เปิดผลภูมิคุ้มกัน ฉีดวัคซีน 3 เข็ม ต่อโควิด 19 โอมิครอน BA.5

เปิดผลภูมิคุ้มกัน ฉีดวัคซีน 3 เข็ม ต่อโควิด 19 โอมิครอน BA.5

กรมวิทย์เผยโควิด19โอมิครอน BA.4/BA.5 ครองไทย กทม.80 %  โอกาสรุนแรงมากขึ้น ผลทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีน 3 เข็ม พบหลบภูมิฯได้มากกว่าสายพันธุ์อื่นในทุกสูตร ขอคนไทยรับวัคซีนเข็มกระตุ้นหากรับเข็มล่าสุดนานแล้ว

     เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19  ประเด็น “การเฝ้าระวังโอมิครอน BA.2.75 และการติดตามภูมิคุ้มกันต่อคนที่ได้รับวัคซีนเช็ม 3 ต่อ BA.5” นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า  สัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 16-22 ก.ค.2565 จำนวน  468  ราย  พบเป็น BA.4/BA.5 จำนวน 320  ราย BA.2 จำนวน  143 ราย และBA.1 จำนวน  5 ราย  ภาพรวมพบว่า ขณะนี้สัดส่วน BA.4/BA.5 อยู่ที่ 68.4 % ครองพื้นที่ในประเทศไทยแทน BA.2 ที่อยู่ที่ 30.6 % และBA.1 อยู่ที่ 1.1 %

      เมื่อแยกพื้นที่กทม.พบมีความชุกของ BA.4/BA.5 อยู่ที่  80 % ส่วนภูมิภาคอยู่ที่ 60 %  เป็นการบอกได้ว่า BA.4/BA.5เมื่อเทียนบกับ BA.1 และ BA.2 แพร่ได้เร็วกว่า สอดคล้องกับสถานการณ์ตอนนี้ที่มีผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยมากขึ้น  และเมื่อนำมาทำการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว พบว่าสัดส่วน BA.5 อยู่ที่ 75.63 % มากกว่า BA.4 ซึ่งอยู่ที่ 24.73 %   

     นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า เมื่อนำกลุ่มตัวอย่างมาดูความรุนแรงระหว่าง16-22 ก.ค.2565  พบว่า พื้นที่กทม. กลุ่มอาการไม่รุนแรง จำนวน 122 ราย  เจอ BA.4/BA.5 จำนวน 94 ราย คิดเป็น 77 % กลุ่มอาการรุนแรงที่มีอาการปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิต  จำนวน 54 ราย เจอ BA.4/BA.5 จำนวน 47 ราย คิดเป็น 87 % เพราะฉะนั้นเจอสูงกว่าในกลุ่มไม่รุนแรง อนุมานได้เบื้องต้น BA.4/BA.5 รุนแรงมากกว่าสายพันธุ์เดิม
       ส่วนในต่างจังหวัด กลุ่มไม่รุนแรง จำนวน 345 ราย  เจอ BA.4/BA.5  จำนวน 124 ราย  คิดเป็น 55 % กลุ่มรุนแรง จำนวน 53 ราย เจอ BA.4/BA.5  จำนวน 39 ราย คิดเป็น 73 % อนุมานได้ว่า ติดเชื้อ BA.4/BA.5  น่าจะมีโอกาสอาการรุนแรงเพิ่มมากกว่าสายพันธุ์เดิม แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ารุนแรงขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์
     หากดูข้อมูลตั้งแต่ 2-22 ก.ค.2565  พบว่า  พื้นที่กทม. กลุ่มอาการไม่รุนแรง จำนวน 475ราย  เจอ BA.4/BA.5 จำนวน 361 ราย คิดเป็น 76 % กลุ่มอาการรุนแรง  จำนวน 101 ราย เจอ BA.4/BA.5 จำนวน 79 ราย คิดเป็น 78 % ส่วนในต่างจังหวัด กลุ่มไม่รุนแรง จำนวน 774 ราย  เจอ BA.4/BA.5  จำนวน 325 ราย  คิดเป็น 42 % กลุ่มรุนแรง จำนวน 137 ราย เจอ BA.4/BA.5  จำนวน 81 ราย คิดเป็น 60  %  ซึ่งข้อมูลสอดคล้องกันว่า BA.4/BA.5   ทำให้เกิดอาการรุนแรงมากกว่า

