‘อบจ.สงขลา’ สร้างการเข้าถึงบริการ ‘ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ-ผู้มีภาวะพึ่งพิง’

‘อบจ.สงขลา’ สร้างการเข้าถึงบริการ ‘ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ-ผู้มีภาวะพึ่งพิง’

สปสช. ลงพื้นที่ศูนย์ซ่อมสร้างสุข-ศูนย์สร้างสร้างสุข-ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ จ.สงขลา ผ่านกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ-ผู้ที่มีภาวะพึ่งพึงเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา  นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. และ นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษากลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิ สปสช. ลงพื้นศูนย์ซ่อมสร้างสุข ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ และศูนย์สร้างสุขชุมชนในพื้นที่ จ.สงขลา เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสงขลา ที่อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ 

นายเอก ขวัญพรหม ผู้จัดการศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชน วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ เปิดเผยว่า สำหรับศูนย์ซ่อมสร้างสุขฯ นั้นเปิดทำการได้ประมาณ 3 ปี เพื่อดูแลเรื่องการซ่อมกายอุปกรณ์ เช่น วีลแชร์ เตียงนอน เบาะรองนั่ง หรือนาน ฯลฯ

‘อบจ.สงขลา’ สร้างการเข้าถึงบริการ ‘ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ-ผู้มีภาวะพึ่งพิง’

สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้ป่วยติดเตียงโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อม แต่จะผู้รับบริการอาจจะต้องจ่ายค่าวัสดุเอง ซึ่งที่ผ่านมามีการให้บริการประมาณเดือนละ 40-50 เคสหลากหลายระดับความยาก ง่าย ขณะนี้มีการเปิดบริการไปแล้ว 3 แห่ง และกำลังดำเนินการเปิดอีก 1 แห่ง เพื่อเป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการให้แก่ประชาชน

 

  • เปิดโอกาสสูงวัย ผู้พิการ ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเข้าถึงบริการ

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ปฏิบัติงานภายในศูนย์ซ่อมฯ นั้นจะเป็นการจ้างงานผู้พิการทั้งหมด ที่ผ่านการอบรม และได้รับการว่าจ้างผ่านบริษัทเอกชนเพื่อมาปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์ซ่อมฯ โดยศูนย์ซ่อมฯ มีการทำ MOU ร่วมกับ 14 ภาคีเครือข่าย รวมไปถึงสมาคมคนพิการจังหวัดสงขลา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิการที่มีความสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานดังกล่าวด้วยเช่นกัน 

นางกนกชล พูนธีราทร นักกายภาพบำบัดชำนาญการ ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ อบจ. สงขลา กล่าวว่า ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ อบจ.สงขลา เปิดดำเนินการมาแล้ว 4 ปี โดยในช่วงแรกจะเป็นการให้บริการผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่ในภายหลังก็มีการขยายเพิ่มในกลุ่มที่นอกเหนือจากผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน

โดยจะเป็นการให้บริการกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย ซึ่งในอนาคตก็จะมีการลงพื้นที่เพื่อติดตามเยี่ยมบ้านสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ 

‘อบจ.สงขลา’ สร้างการเข้าถึงบริการ ‘ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ-ผู้มีภาวะพึ่งพิง’

อย่างไรก็ดี การให้บริการในศูนย์บริบาลฯ จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับโรงพยาบาลทั่วไปที่ให้การรักษา ส่งเสริมฟื้นฟู และป้องกันให้แก่ประชาชน ขณะเดียวกันหากเป็นงบประมาณที่ได้จากกองทุนฟื้นฟูฯ ก็จะเน้นการดูแลไปที่ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอาส หรือผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง

ที่ผ่านมาก็ได้มีทำ MOU ร่วมกับโรงพยาบาลสงขลา หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ เพื่อรับผู้ป่วยที่มีการส่งต่อเข้ามาทำการรักษา รวมไปถึงได้รับการช่วยเหลือจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการค้นหาผู้ป่วยเพื่อเข้ามารับบริการด้วยเช่นกัน 

 

  • ศูนย์ซ่อมสร้างสุข ศูนย์สร้างสุขชุมชน ดูแลผู้มาใช้บริการ

นายจักรธร สุริแสง นายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง กล่าวว่า สำหรับศูนย์สร้างสุข (ศูนย์ฟื้นฟูในชุมชน) ต.เขารูปช้างนั้น ได้รับเงินสนับสนุนจากงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) โดยจะมีการเขียนโครงการเพื่อยื่นของบประมาณร่วมสบทบกับงบประมาณจากเทศบาล เช่น ซื้อเตียง วีลแชร์ ฯลฯ เพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่ ต.เขารูปช้าง เช่น การทำกายภาพบำบัด ฯลฯ

โดยมีการทำ MOU ร่วมกับโรงพยาบาลสงขลา เพื่อให้ประชาชนที่ต้องไปใช้บริการในโรงพยาบาลเข้ามาทำการฟื้นฟูในศูนย์สร้างสุขเพื่อลดระยะการคอคอย 

นอกจากนี้ ทางเทศบาลก็ได้มีการเปิดกรอบ และจ้างนักกายภาพบำบัดจำนวน 2 คน เพื่อให้บริการผู้ป่วยที่ศูนย์สร้างสุขฯ โดยใช้งบประมาณจากเทศบาล รวมไปถึงมีบริการรถรับ-ส่ง และสร้างแอปพลิเคชัน KRC Care เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้ามารับบริการได้ง่ายชึ้น 

‘อบจ.สงขลา’ สร้างการเข้าถึงบริการ ‘ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ-ผู้มีภาวะพึ่งพิง’

นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า สำหรับศูนย์สร้างสุขชุมชนเป็นศูนย์ที่ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน และมีการเปิดให้ยืม คืน หรือรับบริจาคกายอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเท่าเทียม

โดยมีการวางเป้าหมายศูนย์สร้างสุขไว้ที่ 19 แห่ง ใน 16 อำเภอ ซึ่งในปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 11 แห่ง และอยู่ในระหว่างดำเนินการเปิดอีก 8 แห่ง ขณะเดียวกันในอนาคตก็จะมีการให้เปิดให้้ผู้สูงอายุที่จะเข้ามาใช้บริการที่ศูนย์บริบาลสามารถค้างคืนได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ซ่อมฯ ที่ให้บริการเรื่องการยืม คืน และรับบริจาคกายอุปกรณ์ โดยเป็นการจ้างงานผู้พิการโดยมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือด้วย ซึ่งในการจัดตั้งแต่ละศูนย์นั้น อบจ.สงขลา จะมีงบประมาณให้แห่งละ 5 แสนบาท รวมไปถึงยังมีในส่วนของการปรับที่อยู่อาศัย ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนฟื้นฟูฯ

โดยมีการกำหนดค่าใช้จ่ายเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ปรับเล็กน้อยจะอยู่ที่ไม่เกิน 2 หมื่นบาท ปรับปานกลางไม่เกิน 4 หมื่นบาท และปรับมากที่สุดจะอยู่ที่ 6 หมื่นบาท โดยการปรับที่อยู่อาศัยจะเป็นการปรับทั่วไป เช่น ทางลาด ห้องน้ำ ห้องนอน ฯลฯ เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้กลุ่มเป้าหมายสามารถดำรงชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น

‘อบจ.สงขลา’ สร้างการเข้าถึงบริการ ‘ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ-ผู้มีภาวะพึ่งพิง’

ทั้งนี้ ในการปรับที่อยู่อาศัยนั้นจะมีคณะกรรมการท้องถิ่นเป็นผู้ประเมิน และจะส่งข้อมูลเข้ามาที่คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อพิจารณาอีกครั้ง หากต้องมีการปรับสภาพบ้านใหม่จริงๆ ก็มีการพิจารณาเป็นพิเศษ 

“อยากจะให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการ เพราะปัจจุบันคนที่ไม่ค่อยมีเงิน ไม่ค่อยได้เข้าถึงเท่าไหร่ อบจ.ของเราก็จะพยายามขยายไปทุกอำเภอ เพราะจังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่มีพื้นกว้างคนที่อยู่แถบชายขอบก็จะได้เข้าถึงบริการตรงนี้ด้วย เพื่อที่จะให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายไพเจน ระบุ 

‘อบจ.สงขลา’ สร้างการเข้าถึงบริการ ‘ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ-ผู้มีภาวะพึ่งพิง’

  • อบจ.สงขลา จุดเด่ยจัดระบบการดูแลเกือบครบวงจร

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ที่ อบจ.สงขลามีจุดเด่นคือการลงทุนในการจัดระบบการดูแลเกือบครบวงจร โดยเฉพาะการดูแลผุ้สูงอายุ และผู้พิการ มีศูนย์บริบาลผู้สูงอายุที่ออกแบบเพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ โดยมีการจัดบริการที่หลากหลาย มีนักกายบำบัด และมีอุปกรณ์ที่ให้บริการได้จริง และยังมีบริการด้ายแพทย์แผนไทยที่ให้บริการนวด อบ ประคบ ฯลฯ รวมไปถึงยังมีศูนย์ซ่อมอุปกรณ์สำหรับผู้พิการอยู่ในพื้นที่ 4 มุมเมือง เพื่อให้ผู้พิการสามารถนำอุปกรณ์เข้ามาซ่อมเพื่อบำรุงรักษาได้ 

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าการดำเนินการนั้นมีการบันทึกข้อมูลผู้ป่วย ฉะนั้น สปสช. ก็จะต้องเข้ามาบูรณาการข้อมูลดังกล่าวซึ่งส่วนหนึ่งจะใช้สำหรับการเบิกจ่ายค่าบริการ เพราะจะเห็นได้ว่างบประมาณที่ใช้ส่วนมากจะเป็นงบประมาณจาก อบจ. อย่างเดียว ซึ่งความเป็นจริงระบบของ สปสช. มีระบบการสนับสนุนเมื่อมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการอยู่แล้ว 

นอกจากนี้ ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลไม่ได้ซับซ้อน และทันสมัย มีการจัดเก็บข้อมูลเข้าระบบคลาวด์ ฉะนั้นหน่วยงานต่างๆ ก็สามาถนำมาใช้ได้ ซึ่ง สปสช. เองก็จะนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้สำหรับการเบิกจ่ายเพื่อให้ค่าบริการตกถึงหน่วยบริการให้สามารถดำเนินกิจกรรม หรือดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

จริงๆ ตรงนี้เป็นอีกรูปแบบที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในด้านสาธารณสุข จะเห็นว่าหลายส่วนพยายามที่จะหาประเด็นสุขภาพมาทำ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า อบจ. หรือท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อมในการจัดที่เป็นลักษณะของโรงพยาบาล แต่จะจัดเป็นศูนย์ในลักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ หรือผู้สูงอายุที่เหมาะมาก และเข้าไปเติมเต็มได้ เพราะข้อจำกัดของโรงพยาบาลอาจจะทำแบบนี้ไม่ได้ แม้จะมีบริการกายภาพบำบัดแต่จำนวนคนไข้ที่ต้องดูแลอาจจะแออัดตรงนั้นเป็นจำนวนมาก สู้เปิดเป็นศูนย์แบบนี้ จริงๆ คิดว่าบทบาทแบบนี้เหมาะนพ.จเด็จ กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand