‘อ่าข่าโฮย้า’ โรงพยาบาลบนดอยที่ใช้ภูมิปัญญารักษาคนและรักษาป่า
เมื่อคนอ่าข่าใช้งานวิจัยรื้อฟื้นการรักษาสุขภาพตามวิถีดั้งเดิมจนพัฒนามาเป็นโรงพยาบาลทางเลือกที่ไม่เลือกผู้ป่วย
...น้ำสมุนไพรที่ประกอบด้วยพืชพื้นบ้านหลายชนิด สรรพคุณคือช่วยให้เลือดหมุนเวียนได้ดี ถูกนำมาเสิร์ฟระหว่างรอการอบสมุนไพรตามภูมิปัญญาดั้งเดิม...
ที่ศูนย์การแพทย์อ่าข่า ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ไม่ได้มีเฉพาะคนท้องถิ่นเท่านั้นที่มารับบริการดูแลสุขภาพตามแนวธรรมชาติบำบัด แต่บางคนเดินทางไกลมาจากกรุงเทพฯ ด้วยความหวังว่าจะใช้ศาสตร์ทางเลือกนี้รักษาอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง
ไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก หรือ ‘อาทู่ ปอแฉ่’ หนุ่มใหญ่ชาวอ่าข่า ผู้ดูแลศูนย์การแพทย์แห่งนี้ เล่าว่าที่ผ่านมาอ่าข่าใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอานามัย ได้แก่ การใช้สมุนไพร แร่ธาตุต่าง ๆ การทำกายภาพบำบัดในการรักษาโรค ร่วมกับการใช้พิธีกรรมที่เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมารักษาตนเองและครอบครัว แม้จะมีโรงพยาบาลและการแพทย์สมัยใหม่จำนวนมาก แต่ด้วยสภาพพื้นที่อยู่อาศัยตั้งอยู่บนดอยสูง ห่างไกลจากตัวเมือง ทำให้ต้องใช้เวลาในการเดินทางเข้ามารักษา ประกอบกับชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ดังนั้น ถึงจะได้รับการรักษาโรคฟรีตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พักอาศัย และค่าอาหาร ก็ล้วนเป็นภาระหนักที่จำเป็นต้องแบกรับ
นอกจากนี้โรคบางอย่างยังต้องใช้เวลาในการรักษาแรมเดือน ซึ่งผู้ป่วยไม่สามารถอยู่ในโรงพยาบาลนานๆ ได้ จึงมักกลับไปให้พ่อหมอในเผ่าช่วยรักษา ทั้งวิธีกินยาสมุนไพร บีบนวด เช็ด เป่า ใช้ตะขอสับเลือดเสียออก ทำพิธีกรรม ตามแต่อาการของโรค ปรากฏว่าผู้ป่วยหนักหลายราย เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคกระดูก หายเป็นปกติได้ ทว่าปัญหาที่พบคือ หมออ่าข่าเหลือน้อยเต็มที นับตั้งแต่ปี 2547 อาทู่จึงได้อาศัยกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นรวมบรวมหมอชนเผ่า ตลอดจนองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
“หากไม่มีการสืบทอดและอนุรักษ์ไว้ วิธีการรักษาแบบดั้งเดิมของอ่าข่าอาจสูญหายไปได้ เพราะกระแสโลกาภิวัตน์ที่รุกเข้ามา ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจศึกษาและรับมรดกทางภูมิปัญญาทางด้านนี้ แต่หันเหวิถีการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาภายนอกมากขึ้น”
- ปกป้องก่อนเจ็บ
เช่นเดียวกับแนวคิดพื้นฐานในการดูแลสุขภาพ อ่าข่าเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดคือ ‘การปกป้องก่อนเจ็บ’ คนอ่าข่ามีแนวคิดเรื่องอาหารเป็นยาไม่ต่างจากหลายๆ กลุ่มชาติพันธุ์ พืชผักสมุนไพรจะอยู่ในเมนูอาหารในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อหลายอย่างที่สืบทอดกันมา
“เช่นเด็กอายุไม่ถึง 20 ห้ามกินลาบดิบ ถ้ากินจะมีเลือดออก ซึ่งก็หมายถึงจะเป็นโรค อันนี้คือตัวอย่างในแง่การปกป้องสุขภาพของคนอ่าข่า” อาทู่ กล่าวถึงหลักคิดเรื่องสุขภาพของอ่าข่า ซึ่งกลายมาเป็นงานวิจัยที่เขาเป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับชุมชนเป้าหมาย 15 ชุมชน ในชื่อ ‘การพัฒนาระบบสุขภาวะวิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์อ่าข่า จังหวัดเชียงราย’ โดยได้รับการสนับสนุนจาก ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก หรือ อาทู่ ปอแฉ่ หัวหน้าทีมวิจัย'การพัฒนาระบบสุขภาวะวิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์อ่าข่า จังหวัดเชียงราย’
