"ไฟไหม้" ในอาคาร "เอาตัวรอด" อย่างไรให้ปลอดภัย

"ไฟไหม้" ในอาคาร "เอาตัวรอด" อย่างไรให้ปลอดภัย

ชวนรู้! หลังเหตุการณ์ "ไฟไหม้ผับชลบุรี" เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ "ไฟไหม้" ในอาคาร ต้องทำอย่างไรให้สามารถ "เอาตัวรอด" ได้อย่างปลอดภัย ตามคำแนะนำของ "ปภ."

หลังเกิดเหตุ “ไฟไหม้ผับชลบุรี” “เมาท์เทน บีผับ” มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย ด้วยลักษณะอาคารที่มีทางออกแคบ ทำให้หลายคนไม่สามารถหนีได้ทันและมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ 13 ราย

เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เนื่องจากเคยมีเหตุการณ์ "ซานติก้าผับ" ที่เกิดเหตุคล้ายๆ กันมาก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นที่ไหนกับใครก็ได้

ดังนั้นเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้ จึงต้องมีความรู้ในการเอาตัวรอดจากเหตุไฟไหม้ที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันและพาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย

  •  วิธี “เอาตัวรอด” จาก “ไฟไหม้” ให้ปลอดภัย 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” รวบรวมข้อมูลจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่ได้แนะนำวิธีปฏิบัติตนและอพยพออกจากอาคารที่เกิดเพลิงไหม้อย่างปลอดภัย ดังนี้

1. ตั้งสติ

ทันทีที่รู้ว่าไฟไหม้ อย่างแรกต้องตั้งสติก่อน ไม่ตื่นตระหนก และประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้นว่าเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นนั้นมีความรุนแรงแค่ไหน และอยู่ใกล้ตัวมากแค่ไหน หากเหตุไฟไหม้นั้นเกิดขึ้นในบ้านเรือนของตน ให้ไปต่อที่ข้อ 3 ทันที

2. กดสัญญาณเตือนภัย

หากเป็นเหตุไฟไหม้ที่อยู่ในสำนักงานหรือออฟฟิศที่ทำงาน ส่วนใหญ่มักจะติดตั้งปุ่มกดเตือนภัยเอาไว้ หากพบว่ามีประกายไฟหรือเกิดควันที่ทำให้แน่ใจว่าเกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่แน่ๆ ควรตะโกนบอกทุกคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นให้ทราบทั่วกัน แล้วให้รีบกดสัญญาณเตือนภัยทันที

3. โทรศัพท์แจ้ง 199

กรณีเกิดเหตุ “ไฟไหม้ระดับรุนแรง” ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ในบ้านเรือน ในชุมชน หรือในสำนักงาน หลังจากกดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้แล้ว ให้เตรียมพร้อมอพยพออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้ และรีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เบอร์ 199 ทันที

4. ใช้ถังดับเพลิง

ในกรณีที่เกิดเหตุ “ไฟไหม้” เพียงเล็กน้อย ให้ใช้ถังดับเพลิงควบคุมเพลิงในเบื้องต้นก่อน แล้วจึงค่อยโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาควบคุมเพลิงในบางส่วนที่อาจหลงเหลืออยู่

5. ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก

ขั้นตอนนี้เป็นการเริ่มอพยพออกจากพื้นที่ที่เกิดเพลิงไหม้ เริ่มจากใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปาก หรือหากมีถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่สามารถตักอากาศบริสุทธิ์แล้วนำมาครอบศีรษะ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกายที่อาจจะทำให้หมดสติและเสียชีวิต

6. หมอบคลานต่ำ

หากออกจากห้องมาได้แล้ว เจอกับไฟไหม้ในตัวอาคาร ให้หมอบคลานต่ำหรือย่อตัวใกล้กับระดับพื้นมากที่สุด เนื่องจากอากาศบริสุทธิ์อยู่เหนือระดับพื้นไม่เกิน 1 ฟุต แล้วมุ่งหน้าไปหาประตูทางออกฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด

7. ไฟไหม้เสื้อผ้า ให้กลิ้งตัวกับพื้น

กรณีไฟลุกลามติดเสื้อผ้า ให้ถอดเสื้อผ้าออก หรือหยุด หมอบ และกลิ้งตัวไปมากับพื้นให้ไฟดับ อย่าวิ่งอย่างเด็ดขาด เพราะไฟจะลุกลามเร็วขึ้น

  •  เรื่องต้องรู้ เมื่อเผชิญไฟไหม้ 

- คนส่วนใหญ่เสียชีวิตเพราะ “ควัน”

สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือ “ควันไฟ” เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่สำลักจนหายใจไม่ออก หรือในบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตก่อนเปลวเพลิงจะคืบคลานมาถึงตัวเสียอีก

- ไม่หนีไปที่ห้องน้ำ/ดาดฟ้า/ห้องใต้ดิน

หลายคนเลือกหนีไปหลบที่ห้องน้ำ แต่แท้จริงแล้วปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการดับไฟ ทำให้ถูกไฟคลอกเสียชีวิตได้

ไม่ขึ้นไปอยู่ชั้นบนหรือดาดฟ้าของอาคาร เพราะไฟจะลุกลามจากชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นบน ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถอพยพหนีไฟลงสู่ชั้นล่างได้

นอกจากนี้ก็ไม่ควรเข้าไปอยู่ในบริเวณจุดอับของอาคาร อาทิ ห้องใต้ดิน เพราะยากต่อการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่

- เมื่อออกมาได้แล้ว ห้ามกลับเข้าไปเด็ดขาด

เมื่อออกมาได้แล้ว ห้ามกลับเข้าไปในอาคารที่เกิดไฟไหม้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นหรือไปเอาสิ่งของอะไรอีกเด็ดขาด ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เท่านั้น เพราะโครงสร้างอาคารอาจพังถล่มลงมาได้

- อย่าเปิดประตูทันที

หากเกิดไฟไหม้ข้างนอกและติดอยู่ในห้อง ก่อนออกจากห้องให้ใช้มือสัมผัสผนังหรือลูกบิดประตู หากไม่ร้อนให้เปิดประตูออกไปช้าๆ และอพยพตามเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัย แต่หากสัมผัสผนังหรือลูกบิดแล้วมีความร้อนสูง ห้ามเปิดประตูออกไป เพราะจะตกอยู่ในวงล้อมของกองเพลิง

หาพอหาอุปกรณ์ได้ ให้ใช้ผ้าหนาๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันไฟสามารถลอยเข้ามา ปิดพัดลมระบายอากาศและเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟ พร้อมโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อบอกตำแหน่งที่ติดอยู่ และส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด

\"ไฟไหม้\" ในอาคาร \"เอาตัวรอด\" อย่างไรให้ปลอดภัย ------------------------------------------------------

อ้างอิง: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), กรุงเทพธุรกิจ