มหาสมุทรสีครามสู่เศรษฐกิจสีฟ้าที่ยั่งยืน

มหาสมุทรสีครามสู่เศรษฐกิจสีฟ้าที่ยั่งยืน

สวัสดีครับ วิกฤติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความยืดเยื้อได้ซ้ำเติมความบอบช้ำของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่งฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยจากโรคระบาด และข่าวร้ายคือยังคงมีวิกฤตอีกด้านหนึ่งที่ดำเนินไปเป็นคู่ขนานกันอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเกิดสงครามโลกหรือไม่ นั่นคือวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม

ในวันนี้ผมจึงขอชวนทุกท่านมาพูดคุยเรื่องมหาสมุทรซึ่งเปรียบได้ว่าเป็นปอดของโลกและยังมอบออกซิเจนให้กับทุกชีวิต อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารหลักสำหรับประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลก ตลอดจนเป็นทรัพยากรสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ กว่าร้อยละ 80 ของอุตสาหกรรมหลักในโลกของเรา อาทิ การขนส่ง การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการท่องเที่ยว ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลมหาสมุทรแทบทั้งสิ้น

นาย Paulo de Bolle ผู้บริหารของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า มูลค่าเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปี 2010 และกำลังจะทะยานสู่ระดับ 3 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 อีกทั้งยังจะช่วยสร้างงานเพิ่มกว่า 40 ล้านตำแหน่ง  อย่างไรก็ตาม “เศรษฐกิจสีฟ้า” ที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนเกินไปอาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการขาดการบริหารจัดการที่ดี

หนึ่งในปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจสีฟ้าคือ ระบบการเงิน ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันการเงินเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ และเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญอีกหนึ่งภาคส่วน ทั้งในด้านการเป็นผู้จัดหาเงินทุน การบริหารเงินลงทุน และการประกันภัยที่จำเป็นสำหรับภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทร อาทิ ธุรกิจการเดินเรือ การประมง การท่องเที่ยว และธุรกิจด้านพลังงานทดแทน

ดังนั้น ภาคการเงินจึงสามารถเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะนำธุรกิจสีฟ้าไปสู่ความยั่งยืนผ่านการกำหนดกรอบการปฏิบัติงานที่ยั่งยืน ผนวกเข้ากับกระบวนการตัดสินใจและสนับสนุนให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ

ข่าวดีคือตลอดสองสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นแนวโน้มของการเงินที่ยั่งยืนเติบโตขึ้นแบบทวีคูณ รวมถึงเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ที่ออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ Green Bond (ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม) หรือ การระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนจะสัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ย กล่าวคือหากบริษัทหรือองค์กรสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายความยั่งยืนที่วางไว้ อัตราดอกเบี้ยก็จะลดลงตามไปด้วย

เครื่องมือทางการเงินอีกประเภทที่กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก แต่อาจยังไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนักในประเทศไทยนั่นคือ Blue Bond (ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์ท้องทะเล) ซึ่งเป็นการจัดสรรเงินทุนเฉพาะสำหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อมหาสมุทรและการปกป้องแหล่งน้ำสะอาด โดยตราสารหนี้ชนิดนี้เป็นเครื่องมือการระดมทุนที่มุ่งเน้นสนับสนุนการลงทุนเพื่อรักษามหาสมุทรและแหล่งน้ำ ตลอดจนช่วยส่งเสริมให้บรรดากิจการต่างๆ หันมาใส่ใจด้านนี้อย่างจริงจัง ผ่านโครงการที่เกี่ยวข้องกับทางทะเล อาทิ การท่องเที่ยว การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การบริหารจัดการขยะในทะเล นอกจากนี้ การออกตราสารหนี้ชนิดนี้ยังช่วยให้นักลงทุนสามารถแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่ธุรกิจของตนและสภาพแวดล้อมของท้องทะเลในเวลาเดียวกัน

เราทราบกันดีว่าการร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนดังกล่าวข้างต้นเพื่อร่วมรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเลให้ดีอยู่เสมอจะช่วยให้เศรษฐกิจสีฟ้าดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน แต่มีเรื่องที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงคือยังมีสัตว์ร่วมโลกอีกชนิดหนึ่งที่สามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้อย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด นั่นคือ “วาฬ”  ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวาฬในฐานะที่มีส่วนช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมหาศาล

โดยตลอดช่วงชีวิตของวาฬหนึ่งตัวที่มีอายุขัยเฉลี่ย 60 ปี สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 33 ตัน เทียบได้กับการปลูกต้นไม้หลายพันต้น แต่จากระบบนิเวศทางทะเลที่เปลี่ยนไปรวมทั้งขยะพลาสติกที่ทิ้งลงทะเลด้วยน้ำมือมนุษย์กว่า 11,000 ล้านกิโลกรัมต่อปี ทำให้เหลือประชากรวาฬเพียง 1.3 ล้านตัวเท่านั้น  หากเราสามารถรักษาท้องทะเลให้อยู่ในสภาพดีและหากจำนวนวาฬในทะเลเพิ่มได้ถึง 4-5 ล้านตัว ฮีโร่ลดโลกร้อนเหล่านี้จะสามารถช่วยโลกดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1.7 พันล้านตัน

ดังนั้น มหาสมุทรจึงถือเป็นแหล่งโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่เอื้อเฟื้อทั้งคนและสัตว์ในมิติต่างๆ  การรักษาท้องทะเลให้สะอาดจึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่ควรมองข้าม เริ่มต้นได้ด้วยวิธีง่ายๆ ได้แก่ ลดการปล่อยคาร์บอนและลดการใช้พลังงาน ใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกให้น้อยลง ละเว้นการใช้สินค้าที่ใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตในทะเล ตลอดจนสนับสนุนองค์กรที่ทำงานเพื่อปกป้องมหาสมุทร ท้ายสุดแล้วทั้งคนและสัตว์จะสามารถเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนและเราควรเริ่มต้นทันทีตั้งแต่วันนี้ครับ