"อนุทิน"เผยรมว.สธ.มาเลเซียสนใจนำ กัญชา-กระท่อมใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

"อนุทิน"เผยรมว.สธ.มาเลเซียสนใจนำ กัญชา-กระท่อมใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

รองนายกฯไทยเผยรมว.สธ.มาเลเซียสนใจนำ กัญชา-กระท่อมใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เตรียมศึกษาดูงานของไทยระหว่าง ระหว่างประชุมรมว.สธ.เอเปค ขณะที่ “อนุทิน”ฟุ้งหลังไทยปลอดล็อกพ้นยาเสพติด ผู้เข้าถึงกัญชาแล้วต้องมารับการรักษาพยาบาลในรพ.ของรัฐลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

  เมื่อวันที่  15 ส.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข(รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลัง H.E.Dato Jojie Sarnuel เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย เข้าพบว่า เป็นการหารือเพื่อเตรียมการการเยือนประเทศไทยของรมว.สาธารณสุข ประเทศมาเลเซีย ที่จะมาเข้าร่วมการประชุมรมว.สธ.เอเป ซึ่งก่อนหน้านี้ระหว่างการประชุมใหญ่องค์การอนามัยโลก(WHO)ได้มีการหารือทวิภาคี โดยท่านได้แจ้งว่าอยากมาศึกษาว่ากระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ไทยมีการบริหารจัดการนโยบายกัญชาทางการแพทย์อย่างไร  เนื่องจากสธ.มาเลเซียกำลังพิจารณาดำเนินการเรื่องการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกระท่อมด้วย และมีการตั้งเป็นเป้าหมายว่าเป็นการนำพืชสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ 

          นายอนุทิน กล่าวอีกว่า สธ.ไทยวางแผนเตรียมการจะนำเข้าเยี่ยมชมอุตสาหกรรมกัญชา การปลูกกัญชาให้ได้คุณภาพช่อดอกที่ดีในการนำมาทำสารสกัดเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และจะมีการหารือเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายว่าเมื่อดำเนินการนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์นั้น ประเทศไทยพบปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้าง  เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ซึ่งประเทศมาเลเซียกำลังอยู่ในระหว่างการร่างกฎหมายกัญชาเช่นกัน

      “ถ้าประเทศไทยและมาเลซียร่วมกันสนับสนุนให้พืชกัญชาสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้มากที่สุด เท่ากับมีประเทศเพื่อนบ้านที่มีกฎหมายยาเสพติดแรงกว่าไทยมาก ยังเชื่อว่าถ้านำไปใช้ในทางที่ถูก นำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ น่าจะเกิดประโยนช์กับประเทศ ตรงกับเจตนารมย์ของประเทศไทยและไม่สนับสนุนเรื่องการใช้ในทางสันทนาการ สูบเสพไม่ได้ สิ่งที่ห้ามก็จะเป็นแนวเดียวประเทศไทย ก็คงมาขอดูด้วยว่าไทยมีข้อจำกัดตรงไหนที่ไทยไม่ให้ใช้ เพราะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ”นายอนุทินกล่าว 

          ผู้สื่อข่าวถามว่าประเทศไทยมีการถอดบทเรียนถึงปัญหา อุปสรรคในการดำเนินนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์อย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า การนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ ไปสูบเสพไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชงนั้น คณะกรรมาธิการจะพิจารณาสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้าย ก่อนนำเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎร ก่อนส่งเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา หากไม่มีอะไรก็ตั้งเป้าให้เสร็จโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้สธ.มีประกาศที่นำมาใช้ในการป้องกันการใช้ในทางที่ผิดทั้งประกาศกรมอนามัยเรื่องกลิ่นควันกัญชาเป็นเหตุรำคาญ และประกาศเรื่องสมุนไพรควบคุม

      ถามต่อว่าปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดมา 2 เดือน สธ.มีการเฝ้าระวังผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร  นายอนุทิน กล่าวว่า รายงานผู้ที่เข้าถึงกัญชาแล้วต้องมารับการรักษาพยาบาลในรพ.ของรัฐ จำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่าคนเริ่มเข้าใจเพิ่มมากขึ้น  และหันไปใช้ในทางที่ถูกมากขึ้น จากนี้ไปแพทย์ก็กล้าที่จะสั่งใช้ยากัญชากับผู้ป่วยที่สมควรได้รับไม่ต้องหลบซ่อนเหมือนเมื่อก่อน ผู้ใช้ยากัญชาก็ไม่ต้องถูกตรวจค้น หรือดำเนินคดี ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย  แพทย์ทางเลือกก็สามารถใช้กัญชามารักษาผู้ป่วยได้ตามหลักวิชาชีพ วิชาการ  จึงมีจำนวนผู้เดือดร้อนจากการใช้กัญชาทางการแพทย์ลดลงมาก

       “ส่วนผู้ที่สูบเสพกัญชาในทางที่ไม่ถูกต้อง สูบในพื้นที่สาธารณะ เย้ยกฎหมาย  ท้าทายกฎหมาย  มีสิทธิ์ถูกดำเนินคดีถ้าก่อให้เกิดความรำคาญ”นายอนุทินกล่าว 

     ด้านนพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ช่อดอกกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุม ซึ่งจะกำหนดว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ แต่ไม่ได้นำกลับเข้าเป็นยาเสพติดอีกเพราะปลดล็อคแล้ว การควบคุมน่าจะได้ประมาณ 70- 80 % เพื่อรอร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชงมีผล ทั้งนี้ ในวันที่ 16 ส.ค. นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ที่มีปลัดสธ.เป็นประธาน หากที่ประชุมเห็นชอบก็จะเสนอให้รมว.สธ.ลงนามต่อไป ส่วนเรื่องของอำนาจในการจับกุมต่างๆ ยังกำหนดให้เจ้าพนักงานตามกฎหมาย ซึ่งในต่างจังหวัดคือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) คือผู้ได้รับมอบอำนาจ ใน กทม.ก็เป็นอธิบดี เป็นผู้ชี้เป้าหมายว่าแบบใดคือการกระทำผิด แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดำเนินการต่อ เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ 
       อนึ่ง  จากฐานข้อมูล การบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศ ของกระทรวงสาธารณสุข ข้อมูล ปี 2565 ณ วันที่ 10 ก.ค. 2565 ในส่วนของผู้ป่วยกัญชา  ปี 2561 จำนวน  13,838 ราย ปี  2562 จำนวน 18,180 ราย ปี 2563 จำนวน 10,766 ราย ปี  2564 จำนวน 7,609 ราย และปี 2565 จำนวน 3,364 ราย