"ติดโควิด" ใช้ แอปฯ คลิกนิก เข้ารับบริการอย่างไร ใครมีสิทธิใช้บ้าง ?

"ติดโควิด" ใช้ แอปฯ คลิกนิก เข้ารับบริการอย่างไร ใครมีสิทธิใช้บ้าง ?

สปสช. จับมือ แอป คลิกนิก (Cicknic) ขยายบริการผู้ป่วยโควิดผ่านระบบออนไลน์ สิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ ทั้งกลุ่มสีเขียวและกลุ่ม 608 พบแพทย์ผ่านออนไลน์ พร้อมจัด "ส่งยาถึงบ้าน" ฟรี

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 65 “ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ” รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย “นีล นิลวิเชียร” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คลิกนิกเฮลท์ จำกัด แถลงข่าวความร่วมมือ สปสช. จับมือ แอปฯ คลิกนิก (Cicknic) ขยายบริการผู้ป่วยโควิดผ่านระบบออนไลน์ ดูแลผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศ สิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ ทั้งกลุ่มสีเขียว และกลุ่ม 608 พบแพทย์ผ่านออนไลน์ พร้อมจัด ส่งยาถึงบ้าน ฟรี ผ่าน Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

ทำความรู้จัก คลิกนิก

“นีล นิลวิเชียร” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คลิกนิกเฮลท์ จำกัด เผยว่า คลิกนิก เป็นบริษัทเทเลเมดิซีน หรือ การแพทย์ทางไกล เปิดเป็นเวลากว่า 4 ปี แต่เดิมลูกค้าหลัก คือ บริษัทประกันเอกชน ที่มีเทเลเมดิซีนในบริการ

 

ขณะเดียวกัน คลิกนิก ก้าวเข้ามาทำงานร่วมกับทางภาครัฐ จากการช่วย สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ในช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกแรก โดยนำแอปฯ ให้กรมควบคุมโรค ใช้คัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูง

 

กระทั่ง การระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุด ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมาก ดูได้จากประกันเอกชน ที่มีคนเข้ามาด้วยอาการโควิด-19 มากขึ้น ดังนั้น คลิกนิก จึงมองว่าเทคโนโลยีที่มี สามารถดูแลคนได้มากกว่าประกันของเอกชนทั่วไป จึงเป็นที่มาของการเข้ามาร่วมมือกับ สปสช.ในครั้งนี้

จากผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว สู่การดูแล กลุ่ม 608 

ทั้งนี้ การร่วมมือระหว่าง คลิกนิก กับ สปสช. ให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านเทเลเมดิซีน โดยเริ่มจาก ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ขณะเดียวกัน ตัวเลขที่น่าสนใจ คือ คนไข้ 100% หากคัดกลุ่มสีเขียวจริงๆ จะได้ 30-40% แต่จะมีอีกราว 30% เป็นกลุ่ม 608 หรือเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง

 

นีล เล่าต่อไปว่า จากข้อมูลดังกล่าว จึงได้พูดคุยกับทีม สปสช. ในการดูแลคนไข้กลุ่มนี้ด้วย เพราะมีจำนวนมาก ประกอบกับที่ สปสช. ให้ความร่วมมือและซัพพอร์ต "ยาโมลนูพิราเวียร์" ในการจ่ายให้กับกลุ่มดังกล่าว 

 

“คลิกนิกมีประสบการณ์ส่งยาไปต่างจังหวัด ทำให้เราขยายการดูแลคนไข้นอกจากกทม. ปริมณฑลไปยังทั่วประเทศได้ โดยส่งยาผ่านบริษัทโลจิสติกส์มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นไปรษณีย์ไทย หรือ แฟลช ส่วนใหญ่จะได้รับในวันถัดมา และอนาคต มีเป้าหมายที่จะส่งยาผ่านไรเดอร์ให้ได้ภายในวันเดียว ขณะนี้ อยู่ระหว่างการทดลอง”

 