สำหรับประเด็นสำคัญในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ทีมวิจัยได้แบ่งการศึกษาและเก็บข้อมูลออกเป็น 5 ประเด็น คือ การสูญเสียพืชสมุนไพรและความรู้การรักษาพื้นบ้าน, ระบบการแพทย์หมอพื้นบ้านอ่าข่า, การบริโภคอาหารเสี่ยงสุขภาพร่างกาย, ยาเสพติด และการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว
“ปัจจุบัน ชนเผ่ามีการใช้สมุนไพรน้อยลง โดยคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 40 ปีลงมาแทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้สมุนไพร หรือไม่สนใจ ถือเป็นสัญญาณเตือนว่าภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมากำลังสูญเสีย พึ่งการรักษากับการแพทย์ตะวันตกและการแพทย์สมัยใหม่ เกิดปัญหาด้านระบบสุขภาพที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณมาดูแล ทั้งที่การเจ็บป่วยบางโรค บางอาการ สามารถรักษาด้วยภูมิปัญญาและสมุนไพรที่ปลูกเองและที่ขึ้นตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายกับการเดินทางไกลไปโรงพยาบาล”
ที่สำคัญคือรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปได้ส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยมากขึ้น อาทู่เล่าว่า เมื่อก่อนคนอ่าข่าไม่รู้จักตลาด ไม่รู้จักร้านสะดวกซื้อ อาหารที่บริโภคจะได้มาจากสภาพแวดล้อมในพื้นที่ แต่ปัจจุบันแทบทุกคนใช้เงินเพื่อซื้อหาอาหาร ทุกชุมชนมีรถจำหน่ายอาหารที่บรรจุถุงพลาสติกไปถึงหน้าบ้าน เมื่อไม่ทำอาหารกินแบบเดิม ก็ไม่ต้องเข้าป่าไปหา ไม่เน้นพืชผักสมุนไพร ซึ่งไม่เพียงมีผลในเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ ยังส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร เช่น ข้าวไม่พอกิน ขาดเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมเพาะปลูก ที่ดินเสื่อมเพราะใช้สารเคมี มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นด้วย
ทีมวิจัยชาวบ้านจึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรมีการรื้อฟื้นภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพตามวิถีอ่าข่าขึ้นมา ทั้งรูปแบบการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ องค์ความรู้ และ ‘หมออ่าข่า’ ผู้ที่จะมาสานต่อภารกิจในการรักษาตามวิถีดั้งเดิม
“ในอดีตชนเผ่าอ่าข่าไม่เคยรู้จักโรงพยาบาล สถานีอนามัย เนื่องจากเราอาศัยอยู่ในป่า พึ่งหลักธรรมชาติมาหลายศตวรรษ อ่าข่าสามารถเอาตัวรอดสืบสานชีวิตมาได้จนถึงปัจจุบัน เพราะมีพืชสมุนไพร มีภูมิปัญญาในการใช้ส่วนต่างๆ ของพืช ที่มีผลทางเคมีมาช่วยรักษาด้วยรูปแบบต่างๆ อาทิ การต้มดื่ม หรือการกินสด การบดทา และการอบ จากส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพร ทั้งใบ ดอก ลำต้น รากและผล ความอุดมสมบูรณ์ของป่าและภูมิปัญญา ทำให้เผ่าพันธุ์สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้”
- ดูแลป่า รักษาสุขภาพ
ห้องสี่เหลี่ยมขนาดพอดีตัวคละคลุ้งไปด้วยควัน ชายชาวอ่าข่าวัย 50 เศษ ในชุดชนเผ่ากำลังเตรียมสมุนไพรบางอย่างเพื่อให้ผู้ป่วยได้อบตัวในแบบที่บางคนเรียกว่า ‘สปาอ่าข่า’
“พ่อผมเป็นหมอ เห็นพ่อรักษามาตั้งแต่จำความได้ แล้วก็ได้ช่วยพ่อรักษาอยู่บ้างก็เลยได้รับวิชามา การเป็นหมออ่าข่าต้องเรียนรู้หลายอย่าง เช่น การรักษาแบบบรรเทาแต่ละอย่าง เด็กไม่สบาย เป็นแผล เป็นไข้ หกล้ม โดนมีดบาด ต้องเรียนรู้การใช้ยาสมุนไพร มีทั้งการเป่า การอบ ที่เดี๋ยวนี้เขาเรียกสปา เราก็มีมานานแล้ว ช่วยคลายพิษ รักษาโรค อบสมุนไพรแล้วจะตัวเบา” ธนชัย เยอบอ หมอพื้นบ้านอ่าข่า เล่าว่ากว่าจะได้รับการยอมรับให้รักษาคนได้ ต้องผ่านการฝึกฝนและทดสอบจากพ่อจนเชื่อว่ามีความรู้มากพอ มีการทำพิธีและถือศีลด้วย ซึ่งแรกๆ เขาได้ใช้ความรู้ที่ฝึกฝนมากับคนในครอบครัวก่อน จนมั่นใจจึงรักษาให้คนอื่น
สำหรับโรคที่หมออ่าข่ามีความชำนาญมักจะเป็นโรคที่พบได้บ่อยในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ปวดท้อง ขาหัก กระดูกแตก กระดูกร้าว เป็นต้น
“ผมถนัดรักษาด้วยยาสมุนไพร ยาแต่ละชนิดอยู่ใกล้บ้านเราเลย บางครั้งก็ใช้สิ่งมีชีวิตด้วย พวกปู ขนเม่น หนังช้าง อะไรอย่างนี้ บางครั้งก็เป่าคาถา ปวดหัวตัวร้อนต้องกินยาสมุนไพร เป็นใบไม้ชนิดหนึ่ง รสขม ต้องไปหาตามห้วย” พ่อหมอบอก ก่อนจะย้ำถึงหลักการสำคัญว่า หมออ่าข่าถ้ารักษาใครแล้วต้องรักษาทีละคนจนหายแล้วถึงไปรักษาคนอื่นได้ และระหว่างการรักษานั้นห้ามหมอเดินทางไปไหน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อคนป่วย
น่าเสียดายที่ทุกวันนี้หนุ่มสาวอ่าข่าไม่สนใจวิถีแบบดั้งเดิม ส่วนใหญ่เลือกจะไปโรงพยาบาลในเมืองมากกว่า การรื้อฟื้นภูมิปัญญาในการรักษา จึงต้องมาพร้อมกับการสร้างความเชื่อมั่นและความภูมิใจในอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนเอง ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า ปัญหาสำคัญคือการขาดผู้สืบสานการแพทย์พื้นบ้าน ทั้งด้านพืชสมุนไพร กายภาพบำบัด พิธีกรรมบำบัด จิตบำบัด และโภชนาการบำบัด องค์ความรู้หมอพื้นบ้านไม่ได้รับการถ่ายทอด กระบวนการรักษาปกป้องดูแลแบบพื้นบ้านที่ใช้ภูมิปัญญาเดิมสูญหาย ความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับด้านการแพทย์ลดความสำคัญลงไป เช่น การรักษาพื้นที่ป่าเพื่อเป็นแหล่งสมุนไพร และแหล่งอาหารของคนและสัตว์ป่า
“การที่ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและความหลากหลายลดลงมาก ย่อมส่งกระทบต่อระบบการแพทย์พื้นบ้านชนเผ่าอ่าข่า”
ดังนั้นโครงการวิจัยจึงได้กำหนดภารกิจเป็น 3 ระยะคือ ระยะแรก เน้นกระบวนการรวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาการดูแลรักษาสุขภาพของชนเผ่าอ่าข่า พร้อมทั้งจัดทำเอกสารตำราสืบสานถ่ายทอดสู่ชนเผ่าและผู้สนใจ ระยะที่สอง เน้นกระบวนการสืบสานถ่ายทอดองค์ความรู้และการรักษาสุขภาพ โดยร่วมมือกับหน่วยงานสถาบันการศึกษา สาธารณสุข องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ชุมชน องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และองค์กรเอกชน เพื่อปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมาย ระยะที่สาม เน้นการวิจัยพัฒนาเชิงเศรษฐกิจสู่เครือข่ายหมอชุมชนอ่าข่า โดยใช้พืชสมุนไพรสร้างรายได้ และนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การอยู่ร่วมกันระหว่างธรรมชาติและมนุษย์บนพื้นที่สูงอย่างมั่นคง
- โรงพยาบาลทางเลือก
อาคารไม้เรียบง่ายตามแบบบ้านอ่าข่า เป็นที่รวมของภูมิปัญญาที่ยังหลงเหลือและเก็บรวบรวมไว้ได้ โดยมีหมอพื้นบ้านทำหน้าที่รักษาตามความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา นี่คือรูปธรรมที่ได้จากการวิจัยยาวนานกว่า 10 ปี ปัจจุบันศูนย์การแพทย์อ่าข่าเปิดให้บริการ 3 แห่ง คือ อำเภอเมือง อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอแม่สรวย