     สำหรับ BA.2.75  ตอนนี้ในประเทศไทยมีรายงานเพียง 1 ราย แต่คงมีมากกว่านี้ แต่ตอนนี้การตรวจสายพันธุ์นี้จะต้องดำเนินการด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว  การตรวจเบื้องต้นยังระบุตรงๆว่าเป็น BA.2.75 ไม่ได้  แต่ถ้าใครตรวจแล้วไม่เข้ากับสายพันธุ์BA.1 BA.2 BA.4 BA.5 จะต้องส่งตัวอย่างมากตรวจโดยเร็วว่าเป็น BA .2.75  หรือไม่ และอีกราว 1 สัปดาห์จะสามารถส่งน้ำยาเฉพาะเพื่อให้ห้องแล็ปในต่างจังหวัดสามารถตรวจได้เลย และข้อมูลจากGISAID  มีรายงาน 538 ราย ขึ้นมาจากเมื่อวันที่ 20  ก.ค.2565บ้าง แต่ไม่ได้มากมาย ต้องจับตาดูต่อไป 
       นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า กรมได้ดำเนินการติดตามภูมิคุ้มกันในคนที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 ต่อไวรัสจริงสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.5 เทียบกับ BA.2  โดยการเพาะเชื้อเป็นๆเมื่อได้ปริมาณมากแล้ว นำมาทดสอบกับคนที่ฉีดวัคซีน 3 เข็ม โดยวิธี Plaque Reduction Neutrlization Test(PRNT) เอาเชื้อเป็นๆมาทดสอบกับภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดหลังฉีด 2 สัปดาห์ ต้องใช้ห้องแล็ปที่มีความปลอดภัยระดับ 3 ขึ้นไป เป็นวิธีมาตรฐานโลกที่บอกว่าฆ่าเชื้อได้จริงหรือไม่ พบว่า
      สูตรซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วย แอสตร้าเซนเนก้า ภูมิฯ ลดจาก 203.5 เหลือ 89.79ต่อBA.5
       สูตรซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วย ไฟเซอร์ ภูมิฯลดจาก 345.8 เหลือ 153.8ต่อBA.5

       สูตรแอสตร้าฯ 2 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์  ภูมิฯลดจาก 226.2 เหลือ 86.51ต่อBA.5

   สูตรซิโนแวค แอสตร้าฯ ตามด้วย แอสตร้าฯ ภูมิฯลดจาก 84.60 เหลือ 43.60ต่อBA.5

    “ โดยสรุปBA.5 หลบภูมิที่เกิดจ่กวัคซีนได้ดีกว่า BA.2  แปลว่าวัคซีนมีผลน้อยลง แต่อย่างที่ทราบหากไตเตอร์จางไป 1 ต่อ 10 ถือว่าน่าจะป้องกันโรคได้อยู่ตามสมควร เพราะฉะนั้น วัคซีน 3 เข็มทุกสูตรมีค่าเกิน 10 ไปมาพอควร หมายความคนฉีด 3 เข็มถ้าระยะไม่นานนัก ช่วยป้องกันโรคได้ตามสมควร แต่ป้องกันความรุนแรง อาการหนักช่วยอยู่แล้ว ดังนั้นทุกสูตรเมื่อเวลาผ่านไป  3,  4 6 เดือน ค่อยเริ่มลดระดับลง ก็อาจจะลดลงกว่านี้เมื่อเจอ BA.5  จึงมีความจำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้น หากฉีดเข็มสุดท้ายมานานแล้ว ขอให้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกันมากขึ้น ทำให้ป้องกันโรคหรือป้องกันความรุนแรงจะเข้มแข็งขึ้น”นพ.ศุภกิจกล่าว   
     นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศ ที่พบว่า หลังติดเชื้อแล้ว 2 สัปดาห์  เมื่อติดสายพันธุ์ BA.1  BA.2 จะมีภูมิฯสูงต่อสายพันธุ์นั้น แต่เมื่อเป็นสายพันธุ์ BA.4 BA.5ภูมิก็ลดลงอีก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ติดเชื้อได้อีกแค่หลังติด 1-2 สัปดาห์  หลังติดเชื้อ 28 วันก็เช่นกัน เมื่อติดเชื้อแล้วมีภูมิฯขึ้นสูงใน 4 สัปดาห์ แต่เจอ BA.4 BA.5ภูมิลดลงประมาณ 3 เท่า น่าจะติดเชื้อซ้ำได้

        “คนที่ได้รับวัคซีน 3 เข็ม เป็นแอสตร้าฯหรือไฟเซอร์ จะพบภูมุค้มกันต่อ BA.4 BA.5 ลดลง คนที่ติดเชื้อ BA.1 หรือ BA.2 จะพบภูมิคุ้มกันต่อ BA.4 BA.5 ลดลง ส่งผลให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อซ้ำได้อีก  ฉะนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีน 3เข็ม จะมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน BA.5 ลดลงแต่ยังป้องกันการติดเชื้อรุนแรงได้  ผู้ที่ได้รับวัคซีน 3 เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรได้รับเข็ม 4 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอนBA.5ลดการติดเชื้อและความรุนแรงของโรค และมาตรการดูแลตนเองใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ยังมีประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อ”นพ.ศุภกิจกล่าว 

      ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า  สายพันธุ์ BA.4/BA.5 จะเห็นได้ว่ารายงานในต่างประเทศมีการศึกษา BA.4 / BA.5 เป็นการดูภูมิคุ้มกันร่วมกัน เนื่องจาก BA.4 / BA.5 ตรงสไปก์มีความเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นระหว่าง BA.4 / BA.5 อาจจะไม่มีความแตกต่างกัน