"LGBT" ในสื่อบันเทิง ต้องไม่ใช่แค่ตัวตลกหรืออาภัพรัก

"LGBT" ในสื่อบันเทิง ต้องไม่ใช่แค่ตัวตลกหรืออาภัพรัก

การพูดคุยและมุมมองของผู้เกี่ยวข้องในวงการบันเทิง ที่มีต่อการนำเสนอภาพ LGBT ของสื่อบันเทิงไทย ในอนาคตต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร

เพศสภาพ ของคนเราไม่ได้มีแค่ผู้ชายและผู้หญิง ยังมีความหลากหลายทางเพศ ทว่า สื่อบันเทิง กลับสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันชีวิต LGBT+ ถูกถ่ายทอดในแง่เป็นตัวตลก สร้างสีสัน บ้ากาม อาภัพรัก ส่งผลให้คนในสังคมเกิดอคติต่อคนหลากหลายทางเพศ

นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ การล้อเลียน เหยียดเพศ และบางกรณีนำไปสู่ความรุนแรง ทำให้ LGBT+ ต้องเผชิญกับความรู้สึกแปลกแยก และไม่เคยมีตัวตนในสื่อกระแสหลักของสังคม

  •  ภาพของ LGBT+ ในสื่อสารมวลชน

เมื่อเร็ว ๆ นี้จึงมีการจัดงานเสวนา “ทำไมเราถึงต้องการ LGBT+ มากขึ้นในสื่อ” ในงาน Bangkok Pride: Rainbowtopia เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนภาพความหลากหลายทางเพศในสื่อสารมวลชนว่า ย้อนไปช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

นสพ.ศรีกรุง เมื่อเดือนมิถุนายน 2478 เสนอเรื่องผู้ชายชื่อนายถั่วดำ เปิดซ่องอยู่แถวป้อมปราบ ล่อลวงเด็กผู้ชายอายุ 10-11 ปี มาขายบริการทางเพศ

ส่งผลให้เกิดภาพจำใช้คำว่า ถั่วดำ อธิบายคนรักเพศเดียวกัน การมีเซ็กส์ผู้ชายกับผู้ชาย ส่วนใหญ่เป็นข่าวเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ผิดต่อศีลธรรมและบรรทัดฐานในสังคม

“ช่วงก่อนปีพ.ศ. 2500 นสพ.สยามนิกร ได้ลงข่าวเรื่อง เรือนจำชาย นักโทษมีเพศสัมพันธ์กันทางทวารหนัก

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีทหารต่างชาติเข้ามาเยอะ มีกลุ่มกะเทยค้าบริการทางเพศให้ทหารฝรั่ง และก่อคดีวิ่งราวชิงทรัพย์

ส่วน ด้านการแพทย์ ก็ตีตราว่าคนกลุ่มนี้มีปัญหาทางสุขภาพจิต ต้องได้รับการรักษา การเบี่ยงเบนทางเพศ รักต่างเพศ เป็นอาการป่วยไข้ ส่วน ด้านศาสนา ก็ตีตราว่าเป็นพวกผิดศีลในชาติก่อน”

\"LGBT\" ในสื่อบันเทิง ต้องไม่ใช่แค่ตัวตลกหรืออาภัพรัก Cr. ภาพยนตร์เรื่อง มะลิลา (Malila: The Farewell Flower)

  • ภาพที่สื่อสารมวลชนสร้างให้

สื่อ เป็นสถาบันหลักในสังคม เป็นกระจกสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้น และยังเป็นเสมือน ตะเกียงชี้นำให้กับสังคม ในเรื่องนี้ ดร.ชเนตตี แสดงความคิดเห็นว่า

“สื่อมีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิดความเกลียดชังคนรักเพศเดียวกัน คนหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่ปี 2478 เป็นต้นมา คนในสังคมรับรู้ว่าความหลากหลายทางเพศ คือ กะเทย ไม่รับรู้ว่ามันมีมากกว่านั้น

ในช่วงปี 2556-57 การพูดเรื่องเหล่านี้ในพื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องยาก อัญชนา สุวรรณานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม อัญจารี (2529) เคยจัดงานที่หอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน

มีคน 20 คนมารวมตััวกันแล้วถือธง อัญชนาประกาศว่าจะมีการถ่ายภาพ ถ้าใครไม่ประสงค์ปรากฎตัวในภาพก็บอกได้ ในยุคนั้นที่ไม่สามารถบอกได้ว่าฉันเป็นใคร และมีความหวาดกลัว”

