“นวัตกรรม” กุญแจสำคัญ ปกป้องสภาพภูมิอากาศ

“นวัตกรรม” กุญแจสำคัญ ปกป้องสภาพภูมิอากาศ

การแก้ปัญหา "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน รัฐ และประชาชน ขณะเดียวกัน "นวัตกรรม" เทคโนโลยี ถือเป็น กุญแจสำคัญ ที่จะผลักดันให้ไทยเดินหน้าตามเป้าหมาย "Net Zero" ในปี 2065

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 65 “ดร.วิจารย์ สิมาฉายา” ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวในช่วงเสวนา "เสริมพลังไทยสู่ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ (Powering Thailand for Climate Resilience and Sustainability)" หัวข้อ “พลังแห่งนวัตกรรมเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ” (The Power of Innovation for Climate Protection) ในการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้าน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของไทย (TCAC Opening Plenary) ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่า “นวัตกรรม” เป็นเรื่องสำคัญ เพราะ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดขึ้นแน่ และเราจะอยู่กับมันได้อย่างไร ประเด็นสำคัญ ได้แก่ Mitigation คือ สิ่งที่ต้องลด และ Adaptation คือ สิ่งที่ต้องปรับ 

 

ประเทศไทยมีเป้าหมายระยะยาว Net Zero ในปี 2065 เป้าระยะกลาง คือ การเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนใน ปี 2050 และเป้าระยะสั้น คือ ลดก๊าซเรือนกระจก จากเดิมตั้งเป้า 20-25% ปี 2030 เป็น 40% ขณะนี้ในปี 2559 มีการปล่อยคาร์บอน 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และคาดว่าปี 2025 จะเพิ่มอีก 368 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้น เทคโนโลยีต่างจะเข้ามาช่วย

 

“เราจะไปถึง Net Zero ได้อย่างไร หากนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ 55% ภายในปี พ.ศ. 2580 ดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากศักยภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้ถึง 120 ล้านตัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปล่อยออกไปมากกว่า 300 ล้านตัน ต้องลดให้ได้เหลือ 120 ล้านตัน จึงจะได้ตามเป้าหมาย Net zero กว่าจะไปถึงตรงนั้นไม่ง่าย เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ สัดส่วนในด้านพลังงาน อุตสาหกรรม ของเสีย เกษตร จะสามารถลดได้อย่างไร” 

Mitigation และ Adaptation

 

Mitigation คือ การลดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือการทำกิจกรรมป้องกันการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านวิธีต่างๆ เช่น การใช้พลังงานทดแทน การลดการใช้พลังงานฟอสซิล รถ EV ปลูกป่า ปลูกป่าชายเลน หญ้าทะเลที่อยู่ระหว่างการศึกษา

 

Adaptation คือ การลดผลกระทบอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ แผนการปรับตัวต่อระดับน้ำทะเล แผนป้องกันน้ำท่วม เกษตรคาร์บอนต่ำ

 

ดร.วิจารย์ กล่าวต่อไปว่า การนำนวัตกรรมมาใช้ต้องมองสองส่วน คือ Mitigation และ Adaptation ส่วนใหญ่เรามักจะพูดถึง Mitigation ในการลดการใช้ แต่ Adaptation ก็สำคัญ จะปรับตัวอยู่กับเขาได้อย่างไร เทคโนโลยี นวัตกรรม อะไรที่จะช่วย

 

นวัตกรรม เทคโนโลยี สู่ Net zero

 

ปัจจุบัน เริ่มมีการออก "กฎระเบียบ ข้อบังคับ" และอยู่ระหว่างการจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึง Emission tax ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงาน สิ่งสำคัญ คือ ภาคอุตสาหกรรมที่พร้อมจะขับเคลื่อน มีแรงจูงใจอย่างไรที่จะให้ทำในเรื่องนี้

 

ถัดมา คือ "นวัตกรรม" โดยเฉพาะการเก็บคาร์บอนและนำมาใช้ ในหลายประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทย ขณะเดียวกัน นโยบาย อินโนเวชั่นก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมต่างๆ เช่น โซลาเซลล์ลอยน้ำ

 

สำหรับ "ขยะอินทรีย์" นับเป็นอีกหนึ่งปัญหา คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของขยะทั้งหมด เราจะนำมาใช้ในการผลิตพลังงานอย่างไร  สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่หลายบริษัท เดินหน้าใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนๆ เรื่องของ Net zero

อีกทั้ง เห็นว่า ตอนนี้หลายประเทศทำ "แอปพลิเคชั่น" ในการทำการเกษตรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องทำอย่างไร แต่ละกิจกรรมสามารถติดตามได้

 

เรื่องของ “พลาสติก” ปัจจุบัน ภาคเอกชน หันมาให้ความสำคัญกับ พลาสติกรีไซเคิล เพิ่มมากขึ้น โดยมีโมเดลหลายแห่งในการขับเคลื่อน ผ่าน PPP Plastic

 

"สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" ที่ต่างประเทศและไทยก็ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเช่นกัน อาทิ ฉลากเบอร์ 5 ฉลากคาร์บอน ทำอย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ทำอย่างไรให้ ผู้บริโภคเลือกใช้สินค้าประเภทนี้

 

และเทคโนโลยี หนึ่งที่น่ากลัว คือ "เทคโนโลยีดาวเทียม" สำหรับตรวจสอบว่าไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่  เป็นตัวเร่งที่ทำให้เราต้องทำเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจน

 

นวัตกรรม กับความท้าทาย

 

ดร.วิจารย์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้ถือว่าภาครัฐทำคนเดียวไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือกับภาคเอกชน ขณะนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) เปิดตัว Thailand Carbon Neutral Network (TCNN) โดยมีบริษัทที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ และ เอสเอ็มอี ร่วมเป็นสมาชิกเกือบ 261 แห่ง เพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี มุมมองต่างๆ เพราะนี่คือเป้าหมายของประเทศ จะไปด้วยกันได้อย่างไร

 

"รวมถึงเรื่องของการส่งออกก็เป็นสิ่งสำคัญ ต่อไปสินค้า บริการของไทยจะต้องมุ่งไปในทางนี้ แม้แต่ภาคเกษตร ที่จะไม่ทำไม่ได้แล้ว ตอนนี้มีมาตรการส่งเสริม และต่อไปในอนาคต จะมีตลาดคาร์บอน มาตรการส่งเสริม ดังนั้น เทคโนโลยีบางครั้งหากเราทำเองต้องใช้เวลา จึงต้องมีพาร์ทเนอร์ และความร่วมมือกับประเทศต่างๆ" 

 

สำหรับเทคโนโลยีในไทย ก็ต้องแลกเปลี่ยนกันโดยเฉพาะเครือข่าย TCNN ตอนนี้เริ่มมีสมาชิกให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น ขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องทำรายงาน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็เป็นเนื้อหาสำคัญที่ต้องรายงาน

 

"เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เดิมเรามองว่าเป็นเรื่องของความสมัครใจ ตอนนี้ไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องที่จะต้องทำ หากเราไม่ทำก็โดนบังคับให้ทำอยู่ดี"