เช็ค 8 กลุ่มข้อมูลสุขภาพ ดูได้ผ่าน "แดชบอร์ด" สปสช. ดีเดย์ 9 ส.ค.นี้

เช็ค 8 กลุ่มข้อมูลสุขภาพ ดูได้ผ่าน "แดชบอร์ด" สปสช. ดีเดย์ 9 ส.ค.นี้

สปสช. เตรียมเปิด "แดชบอร์ด" 8 กลุ่มข้อมูลสุขภาพ ให้ประชาชน หน่วยบริการ และนักวิชาการเข้าไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2565 ชี้เป็นการคืนข้อมูลการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพให้สังคม หวังให้ใช้ประโยชน์ในการกำหนด ติดตามกำกับนโยบาย และพัฒนาระบบสุขภาพร่วมกัน

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดรายการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ มารู้จัก "แดชบอร์ด สปสช." ดียังไง มีประโยชน์ยังไง ใครกันที่ได้ประโยชน์ โดยมี พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. และ นายประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนข้อมูลดิจิทัล สปสช. ร่วมให้ข้อมูล

 

พญ.ลลิตยา กล่าวว่า แต่ละปี สปสช.บริหารงบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพของประชาชน และต้องตอบให้ได้ว่ามีการใช้จ่ายอย่างไร ประชาชนได้ประโยชน์หรือได้รับบริการหรือไม่ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ สปสช. ต้องคืนข้อมูลการบริหารระบบ หลักประกันสุขภาพ กลับคืนให้แก่สังคม เพื่อให้ประชาชนและหน่วยบริการร่วมใช้ข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนด/กำกับติดตามนโยบายสุขภาพได้

 

โดย สปสช.จะนำเสนอในรูปแบบของ แดชบอร์ด ซึ่งก็คือ หน้าเว็บเพจที่สรุปข้อมูลต่างๆ จากฐานข้อมูลของ สปสช. มานำเสนอในรูปแบบของอินโฟกราฟิกเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย โดยจะเริ่มเปิดให้ใช้งานตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2565 นี้เป็นต้นไป

 

พญ.ลลิตยา กล่าวต่อไปว่า การนำเสนอข้อมูลแบบแดชบอร์ดมีใช้กับภาคเอกชนมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในส่วนของ สปสช. เริ่มใช้นำมาใช้ตั้งแต่เดือนก.ค. 2565 ซึ่งขณะนั้นเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ากำลังระบาดหนัก และได้นำแดชบอร์ดมาใช้ในการติดตามสถานการณ์ และการเข้าถึงการรักษาของประชาชน และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

 

ทาง นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. จึงมีแนวคิดนำแดชบอร์ดมาใช้กับอีกหลายกลุ่มโรค เพื่อให้ประชาชน และหน่วยบริการได้ใช้ประโยชน์หรือกำกับติดตามว่าประชาชนได้รับบริการสุขภาพตามเป้าหมายที่กำหนดมากน้อยแค่ไหน 

 

เช็ค 8 กลุ่มข้อมูลสุขภาพ ดูได้ผ่าน \"แดชบอร์ด\" สปสช. ดีเดย์ 9 ส.ค.นี้

8 ข้อมูลสุขภาพ "แดชบอร์ด"

 

โดยข้อมูลที่เตรียมเผยแพร่ในแดชบอร์ดนี้ จะประกอบด้วย

1.ข้อมูลโควิด-19

2.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

3.ไตวายเรื้อรัง

4.เบาหวาน/ความดันโลหิตสูง

5.วัคซีนไข้หวัดใหญ่

6. บริการTele-medicine

7.มะเร็งรักษาทุกที่

8.การเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์

 

เข้าถึง 3 กลุ่มผู้ใช้งาน 

 

1.ประชาชนทั่วไป

2.หน่วยบริการ

3.นักวิชาการ/นักวิจัย

 

ตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2565 จะทยอยอัปโหลดข้อมูลให้แต่ละกลุ่มเข้ามาดูได้ แต่ในส่วนของประชาชนอาจต้องปรับรูปแบบข้อมูลให้เข้าใจง่ายขึ้น เช่น ทำภาษาไทยกำกับศัพท์เทคนิคทางการแพทย์ เป็นต้น ส่วนกลุ่มของหน่วยบริการไม่น่าจะมีปัญหากับศัพท์เทคนิคอะไรอยู่แล้ว และในส่วนของนักวิชาการ/นักวิจัย ในขั้นตอนต่อไป สปสช.จะจัดทำชุดข้อมูลมาตรฐานให้สามารถดาวน์โหลดเอาไปใช้ในการศึกษาวิจัยได้ด้วย

 

