"ทส. - ศธ." เดินหน้า โรงเรียนอีโคสคูล สร้าง Green citizen ศตวรรษ 21

"ทส. - ศธ." เดินหน้า โรงเรียนอีโคสคูล สร้าง Green citizen ศตวรรษ 21

"กระทรวง ทส." จับมือ "กระทรวงศึกษาธิการ" เดินหน้าโครงการ โรงเรียนอีโคสคูล พัฒนาเด็กและเยาวชนเติบโตเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ ตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือ Green citizen คาด 5 ปี สร้าง Green Citizen ไม่น้อยกว่า 500,000 คน โรงเรียนอีโคสคูลไม่น้อยกว่า 5,000 แห่ง

วันนี้ (27 ก.ค. 65) ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) เพื่อสนับสนุนกลไกการพัฒนาเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ในสถานศึกษา บูรณาการการทำงานที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขับเคลื่อน ดำเนินโครงการโรงเรียนอีโคสคูลให้สำเร็จตามเป้าหมาย พัฒนาเด็กและเยาวชน เติบโตเป็นพลเมืองที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

 

โรงเรียนอีโคสคูล คืออะไร ?

 

สำหรับ โครงการ โรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) จัดทำขึ้นโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในปี 2550 ภายใต้ชื่อ “โครงการโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยเริ่มจาก 41 โรงเรียนนำร่อง และพัฒนา ขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับยกระดับโรงเรียนอีโคสคูลที่มีผลการดำเนินงานที่เป็นที่ประจักษ์ ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้โรงเรียนอีโคสคูล เพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินงาน ในประเทศไทย และคัดเลือกให้เข้ารับรางวัล อาเซียน อีโคสคูล อวอร์ด ต่อไป

 

โรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) เป็นโรงเรียนที่มีการพัฒนาทั้งระบบหรือ Whole school approach และส่งเสริมแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสิ่งแวดล้อมศึกษาในทุกระดับเพื่อพัฒนานักเรียนให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ ตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือ Green citizen ใช้ชีวิตอย่าง พอเพียง เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

 

พันธกิจหลัก 4 ด้าน กลยุทธ์ 4 H

 

การดำเนินงานของโรงเรียนอีโคสคูล ตามแนวทางการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ หรือ Whole school approach ได้กำหนดเป็นพันธกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่

  • นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและโครงสร้างบริหารจัดการ
  • จัดกระบวนการเรียนรู้ ตามหลักสิ่งแวดล้อมศึกษา
  • การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน
  • การมีส่วนร่วม และเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา

 

และเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กไทย ให้มีความรู้ เป็นคนดี และมีทักษะจำเป็นใน ศตวรรษที่ 21 ผ่านกระบวนการและกิจกรรมเสริมทักษะตามกลยุทธ์ 4 H ได้แก่

  • ด้านสติปัญญา (Head)
  • ด้านอารมณ์ จิตใจ (Heart)
  • ด้านทักษะ ฝีมือ อาชีพ (Hand)
  • ด้านสุขภาพ (Health)

 

อีโคสคูลกว่า 611 แห่ง

 

ในปี 2563 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน ขยายผลโครงการโดยแบ่งระดับการดำเนินงานโรงเรียนอีโคสคูลออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับต้น ระดับกลาง ระดับสูง

 

ปัจจุบัน มีโรงเรียนอีโคสคูลทั้งสิ้น 611 โรงเรียน เป็น เครือข่ายเดิมที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 - 2563 จำนวน 277 โรงเรียน ระดับต้น จำนวน 254 โรงเรียน ระดับกลาง 66 โรงเรียน และศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนอีโคสคูล 14 ศูนย์

คาด 5 ปี โรงเรียนอีโคสคูล 5,000 แห่งทั่วประเทศ

 

ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงศึกษาธิการ ในวันนี้ เป็นการเดินหน้า ดำเนินงานโครงการ โรงเรียนอีโคสคูล โดย กระทรวงศึกษาธิการ จะร่วมผลักดันให้สถานศึกษาภายใต้ สังกัด สพฐ. ดำเนินงานโรงเรียนอีโคสคูล โดยเป้าหมายการขับเคลื่อนในวันนี้ เชื่อว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะสร้างพลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ไม่น้อยกว่า 500,000 คน หรือมีโรงเรียนอีโคสคูลทั่วประเทศไทยไม่น้อยกว่า 5,000 แห่ง

 

และเด็กไทยทั่วประเทศจะได้รับการพัฒนาทักษะด้านการศึกษาสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างครอบคลุม และมีความพร้อมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างประโยชน์ให้โรงเรียน เกิดการพัฒนาในทุกมิติ เปิดประสบการณ์แนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียน หรือ Outdoor Education ให้แก่ครูผู้สอน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการประเมินวิทยาฐานะต่อไป

