี แมววิ่งไล่หนู

EV_maZXUwAAs6cz

 

ทอม แอนด์ เจอร์รี’ เป็นการ์ตูนที่ฉีกกฎอะไรหลาย ๆ อย่าง เพราะพล็อตเรื่องของมันไม่มีอะไรมากไปกว่าแมวตัวหนึ่ง (ทอม) รำคาญหนูจอมป่วนในบ้าน (เจอร์รี่) เลยหาทางจับตัวด้วยการเอากับดักมาวางไว้ โดยมีชีสเป็นตัวล่อ แต่เจ้าหนูตัวแสบก็สามารถเอาชีสออกไปกินโดยรอดจากกับดักได้ซะทุกครั้ง แถมเจ้าแมวยังถูกกับดักหนีบแทนจนต้องร้องจ๊ากออกมาด้วย

 

แต่น่าแปลกที่ว่าทำไมการ์ตูนพล็อตเดิม ๆ ที่คนดูต่างก็รู้อยู่แล้วว่ามันจะจบยังไง ถึงได้กลายเป็นการ์ตูนคลาสสิกที่อยู่ยั้งยืนยงมานานจนมีอายุครบ 80 ปีในปี 2563 นี่เอง

 

ทอม แอนด์ เจอร์รี่ เป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นจากอเมริกา ถือกำหนดขึ้นในปี ค.. 1940 โดย วิลเลียม ฮันนา (William Hanna) และโจเซฟ บาร์เบอรา (Joseph Barbera) แกนหลักของเรื่องอยู่ที่ความสัมพันธ์แบบ ‘ทั้งรักทั้งเกลียด’ (a love-hate relationship) ระหว่างเจ้าแมวทอม และเจ้าหนูเจอร์รี่

 

ฮันนากับบาร์เบอราสร้างการ์ตูนสั้นเรื่อง Tom and Jerry ให้กับ MGM เอาไว้ถึง 114 เรื่อง ในช่วงระหว่างปี 1940-1958 โดยในยุคแรกมันสามารถคว้ารางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นขนาดสั้น (Animated Short Film) มาครองถึง 7 ตัว รั้งอันดับหนึ่งร่วมกับ Silly Symphonies ของค่ายวอลท์ ดิสนีย์

 

แต่หลังจากที่ MGM ปิดสตูดิโอการ์ตูนลงในปี 1957 ก็มาถึงยุคของ จีน ดีทช์ ซึ่งเป็นยุคที่ 2 ของ ทอม แอนด์ เจอร์รี โดยทาง MGM ได้ไปติดต่อให้สตูดิโอ Rembrandt Films ของยุโรปมาผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องนี้ 13 เรื่อง ในช่วงระหว่างปี 1961-1962 โดยเป็นผลงานการกำกับของ จีน ดีทช์ โปรดิวซ์โดย วิลเลียม แอล. สไนเดอร์

 

PM_22649374

 

แล้วในยุคของดีทช์นี่เอง Tom and Jerry ก็ได้กลายเป็นซีรีส์ภาพยนตร์แอนิเมชั่นขนาดสั้นที่ทำรายได้สูงสุดในยุคนั้น โดยสามารถโค่น Looney Tunes ที่ครองแชมป์นี้มานานถึง 16 ปีลงได้

 

ดีทช์เป็นคนวาดตัวการ์ตูนเกือบทั้งหมดเอง ด้วยความช่วยเหลือเป็นบางครั้งจาก Larz Bourne และ Eli Bauer เขาเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่าตัวเองไม่ใช่แฟนของ ทอม แอนด์ เจอร์รีเลย แถมยังคิดว่าการ์ตูนเรื่องนี้ “รุนแรงโดยไม่จำเป็น” อีกด้วย

 

แต่หลังจากที่ได้รับมอบหมายให้ทำแอนิเมชั่นเรื่องนี้ ดีทช์ก็คิดได้ว่า นี่มันการ์ตูน “ไม่มีใครเขาคิดจริงจังเรื่องความรุนแรงในการ์ตูนกันหรอก” เพราะมันเป็นแค่การล้อ (parody) อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เราแบบเกินจริงมากไปหน่อยแค่นั้นเอง

 

เท่านั้นยังไม่พอ ดีทช์ยังมองการ์ตูนที่หลายคนคิดว่าไร้สาระด้วยสายตาอันลึกซึ้งว่า มันมี ‘รากเหง้า’ มาจากพระคัมภีร์ไบเบิลอีกด้วย โดยดีทช์นำเอาความขัดแย้งระหว่างทอม-เจอร์รี่ ไปเปรียบกับความสัมพันธ์ของ เดวิด-โกไลแอธ แล้วบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้คนชอบการ์ตูนเรื่องนี้โดยไม่รู้สาเหตุ

 

นั่นเป็นจุดที่ทำให้เรารู้สึกมีความเชื่อมโยงกับการ์ตูนพวกนี้ : คนตัวเล็กที่สามารถเอาชนะ (หรืออย่างน้อยก็เอาชีวิตรอด) จากคนตัวใหญ่กว่าเพื่อที่จะต่อสู้กันไปอีกวันได้”

 

EV0-yRTXQAABfnK

EV_maugUYAAZzEi

 

ทีมของดีทช์/สไนเดอร์ ทำการ์ตูนทอม แอนด์ เจอร์รี่ กันภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด รวมไปถึงงบประมาณที่ได้มาแค่ 10,000 เหรียญเท่านั้น แถมพวกเขายังได้ดูแอนิเมชั่นต้นฉบับน้อยมาก แต่ผลกลับกลายเป็นว่ามันทำให้ทอม แอนด์ เจอร์รี่ ยุคนี้ถูกมองว่ามีความเหมือนจริง (surrealist) มากที่สุด เมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นของ ฮันนา-บาร์เบอรา ทั้งภาพแบ็คกราวด์เรียบง่ายสไตล์อาร์ตเดโค บทพูดก็เป็นแบบงึมงำๆ ไม่ชัดเจน ขณะที่เพลงประกอบก็ไม่เยอะ

