สธ.เปิดเวทีเรียนรู้พัฒนาระบบบริการสุขภาพ พร้อมสู่ระบบบริการวิถีใหม่

สธ.เปิดเวทีเรียนรู้พัฒนาระบบบริการสุขภาพ พร้อมสู่ระบบบริการวิถีใหม่

สธ.จัดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan Sharing) ภายใต้แนวคิด “ทศวรรษการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ก้าวไปด้วยกันเพื่อสร้างสรรค์ระบบบริการวิถีใหม่ พร้อมมอบรางวัลผลงานดีเด่นด้านวิชาการและนวัตกรรม 19 สาขา

วันที่ 22 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กทม. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan Sharing) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภายใต้แนวคิด “ทศวรรษการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ก้าวไปด้วยกันเพื่อสร้างสรรค์ระบบบริการวิถีใหม่ (A Decade of Service Plan : Moving Together in the next normal)”

พร้อมมอบรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น ต้นแบบการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 19 สาขา โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจากทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัย ราชวิทยาลัยฯ สมาคมวิชาชีพต่างๆ และบุคลากรสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมแบบ Onsite 1,300 คน และทางระบบออนไลน์

 

  • พัฒนาระบบบริการสุขภาพ สู่บริการวิถีใหม่

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขดำเนินนโยบายปฏิรูประบบสุขภาพและพัฒนารูปแบบการจัดบริการสุขภาพ (Service Plan) มาอย่างต่อเนื่อง ถึงขณะนี้เป็นเวลา 1 ทศวรรษ มีการเชื่อมโยงการจัดบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติภูมิ ตติยภูมิ และศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูงของเครือข่ายบริการในแต่ละเขตสุขภาพ
เน้นการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ วิชาการ และระบบบริการที่ตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพที่สำคัญของพื้นที่ในสาขาต่างๆ

ปัจจุบันโรงพยาบาลในสังกัดแต่ละเขตสุขภาพ มีผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน สามารถดูลประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียงได้อย่างครอบคลุม ลดการเดินทางไปรักษานอกพื้นที่ ลดการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ช่วยเพิ่มการเข้าถึงและลดความเหลื่อมล้ำในการได้รับบริการขั้นสูงต่างๆ อาทิ การผ่าตัดหัวใจ การฉายรังสี การปลูกถ่ายอวัยวะ ทำให้ลดอัตราป่วย อัตราตาย ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย รวมถึงค่าใช้จ่ายของประชาชนลงได้ 

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังได้นำระบบการแพทย์วิถีใหม่ (New Normal Medical Care) มาใช้ในการบริหารจัดการโดยมุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างสูงสุด เกิดนวัตกรรมบริการใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งผลงานเด่นของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สามารถนำใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้ยั่งยืนต่อไปได้

 

  • มอบผลงานวิชาการดีเด่นระบบบริการสุขภาพ 19 สาขา

โดยมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการทั้งในรูปแบบโปสเตอร์ นิทรรศการ และการนำเนอด้วยวาจา รวมทั้งหมด 458 เรื่อง ผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผลงานวิชาการและนวัตกรรมดีเด่น (Best practice) จะได้รับรางวัลและนำไปเป็นต้นแบบให้กับเขตสุขภาพอื่น ๆ นำไปปรับใช้ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพต่อไป 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อให้ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของสังคมและประชากร ตลอดจนความต้องการด้านสุขภาพของประเทศได้ทันท่วงที มีกรอบการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในรูปแบบเขตสุขภาพ สร้างความเชื่อมโยงในภาพของเครือข่ายบริการทุกระดับ สามารถรองรับการส่งต่อ ประชาชนเข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม

โดยระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) 19 สาขา ประกอบด้วย 1.โรคหัวใจ 2.โรคมะเร็ง 3.อุบัติเหตุและฉุกเฉิน 4.ทารกแรกเกิด 5.สุขภาพจิตและสารเสพติด 6.แม่และเด็ก 7.ระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพอำเภอ 8.สุขภาพช่องปาก 9.ไต 10.ตา 11.โรคไม่ติดต่อ

12.แพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน 13.การรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ 14.การใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ 15.การดูแลระยะเปลี่ยนผ่านผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลันและการดูแลแบบประคับประคอง 16.ศัลยกรรม 17.อายุรกรรม 18.ออร์โธปีดิกส์ และ 19.การใช้กัญชาทางการแพทย์