\"LGBT\" ในสื่อบันเทิง ต้องไม่ใช่แค่ตัวตลกหรืออาภัพรัก นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ภาพของ LGBT+ ในสื่อบันเทิง

นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ผู้กำกับภาพยนตร์และซีรีส์ LGBT+ กล่าวว่า ภาพยนตร์ไทยมีการนำเสนอความหลากหลายทางเพศที่ล้ำสมัยมาก

“เรื่อง กะเทยเป็นเหตุ (2497) เผยแพร่โดย หอภาพยนตร์ ในช่องยูทูบ เป็นภาพยนตร์สั้นที่ตัวเอกเป็นกะเทย มีคู่หมั้นเป็นผู้ชายแล้วจบแบบตลกขำขัน

ในงานเฟสติวัลลอนดอนที่เพิ่งผ่านมาเอาเรื่องนี้ไปฉาย คนต่างชาติที่ได้ดูก็ทึ่งมาก มันมีแบบนี้ด้วยเหรอ ตั้งแต่ยังเป็นหนังเงียบ เป็น LGBT บนแผ่นฟิล์มที่เก่า แล้วไม่ได้นำเสนอแง่ลบ ไม่มีการประณาม แต่เป็นเรื่องชวนหัว เขามองว่าก้าวหน้ามาก”

ปี 2547 นุชชี่เรียนด้านภาพยนตร์ที่จุฬาฯ ทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) เรื่อง ตามสายน้ำ (Down the river) ความยาว 50 นาที เป็นเรื่องผู้ชายรักผู้ชายผูกโยงกับพุทธศาสนา

เราคิดเรื่องการหลุดพ้น เรื่องตัดตัณหากิเลสออกไป ในยุคนั้นจัดหานักแสดงยากมาก ไม่มีใครเล่นเลยเพราะกลัวมีผลต่ออาชีพการงานหรือสังคม

ต่อมาเรื่องนี้กลายเป็นหนังอิสระ ขายในประเทศและอเมริกา หลังจากนั้นสังคมไทยเริ่มเข้าใจ เกย์ มากขึ้น

ในช่วงนั้นมีหนังไทยเรื่อง แกงค์ชะนีกับอีแอบ, รักแห่งสยาม เป็นที่ฮือฮามาก เพราะคิดว่าเป็นหนังรักทั่วไป คนดูช็อคมากเพราะไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เจอผู้ชายจูบกัน

ปี 2558 เราทำเรื่อง อนธการ (The Blue Hour) ตอนแคสท์ก็ง่ายมากขึ้น กัน-อรรถพันธ์ กับ โอบ-นิธิ ยินดีมารับบท LGBT+ จากนั้นเริ่มมีซีรีส์วาย นิยายวายออกมา

ต่อมาก็ทำเรื่อง มะลิลา (Malila: The Farewell Flower)(2560) คราวนี้ได้ดาราอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย เวียร์-ศุกลวัฒน์ กับ โอ-อนุชิต มาเล่น สะท้อนให้เห็นว่าสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว มาในปี 2563 พอเรียกแคสต์นักแสดงวาย ก็มากันเต็มเลย

\"LGBT\" ในสื่อบันเทิง ต้องไม่ใช่แค่ตัวตลกหรืออาภัพรัก Cr. ภาพยนตร์เรื่อง มะลิลา (Malila: The Farewell Flower)

  • สื่อบันเทิงมีผลต่อสังคม LGBT+

ในอุตสาหกรรมสื่อ โดยเฉพาะ สื่อบันเทิง มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคมให้เข้าใจ LGBT+ ได้มากขึ้น นุชชี่ สะท้อนว่า ตอนที่นำเสนอเรื่อง ตามสายน้ำ (Down the river) เราไม่ได้สื่อออกไปในวงกว้าง ต้องไปหาองค์กรความหลากหลายทางเพศ

“ให้เขาดูหนัง แล้วก็เดินสายโปรโมทหนังใน ซาวน่า พานักแสดงไป ผับเกย์ และวางขาย ตามซาวน่า, ผับเกย์ หรือให้คนสั่งเข้ามาในเว็บไซต์ของ LGBT คอมมูนิตี้ แต่ปัจจุบันการโปรโมทซีรีส์วายสามารถออกสื่อวงกว้างได้เลย

เวลาไปสัมมนาในต่างประเทศ เราจะพูดว่า คุณต้องทำความหลากหลายให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมสื่อ หรือสื่อบันเทิงให้ได้ก่อน เพราะสื่อบันเทิงจะทำคอนเทนท์ให้คนรับรู้เห็นภาพคนหลากหลายทางเพศมากขึ้น

และจากการได้พูดคุยกับผู้กำกับภาพยนตร์ต่างประเทศมุสลิม เขาไม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศและเป็นสิ่งที่ผิดด้วยซ้ำ

ส่วนประเทศที่เปิดเสรีแล้ว โดยมากการปรากฎตัวของ LGBT+ จะเริ่มที่บทตลกก่อน เพราะไม่ต้องคิดมาก แล้วก็ขึ้นอยู่ประเทศนั้นๆ ว่า มีสังคม LGBT+ ที่แข็งแกร่งหรือไม่"

\"LGBT\" ในสื่อบันเทิง ต้องไม่ใช่แค่ตัวตลกหรืออาภัพรัก นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ กับ ดร.ชเนตตี ทินนาม Cr. Kanok Shokjaratkul

  • กลไกกดทับเชิงอำนาจ ?

สิ่งที่จะทำให้คนยอมรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้ ดร. ชเนตตี มองว่า มี 3 องค์ประกอบ คือ สังคม, สื่อ และ สังคม LGBT+

“สื่อมีผลมากในการเปลี่ยนการรับรู้ ความเข้าใจของสังคม ต่อเพศหลากหลาย เมื่อ 15-16 ปีที่แล้ว เวลาคนเห็นผู้ชายจับมือแสดงความรัก “อุ๊ย อีแอบ อุ๊ย น่าเกลียด” ตอนนี้ 2565 “อุ๊ย น่ารัก อุ๊ย คู่จิ้น” เริ่มเห็นแง่บวกเพิ่มขึ้น

ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง วงการภาพยนตร์ไทยมีเรื่อง สตรีเหล็ก เหมือนนำภาพจำมาผลิตซ้ำว่า LGBT+ เป็นตัวตลก ขบขัน ปากจัด นี่คือกลไกกดทับเชิงอำนาจที่ลึกมาก ๆ ไม่ให้มีตัวตน

บทบาทของคนกลุ่มนี้มีได้แค่บทบาทรอง อยู่ในมุมตลกขบขัน เป็นอาชญากร เป็นตัวประหลาด เป็นคนป่วย เป็นเหยื่อ เป็นชะตากรรม

เพราะบรรทัดฐานของสังคมยอมรับว่า ความดีงามสูงส่งคือรักต่างเพศ สูงขึ้นไปคือบรรทัดฐานชายเป็นใหญ่ เพราะรักต่างเพศสนับสนุนระบบชายเป็นใหญ่

ระบบนี้อยู่ในทุกกลไก ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์, ประวัติศาสตร์, ระบบทุน, ระบบรัฐ, ระบบโครงสร้างสังคมหลายอย่าง”

นุชชี่ กล่าวเสริมว่า กลุ่ม LGBT+ ไม่ได้เรียกร้องให้มีบทบาทมากมาย เพียงแต่เรียกร้องให้มองว่า เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง จะมีบทบาทแบบไหนก็ได้ ไม่ใช่ตัวตลกอย่างเดียว

“อย่างหนังเรื่อง เพลงสุดท้าย กะเทยฆ่าตัวตาย สังคม LGBT+ ส่งเสียงไปถึงผู้ผลิตว่าทำไมต้องให้ฉันได้รับบทแบบนี้ ทำไมกะเทยต้องจบเศร้า ความรักไม่สมหวัง ขอแบบมีความสุขได้ไหม

ก็ต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งถึงจะมีบทซีเรียสจริงจัง ดราม่า ออกมา มันต้องจะใช้เวลา ปัจจุบันที่ทดลองอะไรแปลก ๆ จะมาจากฝรั่งก่อน พอมีคนดู ก็เอาไปพัฒนาเป็นกระแสหลัก”

\"LGBT\" ในสื่อบันเทิง ต้องไม่ใช่แค่ตัวตลกหรืออาภัพรัก Cr. ภาพยนตร์เรื่อง มะลิลา (Malila: The Farewell Flower)

  • สาววาย การต่อรองเชิงอำนาจของผู้หญิง ?

