ฝีดาษลิงรายแรกไทย สายพันธุ์ย่อยไม่เหมือนที่กำลังระบาดในยุโรป

ฝีดาษลิงรายแรกไทย สายพันธุ์ย่อยไม่เหมือนที่กำลังระบาดในยุโรป

ฝีดาษลิง ค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดรายแรก 33 ราย ลุยค้นเชิงรุกผู้ป่วยโรคผื่นผิวหนังอื่น ส่งตรวจ 183 ราย ตรวจสายพันธุ์ย่อยไม่เหมือนที่กำลังระบาดในยุโรป WHO ยังไม่จัดเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข  ความรุนแรงไม่มาก-ติดต่อไม่ง่าย  ย้ำใช้ชีวิตปกติ เดินเฉียดความเสี่ยงเป็น 0 

เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 23 ก.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคฝีดาษลิง (โรคฝีดาษวานร) ในประเทศไทย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า จากการที่มีการยืนยันพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิงรายแรกของประเทศไทย นับเป็นประเทศที่ 66 จากทั่วโลกหลังจากมีการระบาดมา 2 เดือนกว่า อย่างไรก็ตาม คณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก(WHO) ได้มีการประชุมครั้งที่ 2แล้ว ยังไม่ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ที่จำเป็นต้องจำกัดการเดินทางของประชาชนทั่วโก เพราะดูตามลักษณะโรคฝีดาษวานร ความรุนแรงไม่มาก  และการติดต่อไม่ง่าย โดยหลังระบาดมา 2 เดือนพบผู้ป่วยทั่วโลก ราว 14,000 รายเท่านั้น ส่วนใหญ่หายได้เอง

สำหรับการติดตามผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานรของประเทศไทย ผู้ป่วยรายนี้ได้ติดตามโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทางภูเก็ต โดยให้ข้อมูลตอนเข้าประเทศไทยว่า จะมาเรียนภาษาที่เชียงใหม่ แต่ไม่ปรากฏว่า เขาไปทำอะไร อย่างไร และเมื่อเจ้าหน้าที่ติดต่อไปก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ลักษณะไม่เหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไปที่เวลาเป็นโรคอะไร ส่วนใหญ่จะให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ รวมถึงมีพฤติกรรมหลบหนี เวลาติดต่อเจ้าหน้าที่จะหลบเลี่ยง ล่าสุดพบสัญญาณมือถือแถวจังหวัดชายแดน ซึ่งนักท่องเที่ยวรายนี้ไม่ใช่นักท่องเที่ยวธรรมดา น่าจะมีคนช่วยเหลือหลบหนีในประเทศไทย จากนี้ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพราะกรณีจะมีกฎหมายอื่นใช้ร่วมกัน

    “กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ภูเก็ต ส่วนกลาง และจังหวัดชายแดน รวมทั้งข้อมูลที่ได้เบื้องต้นอาจจะหลบหนีผ่านช่องทางธรรมชาติตรงชายแดนไป เราได้ขอความร่วมมือกระทรวงการต่างประเทศให้ประสานชายแดนที่เขาหลบหนีไป เพื่อติดตามป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด รวมทั้งหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานติดกัน อย่างจังหวัดสระแก้ว จะได้มีการประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขฝั่งตรงข้ามติดตามผู้ติดเชื้อต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

  ในการสอบสวนควบคุมโรค มีการค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิด รวม 33 ราย  ทั้งหมดไม่มีอาการป่วย ในจำนวนนี้เป็นสัมผัสเสี่ยงสูง 19 ราย ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจและสังเกตอาการป่วยของตนเอง 21 วัน ผลออกมาไม่พบเชื้อ 2 ราย อยู่ระหว่างการตรวจและรอผลอีก 17 ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำอีก 14 ราย สัมผัสเสี่ยงต่ำ 1 ราย และไม่ใช่ผู้สัมผัสเสี่ยง  13 ราย ให้อยู่ภายใต้การสังเกตอาการของตนเอง 21 วัน 

ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย มีการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมเชิงรุก(Active case finding)