 

เดินหน้าสร้าง Green citizen

 

“วราวุธ ศิลปะอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเริ่มต้นมาจากผู้ใหญ่และท้ายที่สุดเยาวชนจะต้องเป็นคนแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพราะต้องเป็นคนรับไม้ต่อด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การจะสร้างพลเมืองสิ่งแวดล้อม หรือ Green citizen ขึ้นมา จำเป็นอย่างยิ่งที่เป้าหมายของนักเรียนแต่ละคน โรงเรียนแต่ละแห่ง ต้องมีการตระหนัก ตื่นรู้ ให้พวกเขาเหล่านั้น เป็นพลเมืองตื่นรู้ ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำแล้ง น้ำท่วม ที่เกิดขึ้นต้องได้รับการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง

 

“เราอยากเห็นพลังในตัวลูกหลานในประเทศไทยได้ช่วยกัน นอกจากจะปลูกฝังความตระหนักรู้ให้แก่ลูกหลานแล้ว บุคลากรทางการศึกษาทุกคน ล้วนแล้วเป็นตัวอย่างสำคัญที่ดีให้กับเด็กๆ ทุกคน การที่จะมีผลผลิตที่ดีได้ แม่พิมพ์จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจให้ดีเสียก่อน"

 

ดังนั้น การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ กระทรวง ทส. พร้อมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ อุปกรณ์ ที่จะเอื้อให้สถานศึกษาทุกแห่ง ให้ความรู้กับเยาวชนที่ถือเป็นต้นกล้าของประเทศทุกคน และในอนาคต คาดว่าจะขยายความร่วมมือนี้ ไปยังกระทรวงอื่นๆ เพราะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม กลับมากระทบสังคมไทยในทุกมิติ แต่วันนี้เราวางอิฐก้อนแรกให้แก่ประเทศไทย ในการปลูกฝังค่านิยม การตื่นรู้ให้แก่ลูกหลานทุกคนตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป

 

บ่มเพาะเยาวชน ศตวรรษที่ 21

 

ด้าน “ตรีนุช เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องระดับประเทศ และระดับโลก เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุด ทำอย่างไรให้เยาวชน ซึ่งเป็นต้นกล้าสำคัญ ในการตื่นรู้ ดังนั้น ความร่วมมือกับ กระทรวง ทส. ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม จะนำไปสู่การสร้างความตื่นรู้และการรับรู้ให้ต้นกล้าได้เข้มแข็งขึ้น พร้อมกับการจัดกระบวนการเรียนรู้และศึกษาขึ้น

 

ที่ผ่านมา ศธ. มีโรงเรียนอีโคสคูลนำร่อง แต่ยังมีจำนวนจำกัดอยู่ วันนี้จะเป็นการตอกย้ำ ว่าจะนำเนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้ในรั้วโรงเรียน ไม่เฉพาะวิชาเท่านั้น แต่หมายถึงการบูรณาการทั้งโรงเรียน มุ่งเน้นสร้างเด็กศตวรรษที่ 21 ซึ่งในมิติในเรื่องของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญ เราได้ดำเนินการในเรื่อง Active learning ทำอย่างไรให้เด็กเรียนรู้ในระบบโรงเรียนสีเขียว รวมถึงความสะอาด รักษ์โลก และการลดพลังงาน 

 

"การบูรณาการความร่วมมือครั้งนี้ จึงเป็นการเชื่อมโยงทำให้เป้าหมายของเด็กเยาวชนในวันนี้ ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ในการรักษาโลกและสร้างโลกของเราให้เป็นโลกที่น่าอยู่และเกิดนวัตกรรมหลายแบบ ในการป้องกันสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมไปสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน"

 

"โดย ศธ. พร้อมร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนอีโคสคูล ให้ครอบคลุมเบื้องต้นในสังกัด สพฐ. จะดูแลเด็กประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายในการเติบโตเป็นพลเมืองใช้ชีวิตเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป"

 

สร้างกลไก บูรณาการทำงาน

 

“เฉลิมชัย ปาปะทา” อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) เกิดจากวิสัยทัศน์ของทั้งสองกระทรวง ที่มุ่งหวังให้เกิดการบูรณาการการทำงานที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนอีโคสคูลให้สำเร็จตามเป้าหมาย พัฒนาเด็กและเยาวชน เติบโตเป็นพลเมืองที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

 

ตลอดจนสร้างกลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนโรงเรียนอีโคสคูลให้เกิดขึ้นในโรงเรียนภายใต้สังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ จะช่วยให้โรงเรียนเกิดการพัฒนาในทุกมิติ นักเรียนได้รับการพัฒนาคุณลักษณะ พฤติกรรมอันพึงประสงค์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้แก่เยาชนที่เป็นอนาคตของชาติตลอดไป