รู้จัก "ปลานกแก้ว" สีสันแห่งท้องทะเล ปลาอนุรักษ์ จับผิดกฎหมาย

รู้จัก "ปลานกแก้ว" สีสันแห่งท้องทะเล ปลาอนุรักษ์ จับผิดกฎหมาย

จากกรณีที่ เพจ “หมอแล็บแพนด้า” ได้โพสต์ชายชาวต่างชาติได้มีการโพสต์คลิปวีดีโอในแอปพลิเคชัน TikTok ขณะกำลังจับ "ปลานกแก้ว" ซึ่งถูกระบุว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

โดยทางเพจได้ระบุข้อความว่า “มีคนแจ้งเข้ามาเยอะเลยครับ ชาวต่างชาติโพสต์ติ๊กต็อกจับปลานกแก้วในบ้านเราเป็นพวงเลย เอาไงดี” 

  • “ปลานกแก้ว สีสันแห่งทะเล ปลาผู้พิทักษ์และดูแลปะการัง”

ขณะเดียวกันในโลกทวิตเตอร์มีการติดแฮชแท็ก #ฝรั่งจับปลานกแก้ว ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1  เพื่อเป็นการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการทางกฏหมาย เนื่องจากปลานกแก้ว ถือเป็นปลาที่มีความสำคัญอย่างมาในระบบนิเวศน์ทางท้องทะเล

นอกจากจะมีความผิดทางกฎหมาย เนื่องจากจับปลาในสถานที่อุทยานแห่งชาติแล้ว ยังจับปลานกแก้ว ซึ่งเป็นปลาอนุรักษ์ของไทย

"ปลานกแก้ว" (Parrotfish) เป็นปลาทะเลขนาดกลางชนิดหนึ่ง มีเกล็ดขนาดใหญ่ จะงอยมีปากยืดหดได้ ปากคล้ายนกแก้ว (เป็นที่มาของชื่อปลานกแก้ว) เนื่องจากปลานกแก้วมีรูปร่าง ลักษณะและสีสันสวยงาม จึงมีผู้นิยมจับมาดูเล่นและนำมาเป็นอาหาร ทำให้ประชากรปลานกแก้วลดลง ส่งผลกระทบระบบนิเวศโดยรวมของทะเลบริเวณนั้นก็จะเสียสมดุลไปอย่างมาก ปะการังตายมากขึ้น ฟื้นตัวช้า และเมื่อเกิดการฟอกสีเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ก็จะฟื้นตัวยากหรือตายไปอย่างถาวร

 จึงทำให้ ปลานกแก้ว เป็นสัตว์ทะเลที่ต้องอนุรักษ์  และมีการรณรงค์ให้หยุดกินปลานกแก้ว เนื่องจากพบว่า ปลานกแก้วทุกตัวมาจากการประมงที่ผิดกฎหมาย เพราะปลานกแก้วมีถิ่นอาศัยอยู่ในแนวปะการัง และแนวปะการังเกือบทั้งหมดในประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ชาวเน็ตจี้ให้เอาผิด นทท.ต่างชาติ โชว์คลิปดำน้ำยิงปลานกแก้ว

                      กรมอุทยานฯ สั่งตรวจสอบคลิปต่างชาติจับ “ปลานกแก้ว” เร่งดำเนินคดีตามกฎหมาย

                     'วราวุธ' สั่งล่าตัวนักท่องเที่ยวจับปลานกแก้วในเขตอุทยานแห่งชาติ ย้ำถ้าจับได้ต้องเนรเทศสถานเดียว

 

  • รู้จัก "ปลานกแก้ว" เปลี่ยนสีเปลี่ยนเพศตลอดช่วงชีวิต

"ปลานกแก้ว" เป็นปลาทะเลกระดูกแข็งในวงศ์ Scaridae ในอันดับปลากะพง (Perciformes)

ลักษณะของปลานกแก้ว

เป็นปลาที่มีขนาดโตเต็มที่มีประมาณ 30-70 เซนติเมตร มีลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับปลาในวงศ์ปลานกขุนทอง (Labridae)

อาศัยอยู่ตามแนวปะการังเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในน่านน้ำไทยพบได้ในฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน 

พบมากกว่า 20 ชนิด เป็นปลาที่มีฟันแหลมคมคล้าย ๆ จะงอยของนกแก้วอันเป็นที่มาของชื่อเรียก จะงอยปากยืดหดได้ 

เกล็ดมีขนาดใหญ่ เส้นข้างลำตัวขาดตอน ครีบหางกลมมนหรือตัดตรง เป็นปลาที่กินฟองน้ำ, ปะการังหรือสาหร่ายเป็นอาหาร บ่อยครั้งจะพบรวมฝูงขณะหาอาหาร เวลาว่ายนำจะดูสง่างามเหมือนนกกำลังบินในอากาศ

ปลานกแก้วเป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม โดยปลาตัวผู้จะมีสีสันสวยงามปลาตัวเมีย ลำตัวรียาว ส่วนใหญ่มีครีบหางแบบเว้าโดยขอบบนและขอบล่างของครีบหางมักยื่นยาวออก มีฟันคล้าย ๆ จะงอยปากนกแก้วเพื่อนำมาใช้ขูดกินปะการัง และมีฟันอีกชุดในคอหอยด้วย ซึ่งเมื่อกัดแทะนั้นจะเกิดเป็นเสียง 