ดร.ชเนตตี กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐไทยมีทุนสร้างสื่อบันเทิงที่ขับเคลื่อนชาติ ความเป็นไทย ไม่เคยสนใจซอฟต์พาวเวอร์สด้านอื่น

LGBT+ ก็สร้างชาติ รัฐไทยต้องเหลียวแลหนังในลักษณะนี้ด้วย วัฒนธรรมวาย ในประเทศไทย จะมี สาววาย ชอบเห็นผู้ชายรักกัน มันเป็นการต่อรองเชิงอำนาจของผู้ชมผู้หญิง ที่รู้สึกว่าตัวเองเป็น วัตถุทางเพศ

เวลาดูหนังดูละครรักต่างเพศ ผู้หญิงไม่มีอำนาจต่อรอง ตัวละครชายจับจ้องเนื้อตัวเรือนร่าง บางเรื่องข่มขืนนางเอกอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วยซ้ำไป

การเข้ามาของ นิยายวาย ซีรีส์วาย กับ สาววาย เป็นปฏิบัติการต่อรองเชิงอำนาจ เพราะผู้หญิงรู้สึกว่า การที่เขาได้จิ้น ผู้ชายคนนี้คู่กับคนนี้ การได้มองร่างกายของผู้ชาย

การฟินไปกับความรักของผู้ชาย ผู้ชายถูกสายตาของผู้หญิงสาววายเข้าไปต่อรองเชิงอำนาจในลักษณะต่าง ๆ กลายเป็น วัตถุทางเพศ ของสาววายไป

ขณะเดียวกัน ซีรีส์วาย ก็ทำให้ความหลากหลายทางเพศมีตัวตนในพื้นที่สื่อ เมื่อก่อนตัวละครเหล่านี้ต้องไปซ่อนเป็นพระรองในละครรักต่างเพศ

มันทำให้ความมีตัวตนของ LGBT+ มีความหมาย สะท้อนความต้องการ, ชีวิต, ความจริง, ความปรารถนา ของบุคคลหลากหลายทางเพศได้ปรากฎอยู่บนพื้นที่สื่อ

สิ่งที่ดีงามที่สุดของซีรีส์เหล่านี้คือทำให้ทุก ๆ ชีวิตทุก ๆ รสนิยมทางเพศ ทุกอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นความปกติธรรมดา การเรียกร้องสิทธิไม่ใช่การยัดเยียด แต่เป็นปัจจัยหนึ่งของความเป็นมนุษย์”

\"LGBT\" ในสื่อบันเทิง ต้องไม่ใช่แค่ตัวตลกหรืออาภัพรัก Cr. ภาพยนตร์เรื่อง มะลิลา (Malila: The Farewell Flower)

นุชชี่ กล่าวเสริมว่า ต่อไป ซีรีส์วายจะกลายเป็นแนวหลักของภาพยนตร์ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค หรือระดับโลก

“เหมือนหนังแนวอื่น เช่น แอ็คชั่น แต่ต้องพัฒนา คอนเทนท์ ให้เหมาะกับผู้ชมที่อายุมากขึ้น มีประเด็นจริงจังขึ้น

พัฒนาไปโดยธรรมชาติ ตามความต้องการของแฟน ๆ อาจจะมีแนวสยองขวัญ มีฐานที่กว้างขึ้น ไม่ใช่น่ารักกุ๊กกิ๊กสำหรับผู้ชมอายุน้อยอย่างเดียว

แล้วก็ไม่ใช่แค่ความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่เป็นความหลากหลายทาง ชาติพันธุ์ ด้วย หรือบทคนพิการ เราต้องพยายาม กระจายให้เกิดขึ้น เพราะในอนาคตคนเหล่านี้จะได้สร้างอาชีพขึ้นมาในอุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในที่สุดเราก็จะมี ความหลากหลาย ต่อไปอาจจะไม่ต้องมานั่งดูว่าเป็นเพศอะไร แคสที่ความสามารถ ความเหมาะสม

ในช่วง 2-3 ปีนี้ ความเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองมีความสำคัญมาก ทำให้เราได้แรงบันดาลใจ งานในอนาคตเราต้องหาประเด็นที่ไม่ใช่คนดูเชื่อมโยงได้ แต่เป็นประเด็นของทั่วโลก

จุดมุ่งหมายของเราตอนนี้คือ ส่งออกซีรีส์วายไปทั่วโลก ในฐานะผู้กำกับอิสระ เรามีหน้าที่พัฒนาแนวทางใหม่ ๆ Transgender มีมานานแล้ว แต่ไม่ได้นำเสนอในภาพลักษณ์ใหม่ ๆ"