"แต่ประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล เพราะเราจะเข้ารหัสข้อมูลส่วนบุคคล ผู้นำข้อมูลไปใช้จะไม่ทราบว่าเป็นใคร เพศอะไร หรือมีเลข 13 หลักอะไร ทุกอย่างเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" พญ.ลลิตยา กล่าว

 

พญ.ลลิตยา กล่าวด้วยว่า สำหรับทิศทางในอนาคต สปสช.จะเน้นการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตรงความต้องการของประชาชน ตลอดจนเปิดให้สาธารณะมาใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ร่วมกัน เพื่อจะได้นำไปพัฒนาปรับปรุงระบบสาธารณสุขโดยรวม

 

เช็ค 8 กลุ่มข้อมูลสุขภาพ ดูได้ผ่าน \"แดชบอร์ด\" สปสช. ดีเดย์ 9 ส.ค.นี้

ด้านนายประเทือง กล่าวว่า ฐานข้อมูลของ สปสช. มีขนาดใหญ่มาก แต่ละปีมีข้อมูลผู้ป่วยนอกและข้อมูลการส่งเสริมสุขภาพกว่า 200 ล้านเรคคอร์ด ข้อมูลผู้ป่วยในอีกกว่า 8 ล้านเรคคอร์ด และข้อมูลรวมตั้งแต่จัดตั้ง สปสช. มีกว่า 2,000 ล้านเรคคอร์ด ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาแปลงให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และพร้อมใช้งาน ตัวอย่างเช่น

 

ข้อมูลการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ระบบแดชบอร์ดจะมีข้อมูลตั้งแต่สถานการณ์การเข้าถึงบริการของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การฝากครรภ์ และบริการส่งเสริมสุขภาพอื่นๆ ผู้ใช้แดชบอร์ดจะเห็นสถานการณ์หมดว่าประชาชนเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพในแต่ละรายการมากน้อยเท่าใด งบประมาณที่ สปสช. ได้รับจัดสรรมาจากรัฐบาลมีการใช้ไปอย่างไรบ้าง

 

ซึ่งนอกจากดูภาพรวมในระดับประเทศแล้ว ยัง สามารถเจาะลึกเป็นรายเขตสุขภาพ รายจังหวัดได้ สามารถดูประสิทธิภาพการเบิกจ่ายของหน่วยบริการได้ว่าเป็นอย่างไร และหน่วยบริการยังสามารถตรวจสอบความคืบหน้าในการเบิกจ่ายเงิยชดเชยค่าบริการของ สปสช. ได้ว่ารายการที่ส่งเบิกเข้ามานั้นอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว

 

กรณีผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง แดชบอร์ดจะแสดงจำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยที่ล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติ ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง และผู้ที่ฟอกเลือด ทำให้สามารถเห็นภาพรวมสถานการณ์ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพ และยังสามารถแสดงสถานการณ์ของหน่วยฟอกไตในแต่ละพื้นที่ว่ามีจำนวนเครื่องฟอกไตเท่าใด มีจำนวนแพทย์เท่าใด จำนวนผู้รับบริการเทียบกับศักยภาพแล้วเป็นอย่างไร เพียงพอหรือไม่เพียงพอ รวมทั้งสามารถดูได้ว่าพื้นที่ไหนที่ยังขาดแคลน และจำเป็นต้องเพิ่มหน่วยบริการ

 

หรือ ข้อมูลการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ สปสช.มีโครงการพิเศษในการจัดซื้อยาราคาแพงสำหรับผู้ป่วยบางโรค ก็สามารถดูข้อมูลการใช้ยา จำนวนสต็อกยาของแต่ละโรงพยาบาลได้ว่าเหลือเท่าใด เป็นต้น ซึ่งนอกจากหน่วยบริการแล้ว ประชาชนก็สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ เช่น กรณีเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังแล้วจำเป็นต้องย้ายที่อยู่ ก็สามารถตรวจสอบได้ว่าหน่วยฟอกไตในพื้นที่ ที่จะไปพักอาศัยมีจำนวนเท่าใด ตั้งอยู่จุดไหน สามารถรองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้หรือไม่ เป็นต้น

 

นายประเทือง กล่าวว่า ในส่วนของช่องทางการเข้าไปสู่แดชบอร์ด สปสช.นั้น ในวันที่ 9 ส.ค. จะมี link ให้คลิกเข้าระบบแดชบอร์ด บนหน้าเว็บไซต์ของ สปสช.  รวมทั้งในเฟซบุ๊ก สปสช. (Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพ) รวมทั้งประสานกระทรวงสาธารณสุขในการเผยแพร่ช่องทางการเข้าระบบแดชบอร์ดแก่หน่วยบริการต่อไป

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์