เวลาถ่ายจะถ่ายออกมาเป็นผงตะกอน ซึ่งมีประโยชน์ต่อแนวปะการัง สามารถเปลี่ยนเพศได้

ออกหากินในเวลากลางวัน นอนหลับในเวลากลางคืน เมื่อนอนปลานกแก้วจะนอนตามซอกหินแล้วปล่อยเมือกออกมาห่อหุ้มร่างกายเพื่อป้องกันอันตรายจากพวกสัตว์ทะเลต่าง ๆ เช่น พวกหนอนพยาธิหรือปรสิตที่จะมาทำร้ายหรือมารบกวน

ปลานกแก้ว มีชีวิตโดยเฉลี่ยประมาณ 7 ปี สามารถเปลี่ยนสีและเพศตลอดช่วงชีวิต (polychromatism) ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการพัฒนา ปลานกแก้วอาศัยเป็นฝูงขนาดใหญ่ มีตัวผู้ที่โดดเด่นเป็นจ่าฝูง ถ้าจ่าฝูงตายลง หนึ่งในตัวเมียจะเปลี่ยนเพศเป็นตัวผู้และรับบทบาทเป็นจ่าฝูงต่อไป

 

 

  • อาหารและนิสัยการกินของปลานกแก้ว

ปลานกแก้ว ชนิดต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นสัตว์กินพืช ยกเว้นในปลานกแก้วหัวโหนก (Bumphead parrotfish) ที่กินปะการังมีชีวิตเป็นอาหาร ปลานกแก้วใช้เวลาในแต่ละวันกัดแทะกินสาหร่ายบนปะการัง

มีฟันชนิดพิเศษที่อยู่ในลำคอของปลาทำหน้าที่หน้าที่บดปะการังเพื่อสกัดสาหร่ายที่ติดกับปะการังให้เป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ เศษปะการังจะถูกขับออกมาเป็นทราย ซึ่งกระบวนการนี้เองที่ถือได้ว่าปลานกแก้วเป็นผู้สร้างหาดทรายด้วยเช่นกัน โดยประมาณการได้ว่าปลานกแก้ว 1 ตัว สามารถผลิตทรายได้เกือบร้อยกิโลกรัมต่อปีเลยทีเดียว

  • การสืบพันธุ์และเติบโต

ปลานกแก้วมีวิธีการสืบพันธุ์ที่น่าสนใจมาก ด้วยเหตุผลที่ไม่ทราบสาเหตุ ปลานกแก้วสามารถเปลี่ยนเพศได้หลายต่อหลายครั้งตลอดชีวิต (sequential hermaphroditism) ตัวเมียปล่อยไข่ขนาดเล็กที่ได้รับการผสมแล้วหลายร้อยใบซึ่งลอยตัวได้อย่างอิสระ และฝังตัวอยู่ในปะการังจนกว่าจะฟักออกมา

  • การจำแนกปลานกแก้ว

ปลานกแก้ว เป็นปลาที่จำแนกและวิเคราะห์ชนิดให้ถูกต้องได้ยาก เนื่องจากมีสีบนลำตัวที่หลากหลาย และสีบนลำตัวจะหายไปเมื่อตายลง อีกทั้งตัวผู้และตัวเมียยังมีสีที่ไม่เหมือนกัน และสามารถเปลี่ยนสลับเพศกันไปมาได้

  • การแพร่กระจาย

ปลานกแก้วพบในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก โดยอาศัยตามแนวปะการัง ชายฝั่งหิน แนวหญ้าทะเล นั่นเป็นเพราะที่อยู่อาศัยเหล่านี้ให้ปริมาณอาหารที่คงที่ และอุดมสมบูรณ์

  • ภัยคุกคามของปลานกแก้ว

ถึงแม้ว่าเราจะไม่ค่อยพบเห็นปลานกแก้วในซุปเปอร์มาร์เก็ตเท่าไหร่นัก แต่ปลานกแก้วถือเป็นอาหารชั้นเลิศของคนท้องถิ่นทั่วโลกทีเดียว ปัจจุบันมีการจับปลานกแก้วในแนวปะการังธรรมชาติมาเลี้ยงในตู้ปลา และนำมาทำอาหารมากขึ้น ทำให้จำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เนื่องจากปลานกแก้วเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสร้างสมดุลของระบบนิเวศแนวปะการัง

ปัจจุบันมีการจับปลานกแก้วในแนวปะการังธรรมชาติมาเลี้ยง และนำมาเป็นอาหารจำนวนมาก ทำให้ประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เนื่องจากปลานกแก้วมีประโยชน์ในการสร้างสมดุลของระบบนิเวศแนวปะการัง

  • ผิดกฎหมาย จับปลานกแก้วมากิน มาเลี้ยง 

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีประกาศฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทำอันตรายกับสัตว์ต่างๆ ทุกชนิดในอุทยานแห่งชาติ หากฝ่าฝืนจะมีความผิดและต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 

มาตรา 16(3) นำสัตว์ออกไปหรือทำอันตรายด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ ประกอบกับ 

มาตรา 21 ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 16 ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ หรือ งดเว้นการกระทำใดๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 24 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 16(3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำนักอุทยานแห่งชาติ ขอรณรงค์ทุกท่านร่วมกัน ไม่สนับสนุน ไม่ซื้อ ไม่รับประทานปลานกแก้ว หากพบเห็นการจับปลานกแก้วในเขตอุทยานแห่งชาติให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

อ้างอิง :  สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง