ดูซีรีส์ ทำความเข้าใจ "ออทิสติก สเปกตรัม" ผ่านทนายสาวอัจฉริยะ "อูยองอู"

ดูซีรีส์ ทำความเข้าใจ "ออทิสติก สเปกตรัม" ผ่านทนายสาวอัจฉริยะ "อูยองอู"

ใครที่ได้ติดตาม  ซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo คงได้เห็นความน่ารัก จริงใจ และความอัจฉริยะ ของ ทนายอูยองอู นางเอกผู้ที่มีอาการออทิสติก สเปกตรัม แต่เป็นอัจฉริยะด้านการว่าความ ซึ่งรับบทโดยนางเอกสาวพัคอึนบิน

“พัคอึนบิน” นักแสดงมากฝีมือแสดงสมบทบาทผู้ที่มีอาการออทิสติก สเปกตรัม ได้ดีมาก ทำให้คนดูได้เข้าใจผู้ที่มีภาวะออทิสติก สเปกตรัมว่าแท้จริงแล้วพวกเขาเป็นอย่างไร พวกเขามีความสามารถและอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมได้ เพียงเพียงแต่สังคมต้องให้โอกาส และยอมรับความต่างที่พวกเขาเป็น

  • รู้จักกับภาวะออทิสติก สเปกตรัม

ออทิสติก สเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder) เกิดจากความผิดปกติของสมอง ความผิดปกติของพัฒนาการทางระบบประสาท รวมถึงปัจจัยทางด้านพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม มากกว่ารูปแบบการเลี้ยงดู โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตั้งแต่เป็นตัวอ่อนในครรภ์แม่ และมักจะแสดงอาการให้เห็นชัดในช่วงอายุ 3 ปีแรกของเด็ก

ออทิสติก เดิมแบ่งกลุ่มย่อยเป็น ออทิสติก แอสเพอร์เกอร์ พีดีดี เอ็นโอเอส ในปัจจุบันเรียกรวมกันว่า “ออทิสติก สเปกตรัม” (Autism Spectrum Disorder) หรือจะเรียกว่า “ออทิสติก” ก็ถือว่าเป็นที่เข้าใจตรงกัน

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่การบําบัดรักษา ที่มีอยู่สามารถช่วยให้พัฒนาการของเด็กดีขึ้นได้มาก แตกต่างจากผู้ที่ไม่ได้รับการบําบัดรักษาชัดเจน

ทั้งนี้  แต่ละคนมีอาการแตกต่างกัน และความสามารถในการเรียนรู้แตกต่างกันมาก ตั้งแต่รุนแรงมาก สื่อความหมายไม่ได้เลย จนถึงอัจฉริยะ มีความสามารถโดดเด่นเฉพาะด้านเรียนจบปริญญา ในปัจจุบันพบประมาณ 6 คนต่อประชากร 1,000 คน และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเกือบ 4 เท่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เผยไทยมีคนเป็นออทิสติก18,220ราย ไม่ถึง100คนมีงานทำ-มีรายได้

                        ข่าวดี! เผย 'กระซิบ' เด็กออทิสติก แค่คืนละนิด แก้พฤติกรรมต่อต้านได้

                        โลกใบเล็ก“เด็กดาวน์ซินโดรม”เมื่อพวกเขาถูก"บูลลี่"

                        เมษายน "เดือนแห่งการตระหนักรู้ออทิสซึม" เพื่อผู้ป่วยออทิสติก

                       กรมสุขภาพจิต เผยสัญญาณเตือนเด็กออทิสติก

                       

                       

 

  • ออทิสติก สเปกตรัม มีอาการอย่างไร?

ออทิสติก สเปกตรัม มีอาการหลักใน 3 ด้านหลักๆ คือ ด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความบกพร่องด้านภาษาและการสื่อสาร และความผิดปกติของพฤติกรรม มีความสนใจ หรือกิจกรรมที่จํากัด ทําซ้ำๆ  และคงรูปแบบเดิม อาการมักแสดงให้เห็นตั้งแต่วัยเด็ก เริ่มสังเกตความผิดปกติได้ชัดเจนในช่วงอายุขวบครึ่งในเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการด้านภาษาพูดได้ไม่สมวัย มันสังเกตได้เร็วกว่า

อย่างไรก็ตาม ออทิสติก สเปกตรัม มีอาการหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละคน แสดงออกตั้งแต่วัยเด็ก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต

ด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

ผู้ที่มีภาวะออทิสติก สเปกตรัม มักจะไม่สนใจในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มักจะแยกตัวอยู่คนเดียว มีโลกส่วนตัว ชอบแยกตัว ไม่ชอบอยู่รวมเป็นกลุ่ม รวมถึงยังมีความบกพร่องในการใช้ภาษากายและการแสดงออกทางสีหน้าท่าทาง เช่น การไม่สบตากับคู่สนทนาหรือสบตาน้อยครั้ง

ในซีรีส์จะเห็นได้จากบุคลิกของนางเอกในเรื่อง เวลาสนทนากับผู้อื่น ก็จะไม่ค่อยสบตา รวมถึงยังชอบแยกตัวอยู่คนเดียว มีโลกส่วนตัวสูง  โดยพ่อของอูยองอู ตอบว่า รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวที่ต้องใช้ชีวิตกับผู้ป่วย ออทิสติก สเปกตรัม  

ลักษณะอาการ เช่น

  • ทักทายอย่างไม่เหมาะสม หรือไม่สนใจทักทาย
  • ขาดความสนใจร่วมกัน มีอารมณ์ร่วมกับคนรอบข้างน้อย
  • ไม่สบตาและใช้ภาษาท่าทางไม่เหมาะสม
  • ไม่เข้าใจหรือใชภาษาท่าทางเพื่อการสื่อสารไม่เป็น
  • ไม่แสดงออกทางสีหน้าท่าทาง
  •  แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับบริบททางสังคม
  • เล่นตามจินตนาการไม่เป็น
  • ผูกมิตรไม่เป็น ไม่รู้วิธีการสร้างสัมพันธภาพ
  •  ไม่ค่อยสนใจผู้คนรอบข้าง

 

  • เช็กลักษณะอาการเข้าข่ายออทิสติก สเปกตรัม

2. ความบกพร่องด้านภาษาและการสื่อสาร

ผู้ที่มีภาวะออทิสติก สเปกตรัม จะมีพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน โดยในเรื่องอูยองอูจะไม่ยอมพูดกับพ่อ จนอายุได้ 5 ขวบเธอพูดได้ยาว แต่เป็นเรื่องของข้อกฎหมายต่างๆที่เธอได้อ่านเท่านั้น และต่อให้พ่อถามอะไร เธอก็จะไม่ยอมพูดด้วย ไม่มีการโต้ตอบ ไม่ทำตามคำสั่ง ขณะเดียวกัน ในซีรีส์ จะเห็นอูยองอูชอบพูดซ้ำคำ พูดภาษาของตัวเอง หรือใช้ภาษาที่ผู้อื่นไม่เข้าใจ

ลักษณะอาการ เช่น

  • สนทนาไม่ราบรื่น มักพูดแต่เรื่องที่ตนเองสนใจ
  • ใช้ภาษาท่าทาง ไม่สัมพันธ์กับการพูดคุย
  • พูดเป็นคําหรือวลีซํ้าๆ
  • ใช้ภาษาที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ

3. ความผิดปกติของพฤติกรรม

ในด้านนี้จะเห็นได้ชัดมากๆ จากพฤติกรรมของอูยองอูคือจะมีพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น การโยกตัว หรือ การสะบัดมือ รวมถึงยังชอบเรียงวัตถุในแนวเส้นตรง จะเห็นได้เลยว่าเมื่ออูยองอูเห็นอะไรที่ไม่เป็นระเบียบ เธอจะชอบจัดให้เป็นระเบียบในแนวเส้นตรงอยู่เรื่อยๆ

รวมถึงไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่มีความยืดหยุ่น เช่น การกินอาหารเดิมซ้ำๆ จะเห็นได้เลยว่าอูยองอูกินแต่คิมบับทุกวัน และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นก็จะรู้สึกไม่ชอบและหงุดหงิด หลังจากที่พ่อของเธอเปลี่ยนวัตถุดิบในคิมบับ เธอก็แสดงอาการไม่พอใจออกมาเล็กน้อย

นอกจากนั้นยังมีความสนใจเฉพาะเรื่องบางเรื่องและหมกมุ่นมากกว่าปกติอีกด้วย อย่างเช่น การที่อูยองอูสนใจเรื่องราวของวาฬเป็นพิเศษ และจะชอบพูดถึงวาฬอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังมีการตอบสนองของประสาทสัมผัสต่อสิ่งเร้าที่มากหรือน้อยเกินไป เช่น การที่อูยองอูปิดหูเมื่อได้ยินเสียงดัง หรือการเดินเขย่งปลายเท้านั่นเอง

ลักษณะอาการ เช่น

  • เคลื่อนไหวร่างกายซํ้าๆ เช่น โยกตัว กระโดด สะบัดมือ
  • เคลื่อนไหวร่างกายแปลกๆ เป็นแบบแผนเฉพาะตัว
  • ทานอาหารซ้ำๆ ใช้ของซ้ำๆ
  • ใช้เส้นทางเดิมๆ
  • ถามเรื่องซ้ำๆ มากเกิน
  • กังวลมากเกินไปกับการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
  • ยึดติดหรือหมกมุ่นกับวัตถุบางอย่างมากเกินปกติ
  • สนใจในบางเรื่อง แบบหมกมุ่นมากเกินปกติ
  • เย็นชาต่อความเจ็บปวด ความร้อน ความเย็น
  • ตอบสนองต่อเสียงหรือผิวสั มผัสบางอย่าง  แบบรุนแรง
  • ดมหรือสัมผัสกับวัตถุบางอย่างมากเกิน
  • สนใจในแสงไฟ หรือวัตถุหมุนๆ มากเกิน

 

  • กุญแจสำคัญที่อาจทำให้สังสัยออทิสติก

กุญแจสําคัญ ที่ทําให้สงสัย ออทิสติก ในเด็กอายุ 18 เดือนขึ้นไป ถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติเหล่านี้ตั้งแต่ 2 อย่าง ขึ้นไป ควรมีการดําเนินการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค และให้ความชวยเหลือ  ทันทีโดยอาการดังกล่าว คือ

  1. เล่นสมมติเล่นจินตนาการไม่เป็น
  2. ไม่สามารถชีนิ้วบอกความต้องการได้
  3.  ไม่สนใจเข้ากลุ่มหรือเล่นกับเด็กคนอื่น
  4. ไม่มีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความสนใจร่วมกับคนอื่น
  • เมื่อเป็นออทิสติก สเปกตรัม ควรทําอย่างไร

 เริ่มต้นด้วยการปรึกษากับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อตรวจประเมิน วินิจฉัย และวางแผนการดูแลร่วมกัน หาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งค้นคว้าต่างๆ แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเนื่องจากความรู้ยังไม่นิ่ง เมื่อมีข้อสงสยให้นําไปปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลเป็นระยะ

ทั้ง การบําบัดรักษาจําเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หลายสาขา ดูแลร่วมกัน ซึ่งประกอบด้วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบําบัด นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย นักวิชาการศึกษาพิเศษ ฯลฯ

การบําบัดรักษาที่จําเป็น

* การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavior Modification)

* กิจกรรมบําบัด (Occupational Therapy)

* แก้ไขการพูด (Speech Therapy)

* การฝึกทักษะทางสังคม  (Social Skill Training)

* การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการศึกษา  (Special Education)

* การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ (Vocational Training)

* การใช้ยา (Pharmacotherapy)

การบําบัดรักษาเสริมหรือทางเลือก

* ศิลปะบําบัด  (Art Therapy)

* ดนตรีบําบัด (Music Therapy)

* การบําบัดด้วยสัตว์ (Animal-assisted Therapy)

การบําบัดรักษาที่ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ยืนยัน

* ออกซิเจนความดันสูง  (Hyperbaric Oxygen Therapy)

* การบําบัดเซลล์ (Cell Therapy)

* การฝังเข็ม (Acupuncture)

การบําบัดรักษาที่ยืนยันแล้วว่าไม่ได้ผล

* วิตามินบีขนาดสูง (Megavitamin)

 อย่างไรก็ตาม เมื่อพบว่าลูกมีอาการออทิสติส หรือไม่ อย่ากลัวที่จะรู้ว่าลูกเป็นอะไร แต่ควรกลัวที่ลูกจะเสียโอกาสในการ บําบัดรักษาอย่างทันท่วงทีมากกว่า เพราะหากเขามีอัจฉริยะด้านใดด้านหนึ่ง นั่นย่อมส่งผลต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา และขาดบุคลากรที่มีประสิทธิภาพคนหนึ่งของสังคม

อ้างอิง: ศูนย์วิชาการแฮปปี้โฮม