ได้พบหมอ คนไข้อุ่นใจ  

ปัจจุบัน มีคลิกนิก มีหมอในระบบ 40 คน ตอนนี้คอขวดไม่ได้อยู่ที่คุณหมอ แต่อยู่ที่การคัดกรองว่าคนที่เข้ามามีสิทธิเบิกได้จริงหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลา โดยคลิกนิก จะเพิ่มทีมคัดกรอง และทีมหมอ เพื่อให้บริการได้เร็วและครอบคลุมมากขึ้น โดยคุณหมอ 1 คน สามารถตรวจได้ 20 คนต่อวัน

 

"คนไข้ทุกคนที่เข้ามา เขาอุ่นใจที่ได้เจอหมอ บางครั้งเขาไม่ได้อยากได้ยาต้านไวรัส แต่อยากรู้ว่าจริงๆ อาการของเขามันหนักหรือไม่ ในแต่ละครั้งที่คนไข้คุยกับหมอแล้วรู้สึกสบายใจ รับยาตามอาการได้ ทำให้คนไข้อาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด" 

ขั้นตอนการใช้บริการ

  • ดาวน์โหลดแอปฯ คลิกนิก ทั้งระบบ IOS และ Android
  • ลงทะเบียนในแอปฯ
  • มีปุ่มคลิกนิก กับ สปสช. ให้ตรวจสอบสิทธิ
  • หากมีสิทธิสามารถเข้าระบบปกติ โดยหมอจะโทรกลับมาให้คำปรึกษา

 

เล็งเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

นีล กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน คลิกนิก เปิดให้บริการ 07.00 – 19.30 น. ระยะถัดไปเปิดให้บริการถึง 21.00 น. และเป้าหมายคือ 24 ชั่วโมง คอขวด ของการทำได้ 24 ชั่วโมง ไม่ได้อยู่ที่คุณหมอหรือระบบ แต่อยู่ที่ร้านยา เพราะยาที่จ่ายไปจะมีเภสัชกรคุยด้วย และมีร้านยาเพียงไม่กี่แห่งที่เปิดได้ 24 ชั่วโมง ดังนั้น หากร้านยาสามารถเปิดได้ 24 ชม. เมื่อไหร่ก็จะสามารถเปิดได้ 24 ชั่วโมงทันที

 

เป้าหมาย 85% ของประชากร เข้าถึงบริการ

คลิกนิก ที่ผ่านมา เรียกว่าให้บริการกับบริษัทเอกชนเป็นหลัก เบี้ยประกัน เป็นวงเงินสูงกว่าภาครัฐ ซึ่งมีเพียง 15% ของประชากร ดังนั้น จุดมุ่งหมายของคลิกนิก คือ อยากให้เทเลเมดิซีน เข้ามาอยู่ในประกันของคนทั่วไป อยากให้คนที่มีสิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม เข้าถึงเทเลเมดิซีนได้ทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 85% ของประชากร

 

เป้าหมาย คลิกนิก คือ การนำบริการที่สะดวก รวดเร็ว เข้ามาให้คนกลุ่มนี้ การร่วมมือกับ สปสช. จะเป็นประตูบานแรกในการให้บริการกับภาครัฐ การเข้ามาในคลิกนิก 100% ได้ปรึกษาหมอ ขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของไทยก็จะส่งยาไปให้

 

นำร่องสิทธิบัตรทอง และ ข้าราชการ

สำหรับการร่วมมือกับ สปสช. ขณะนี้ ผู้ที่สามารถใช้สิทธิได้ คือ สิทธิบัตรทอง และ สิทธิข้าราชการ รวมไปถึงข้าราชการองค์กรส่วนท้องถิ่นด้วย และอยู่ระหว่างการประสานกับ ประกันสังคม

 

"คลิกนิก อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการเข้ามาช่วยในสถานการณ์โควิด-19 และเป็นอีกทางเลือกในกรณีที่หลายคนไม่สะดวกในการเข้า รพ. ในการปรึกษาหมอและรับยาตรงตามอาการและมีสุขภาพที่ดีในเร็ววัน โดยจากที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 มายังไม่มีคนไข้อาการแย่ลง" 

 

สปสช. ย้ำ รักษาฟรี 

ด้าน “ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ” รองเลขาธิการ สปสช. เผยว่า คนไข้ทุกคนจะได้พบแพทย์ ซักประวัติ หากเป็นกลุ่ม 608 แพทย์จะวินิจฉัยว่าต้องไป รพ. หรือ รักษาที่บ้านได้ หากต้องไป รพ. ก็ประสานกลับมาที่ 1330 โดย สปสช. จะมีทีมคอยประสานหาเตียง แต่หากสามารถรักษาตัวที่บ้าน อาการไม่มาก แม้จะเป็นกลุ่ม 608 หากดุลยพินิจของหมอว่าสมควรได้รับยาต้านไวรัส คลิกนิก จะส่งยาไปให้" 

 

“ยาต้านไวรัส เหมาะกับคนที่มีอาการ หากหมอมองว่าใครควรจะได้ ก็จะมีการส่งไปให้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าส่ง ค่ายา ค่าที่ปรึกษา ไม่มีการเรียกเก็บจากคนไข้" 

 

อนาคต "การแพทย์ทางไกล"

สำหรับ การแพทย์ทางไกล ในอนาคต นีล มองว่า ตอนนี้คนไข้ที่เข้ามาใช้บริการเทเลเมดิซีนเป็นหลัก คือ โรคทั่วไป ปวดหัว เป็นไข้ ท้องเสีย โดยระยะที่จะขยายต่อไป คือ โรคเรื้อรัง คนไข้หลายๆ ครั้ง ใช้บริการเพียงการติดตามอาการ และเทคโนโลยีในการตรวจร่างกายต่างๆ ในสมัยนี้มีการพัฒนาไปมาก รวมถึงคลิกนิกจะเปิดตัวเทคโนโลยีที่สามารถตรวจ สัญญาณชีพ (Vital signs) ของคนไข้ได้ ผ่านหน้าจอวิดีโอคอล ทำให้การติดตามอาการของโรคไขมัน ความดัน เบาหวาน ง่ายขึ้น โดยเริ่มใช้งานในสิ้นปีนี้

 

ถัดมา คือ ด้านจิตวิทยา ตอนนี้ในเมืองไทย จำนวนจิตแพทย์ต่อประชากรที่ UN กำหนดมา คือ 6 คนต่อแสนประชากร แต่ตอนนี้ในไทยมีราว 3.5 คนต่อประชากรแสนคน น้อยกว่าที่กำหนดครึ่งหนึ่ง หลายครั้งโรงพยาบาลประจำจังหวัดไม่มีจิตแพทย์ครบทุก รพ. ทำให้เทเลเมดิซีน เข้ามาแก้ปัญหา คนไข้ได้เข้าถึงจิตแพทย์ได้มากขึ้น

 

"และสุดท้าย คือ กายภาพ ช่วยให้ผู้ป่วย ออกกำลังกายตามที่หมอสั่งได้ เป็น 3 กลุ่มหลักที่คลิกนิกกำลังมองอยู่" นีล กล่าว

 

"ติดโควิด" เข้าระบบได้ช่องทางไหนบ้าง

ทั้งนี้ สามารถเลือกลงทะเบียนตามแบบฟอร์มลงทะเบียนโครงการ Self-Isolation สำหรับผู้ป่วย COVID-19 สนับสนุนโครงการโดย สปสช. และ สวทช. ผ่านการให้บริการบน  

1. แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) ให้บริการโดย บริษัท คลิกนิก เฮลท์ จำกัด : คลิก 

รับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มอาการสีเขียว และกลุ่มเสี่ยง 608 ทั่วประเทศ สิทธิบัตรทอง/สวัสดิการข้าราชการ สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @clicknic 

2. แอปพลิเคชัน Good Doctor Technology ให้บริการโดย บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) : คลิก 

รับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว ไม่รับกลุ่ม 608 เฉพาะที่ผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เท่านั้น สอบถามเพิ่มเติม Line ID: @GDTT  

3. แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) ให้บริการโดย บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ปจำกัด : คลิก 
รับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว ไม่รับกลุ่ม 608 เฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล 5 จังหวัด นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เท่านั้น  สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @mordeeapp 

 

สำหรับบริการ เจอ แจก จบ ที่ร้านยา เป็นบริการครอบคลุมทั่วประเทศ รับทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ สามารถดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการใกล้บ้าน คลิก

 

\"ติดโควิด\" ใช้ แอปฯ คลิกนิก เข้ารับบริการอย่างไร ใครมีสิทธิใช้บ้าง ?