 

เท่านั้นยังไม่พอ ทอม แอนด์ เจอร์รี เวอร์ชั่นของดีทช์ยังชอบใช้ฉากที่มีความ ‘เอ็กโซติก’ อย่าง บนเรือล่าวาฬในศตวรรษที่ 19, ป่าลึกในไนโรบี, อะโครโปลิสของกรีกโบราณ, ดินแดนคาวบอย ซึ่งช่วยเสริมให้การ์ตูนมีความลึกลับ น่าค้นหามากขึ้นไปอีก

 

 

เกร็ดที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ด้วยความที่ดีทช์ผลิต ทอม แอนด์ เจอร์รี่ ในประเทศหลังม่านเหล็กอย่าง เชโกสโลวะเกียซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ที่ตั้งของสตูดิโอถูกเก็บไว้เป็นความลับตลอดจนกระทั่งหนังสั้นทั้ง 13 เรื่องเสร็จสมบูรณ์

 

แต่ที่น่าเสียดายคือ ทอม แอนด์ เจอร์รี่ เวอร์ชั่นของดีทช์ ไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์แบบเดียวกับที่เวอร์ชั่นของ ฮันนา-บาร์เบอราได้รับเลย แถมยังถูกวิพากษณ์วิจารณ์ว่าเป็นเวอร์ชั่นที่แย่ที่สุดด้วยซ้ำ ซึ่งเรื่องนี้ดีทช์กล่าวแบบถ่อมตัวว่าน่าจะเป็นเพราะทีมของเขาขาดประสบการณ์แล้วก็งบน้อย

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะถูกวิจารณ์อย่างหนัก แต่แฟน ๆ บางส่วนได้เขียนจดหมายไปหาดีทช์แล้วบอกว่า ทอม แอนด์ เจอร์รี่ เวอร์ชั่นของเขานั้นเป็นเวอร์ชั่นที่พวกเขาชอบมากที่สุดเพราะความเรียล โดยผลงานของดีทช์ถูกนำมาออกผลิตเป็นแผ่นดีวีดีอีกออกขายเมื่อปี 2015 ในชื่อ Tom and Jerry: The Gene Deitch Collection ให้ผู้ที่สนใจไปหาซื้อมาดูกันได้

 

ไม่มีสิ่งไหนสมบูรณ์แบบ’ วลีนี้ก็ใช้กับการ์ตูนแอนิเมชั่นที่ถูกยกให้เป็นตำนานแบบ ‘ทอม แอนด์ เจอร์รี่’ ได้เช่นกัน

 

โดยนอกจากจะถูกวิจารณ์เรื่องบ่มเพาะความก้าวร้าวรุนแรงให้กับเด็กที่ดูแล้ว การ์ตูนแมววิ่งไล่จับหนูเรื่องนี้ยังถูกมองว่า ‘เหยียดสีผิว’ ด้วย จนถึงขนาดตอนที่ Amazon นำออกฉายทางแพลทฟอร์มสตรีมมิงของตัวเองนั้น ได้มีการใส่คำเตือนเอาไว้ด้วยว่า “ทอม แอนด์ เจอรี่ มีความอคติทางเชื้อชาติและสีผิว ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปรกติในสังคมอเมริกัน”

 

สำหรับต้นตอของประเด็นการเหยียดผิวนี้ก็มาจากการให้ภาพตัวละคร Mammy Two Shoes คนใช้หญิงอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่เป็นเจ้าของแมวทอมว่าเป็นคนจน และมีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยจะดีนักนั่นเอง

 

tom-jerry-racist

 

อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการกระทำของอเมซอน อาทิ Frank Furedi ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมของอังกฤษที่บอกว่า การกระทำของอเมซอนเป็นการ ‘เซ็นเซอร์ทางวัฒนธรรม’ ที่จะทำให้วัฒนธรรมการดำรงชีวิตของผู้คนยุคนั้นที่สะท้อนออกมาผ่านทางการ์ตูนแบบ ทอม แอนด์ เจอร์รี่ ถูกกำจัดหายไป

 

เช่นเดียวกับ Jerry Beck นักประวัติศาสตร์การ์ตูน ที่ให้สัมภาษณ์ The Daily Beast เอาไว้ว่า อเมเซอนดูเหมือนจะลืมไปว่า ทอม แอนด์ เจอร์รี่ ถูกสร้างมาให้ผู้ใหญ่ดูพอ ๆ กับเด็ก ๆ ดู

 

"อเมซอนควรจะฉาย ทอม แอนด์ เจอร์รี ท่ามกลางหนังคลาสสิกในแบบที่มีบริบททางวัฒนธรรมอยู่ด้วย ส่วนคำเตือนที่มีนั้นก็เพื่อบอกพ่อแม่ผู้ปกครองว่าการ์ตูนเรื่องนี้อาจมีสิ่งต่าง ๆ อย่าง การสูบบุหรี่ หรือแม่บ้านผิวดำที่พวกเขาต้องอธิบายให้เด็ก ๆ เข้าใจรวมอยู่ด้วย”

 

ถึงแม้ว่า จีน ดีทช์ จะจากไปแล้ว แต่การ์ตูน ทอม แอนด์ เจอร์รี่ จะยังอยู่เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับพวกเราต่อไป ตราบใดที่มันยังสะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจลึก ๆ ของพวกเราออกมาได้เหมือนกับที่ทำมาแล้วตลอด 80 ปีที่ผ่านมา