“หลังจากที่เราเปิดศูนย์นี้ พบว่านอกจากจากคนอ่าข่าแล้ว คนพื้นเมืองที่เจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่าง ก็เดินทางเข้าไปรักษากับพ่อหมอในชนเผ่าด้วย ก็เลยมีแนวคิดที่จะสร้างโรงพยาบาลการแพทย์อาข่าขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยทั้งในชนเผ่าและผู้ป่วยทั่วไป” อาทู่ เล่าถึงเป้าหมายถัดไป
ความตั้งใจที่จะสร้างทางเลือกในการดูแลสุขภาพนี้ ดำเนินไปพร้อมๆ กับการสนับสนุนให้มีการสืบสานภูมิปัญญาด้านการรักษาทั้งในโรงเรียนและชุมชน ส่งเสริมให้ปลูกพืชสมุนไพรไว้ใช้ภายในบ้าน ให้ความรู้เบื้องต้นเพื่อที่จะสามารถรักษาตัวเอง หรือปฐมพยาบาลได้อย่างถูกวิธีก่อนถึงมือหมอ รวมถึงจัดทำหลักสูตรวิชาเกี่ยวกับหมอชนเผ่าและโรคต่างๆ สอนในโรงเรียน และที่ถือเป็นความหวังสูงสุดก็คือ การยกระดับศูนย์บริการทางการแพทย์อาข่าเป็นโรงพยาบาลซึ่งได้นับก้าวแรกไปแล้ว
"เราส่งเยาวชนอ่าข่าเข้าไปศึกษาในวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และมีเยาวชนอ่าข่าไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน 5 คน คิดว่าน่าจะจบการศึกษาในปี 2563 ถือเป็นการยกระดับความรู้ชนเผ่าอ่าข่า ให้สามารถสอบใบผู้ประกอบโรคศิลป์ได้ เพื่อนำไปสู่การสร้างโรงพยาบาลอ่าข่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้า
อาทู่ยอบรับว่านี่คือภารกิจที่ท้าทาย ปัจจุบันเริ่มผลิตหมออ่าข่ารุ่นใหม่ในหมู่บ้านแล้วหลายคน แต่ละคนจะมีความสนใจภูมิปัญญาการรักษาในแต่ละด้าน ส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวที่เคยเป็นหมอมาก่อน หมอรุ่นเก่าเหล่านั้นจะเป็นเหมือนครูภูมิปัญญา ถ่ายทอดความรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ส่วนเด็กอ่าข่ารุ่นใหม่ก็ส่งไปเรียนทั้งแพทย์แผนไทยและการแพทย์ในจีน เพื่อนำมาบูรณาการการรักษาให้แก้ปัญหาสุขภาพได้ครอบคลุมและได้ผลมากที่สุด
“การทำงานด้านสุขภาพ ผมมองว่าจีนมีพัฒนาการเรื่องการแพทย์พื้นบ้านสูงมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรามี ความรู้บางอย่างอาจจะบูรณาการได้ เดิมคนอ่าข่าอาจใช้สมุนไพรในการฆ่าเชื้อ แต่เดี๋ยวนี้เราก็ใช้แอลกอฮอล์ร่วมด้วย คือข้างหน้าเทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปมาก การมีความรู้เรื่องการแพทย์จากจีนน่าจะเอื้อกับเราเยอะ แล้วอีกอย่างกลุ่มอ่าข่าในไทยที่อพยพมาจากจีนก็มีกลุ่มหนึ่งที่มีอาการโรคบางอย่าง เป็นโรคชาแบบหนึ่ง ซึ่งผมอยากให้มีการวิจัย เพราะไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่จะเป็นเฉพาะกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้จากจีน เราเชื่อว่าจะมาบูรณาการในกระบวนการขับเคลื่อนโรงพยาบาลอ่าข่าได้”
สำหรับหมออ่าข่า อย่างหมอธนชัยบอกว่าการเกิดขึ้นของ ‘อ่าข่าโฮย้า’ หรือโรงพยาบาลอ่าข่าคือความภาคภูมิใจ “...ผมดีใจ อยากให้มีโรงพยาบาลอ่าข่าเร็วๆ จะได้รักษา จะได้สอนคนรุ่นต่อไป”
ในอนาคตอันใกล้เมื่อโรงพยาบาลแห่งนี้เกิดขึ้น นอกจากจะเป็นหลักประกันด้านสุขภาพให้กับคนอ่าข่าและชุมชนในพื้นที่แล้ว ยังเป็นทางเลือกสำหรับคนทั่วไปที่สนใจการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม การรักษาด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน