วัคซีน-ยา-รักษา-ระบบเฝ้าระวัง เมื่อโควิด-19 ไม่เป็นโรคติดต่ออันตราย

วัคซีน-ยา-รักษา-ระบบเฝ้าระวัง เมื่อโควิด-19 ไม่เป็นโรคติดต่ออันตราย

ตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 ปรับ “โควิด-19"จาก “โรคติดต่ออันตราย”เป็น “โรคติดต่อเฝ้าระวัง” จึงต้องมีการปรับระบบบริหารจัดการทั้งกลไกเฝ้าระวัง การป้องกัน และระบบบริการรักษาพยาบาลให้สอดคล้องสถานการณ์ ที่ไม่ได้เป็นแบบภาวะฉุกเฉินหรือการระบาดใหญ่ของโรคที่ต้องใช้ทรัพยากรพิเศษ

   ปัจจุบันประเทศไทย กำหนดโรคติดต่ออันตราย 14 โรค รวมโควิด-19อาทิ  โรคซาร์ส  โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โรคเมอร์ส วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ และโรคไข้ทรพิษ เป็นต้น ส่วนโรคติดต่อต้องเฝ้าระวังมี 56 โรค อาทิ ไข้เลือดออก ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ กามโรค ไข้ปวดข้อยุงลาย โดยฝีดาษวานรเป็นลำดับล่าสุด และโควิด-19จะเป็นลำดับที่ 57 

กลไกลเฝ้าระวังโรค 
        นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) อธิบายว่า จะมีการรายงานจากรพ.ต่างๆที่เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังโรคทุกวัน  ซึ่งโรคติดต่ออันตรายจะกำหนดให้ต้องรายงานทุก 3 ชั่วโมง  ซึ่งเดิมทีโควิด-19มีความเหมาะสมเพราะทุกรายต้องการสอบสวนและควบคุมโรคไม่ให้ไปแพร่โรค แต่สถานการณ์โรคปัจจุบัน โควิด-19ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องรายงานทุก 3 ชั่วโมงแล้ว ดังนั้น เมื่อปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ก็จะมีการรายงานเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก อาจจะเป็นรายวัน  แต่อย่างน้อยไม่เกิน 7 วัน จะมีการสะสมตัวเลขเรื่อยๆทำให้เห็นแนวโน้มของปัญหาได้เช่นเดียวกัน

        การเฝ้าระวังและเตือนภัย ก็จะใช้วิธีการเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ หรือ ไข้เลือดออก โดย มีการประมวลว่าตัวเลขที่ควรจะมีในพื้นที่นั้น ช่วงเวลานั้น เช่น ใน 1 สัปดาห์ควรมีจำนวนเท่าไหร่ เมื่อไหร่ที่เกินกว่าค่าที่คำนวณไว้ จะเป็นการบอกว่าสถานการณ์ผิดปกติไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น ก็จะมีการบอกเตือนสังคมว่า ตอนนี้ต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อจัดการกับสถานการณ์โรคที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นรวดเร็วในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันโควิด-19ก็ไม่ได้จัดการเป็นรายวัน เป็นรายสัปดาห์ก็น่าจะเพียงพอ เพราะว่าสถานการณ์สามารถควบคุมได้ ดูจากเตียง ยา เวชภัณฑ์

        “การบอกล่วงหน้าว่า 1 ต.ค.2565 จะปรับโควิด-19 ไปสู่การดูแลด้วยกลไกปกติ เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังก็น่าจะมีความเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง หากพิจารณาในวัตถุประสงค์ของการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ จะรายงานแบบโรคติดต่ออันตรายหรือโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง สำหรับโควิด-19 ณ เวลานี้ ไม่ได้มีข้อดี หรือข้อด้อยต่างกัน แต่ช่วยเจ้าหน้าที่บริหารกาารดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น เป็นการค่อยเฟดดาวน์จากภาวะเร่งด่วนที่ต้องใช้ทรัพยากรพิเศษมาเป็นใช้ทรัพยากรปกติ”นพ.โสภณกล่าว 
    การป้องกันโรค-วัคซีน 

         การป้องกันโรค โดยเฉพาะด้วยการให้วัคซีนนั้น  แนวโน้มการให้วัคซีนโควิด-19 คงเป็นวัคซีนประจำปี เหมือนไข้หวัดใหญ่ อาจจะพิจารณาจัดสรรให้ฟรีกับกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงหรือกลุ่มที่พิจารณาว่ามีความจำเป็นเฉพาะ โดยวัคซีนที่เตรียมไว้ก็น่าจะเพียงพอสำหรับคนที่ต้องการฉีดเป็นเข็มกระตุ้นประจำปี  ซึ่งหากคาดการร์เทียบเคียงกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ราวปีละ 10 ล้านโดส เป็นรัฐจัดให้ฟรี 5 ล้านโดส และเอกชนจัดหาเอง 5 ล้านโดส 

       ดังนั้น  วัคซีนโควิด-19 ก็น่าจะใช้ต่อปีในปริมาณที่ใกล้เคียงวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ราว 10 ล้านโดส แต่ในปีหน้ามีวัคซีนที่จัดหาไว้มากกว่านั้น เป็นวัคซีนที่มีทำสัญญาจัดซื้อในปี 2565 ทยอยส่งมอบช่วงปลายปี มีอายุใช้งาน 12 เดือนก็จะใช้สำหรับปีหน้าด้วย ที่สำคัญ หากบริษัทผู้ผลิตทำวัคซีนรุ่นใหม่ออกมา ในสัญญาก็สามารถปรับเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ได้ 

       “หากคำนวณว่าคนที่ควรฉีดได้เข็มกระตุ้น 1 ครั้ง คาดว่าจำนวน 10 ล้านโดส คิดเป็นราว 20 %ของประชากรไทย  วัคซีนที่มีการเตรียมการไว้และความต้องการฉีดน่าจะใกล้เคียงกัน แต่หากมีความจำเป็นก็สามารถสั่งเพิ่มได้ และตลาดวัคซีนในตอนนี้ มีซัพพลายมากกว่าดีมานด์ ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่ซัพพลายน้อยกว่าดีมานด์” นพ.โสภณกล่าว 

          ในส่วนข้อปฏิบัติของประชาชน นพ.โสภณ กล่าวว่า ปฏิบัติเหมือนการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ถ้ารู้ว่าตรงไหนมีความเสี่ยง ใครคือคนที่กำลังป่วยอยู่ก็ต้องดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อไปยังคนอื่น ถ้ายังไม่ป่วยก็ต้องป้องกันตนเอง และพยายามประเมินความเสี่ยง เช่น รับวัคซีนแล้ว รู้ว่าคนทั่วไปไม่ควรอาการหนัก และเมื่อป่วยก็เข้ารับการรักษาพยาบาลตามเหมาะสม เช่น หยุดงาน แต่ถ้ายังไม่ได้ฉีดวัคซีน ก็ต้องรู้ว่ามีโอกาสเสี่ยงอาการรุนแรง ก็ต้องไปพบแพทย์เร็ว

         “โรคๆนึงจะน่ากลัวในช่วงแรก เมื่อเวลาผ่านไป เราจัดการกับมัน เชื้อก็ปรับเข้าหาเรา เราก็มีภูมิคุ้มกันปรับไปหามัน”นพ.โสภณกล่าว 

       แนวทางการให้ยา

           พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวว่า  รพ.ประเมินความเสี่ยงว่าเป็นกลุ่ม 608 หรือไม่ หากไม่มีความเสี่ยงให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก(OPSI) กักตัวที่บ้าน ผู้ป่วยจะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มไม่มีอาการ แยกกักที่บ้านได้ไม่ต้องกินยาเลยก็หายได้ ดังนั้น กลุ่มนี้จะไม่ให้ยาต้านไวรัส แต่หากมีไข้ แล้วต้องกินยาก็จะพิจารณาให้เป็นยาฟ้าทะลายโจร 2.กลุ่มอาการน้อย เช่น ไอเจ็บคอ อัตราหายใจ 20 ครั้งต่อนาที และไม่มีปัจจัยเสี่ยง ดูแลที่บ้านได้ พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งหากให้ใน 4 วันแรกมีทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ไม่แย่ลง

         3.กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง 608 และมีอาการเล็กน้อย ปอดอักเสบแต่ไม่ต้องให้ออกซิเจน สามารถดูแลที่บ้าน หรือรักษาในรพ. ต้องให้ยาต้านไวรัสที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ตา มอาการของผู้ป่วยและปริมาณยาที่มีในรพ. เช่น โมลนูพิราเวียร์ แพกซโลวิด ฟาวิพิราเวียร์ หรือเรมเดสซิเวียร์ ซึ่งจะต้องให้ตามไกด์ไลน์ที่กำหนด และ 4.กลุ่มปอดอักเสบ มีไข้สูง ไอ ออกซิเจนปลายนิ้วมือต่ำกว่า 94 %ต้องรักษาในรพ.จะให้ยาเรมเดซิเวียร์ที่มีผลศึกษาว่าให้ผลดีมาก โดยเป็นยาฉีดที่ต้องให้ในรพ.เท่านั้น

        “โรคนี้เกิดจากการฝอยละอองที่ทำให้เกิดการติดเชื้อต่อได้ เมื่อโรคเป็นแบบเดิม แนวทางวินิจฉัยโรคก็จะเป็นแบบเดิม แต่วิธีการได้ยาก็จะปรับตามสถานการณ์ แต่ขอว่าอย่าไปซื้อยาตามอินเทอร์เน็ตมากินเอง เพราะอาจเกิดปัญหาที่ยิ่งแย่กว่าเดิม”พญ.นฤมลกล่าว 

      ระบบบริการรักษาพยาบาล  

         การเข้ารับบริการรักษาพยาบาล  ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการฟรีได้เช่นเดิม  ตามสถานพยาบาลที่มีสิทธิทั้งบัตรทอง สวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม  เป็นการปรับระบบเหมือนกับการเข้ารับการักษาโรคอื่น
        ส่วนระบบบริการพิเศษที่เคยมีการจัดตั้งขึ้นกรณีพิเศษเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดใหญ่จะมีการยกเลิก อย่างเช่น ฮอสปิเทล(Hospitel)  และ Hotel Isolation นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์  อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)  กล่าวว่า  ขณะนี้มีการพิจารณายกเลิกระบบ Hospitel  และ Hotel Isolation  เบื้องต้นคาดว่าจะยกเลิกวันที่ 1 ก.ย.2565  ซึ่งกำลังดำเนินการและเสนอต่อท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) เพื่อออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขต่อไป