1.ในสถานบันเทิง 2 แห่ง คัดกรองผู้ที่มีอาการป่วย ไข้ ไอ เจ็บคอ หรือมีตุ่มผื่นขึ้น เป็นกลุ่มพนักงานและผู้ใช้บริการ 142  ราย   พบผู้ที่มีอาการป่วยไข้ เจ็บคอ ปวดตามตัว 6 ราย แต่ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน ส่งตรวจหาเชื้อ 5 ราย และไม่พบเชื้อ อีก 1 รายไปต่างประเทศแล้ว

2.ค้นหาเชิงรุก จากผู้ป่วยโรคผื่นผิวหนังอื่น รวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่รับบริการในรพ.3 แห่งและคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 3 แห่ง เพื่อสุ่มตรวจหาเชื้อฝีดาษวานร โดยใช้เกณฑ์การสุ่ม ดังนี้  เกณฑ์ที่ 1 คือ ผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มารับบริการที่รพ./คลินิกตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 ถึงปัจจุบัน และมีอาการผื่นตามร่างกายโดยไม่ใช่โรคประจำตัว หรือได้รับการวินิจฉัยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเกณฑ์ที่ 2  คือ ผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มารับบริการที่รพ./คลินิกตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 ถึงปัจจุบัน และมีอาการผื่นบริเวณอวัยวะเพศ ทั้งหมดอยู่ระกหว่างการเก็บข้อมูลอาการป่วยเพิ่มเติม ประวัติเสี่ยง และสุ่มเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อ รวม 183 ราย

     นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ฝีดาษวานร มี 2 สายพันธุ์ใหญ่ คือ แอฟริกาตะวันตก ที่มีการระบาดอยู่ในขณะนี้และมีความรุนแรงน้อยกว่าแอฟริกากลาง ส่วนใหญ่ระบาดอยู่ในแอฟริกา  ซึ่งการระบาดในรอบนี้ส่วนใหญ่เป็นแอฟริกาตะวันตกและมีสายพันธุ์ย่อย  โดยผู้ป่วยรายแรกที่ยืนยันในประเทศไทย พบเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก แต่เมื่อมีการตรวจสอบสายพันธุ์ย่อย พบเป็น A.2 สัมพันธ์กับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในอเมริกา ไม่ได้แปลว่าผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อจากอเมริกาหรือจากไหน  เพราะการจะติดจากไหนต้องพบตัวและซักประวัติอีกครั้ง แต่เป็นความรู้ให้รู้ไว้ ส่วนสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดในยุโรปเป็น B.1

     “ถ้าใช้ชีวิตปกติ พฤติกรรมทั่วไป เดินเฉียดกันความเสี่ยงแทบจะเป็นศูนย์บางคนถามปัสสาวะมากระเด็นใส่เราจะติดหรือไม่ ไม่ติดหรอก    โรคนี้ไม่ได้ติดง่ายๆ เชื้ออยู่ตามตุ่มตามหนอง ต้องสัมผัสใกล้ชิด เดินเฉียดกันไม่ติดแน่นอน ติดยากกว่าโรคเอดส์ ซึ่งเป็นโรคเพศสัมพันธ์จริงๆ ตุ่มขึ้นภายใน 2 สัปดาห์จะแห้งแล้วหายไป ไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

     เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าชายไนจีเรียอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2564 อาจจะมีการติดเชื้อภายในประเทศหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เนื่องจากเราไม่เจอตัวชายคนดังกล่าว ซึ่งประวัติชัดๆ ก็ไม่มี เป็นคนที่มีพฤติกรรมมไม่ตรงไปตรงมา บางข่าวบอกว่ามีการเดินทางเข้าๆ ออกๆ เป็นต้น เมื่อถามว่าจะต้องมีการตรวจเชิงรุกในกลุ่มใดเป็นพิเศษหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ก็มีการเฝ้าระวังคัดกรองอยู่ แต่ขอไม่พูดถึงกลุ่ม เพื่อไม่ให้มีการบูลลี่กัน

    ถามถึงฝีดาษวานรในเด็กเล็กอันตรายหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคนี้ โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ความรุนแรงน้อย ผู้เสียชีวิตไม่มาก แต่ทุกโรค โดยเฉพาะโรคติดต่อ โรคติดเชื้อ กลุ่มเปราะบางที่เมื่อติดเชื้อและส่วนใหญ่อาการจะรุนแรง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว ก็ต้องระวังหลีกเลี่ยงติดเชื้อ แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ติดจะเป็นชาย อยู่ในช่วงวัยรุ่น วัยกลางคน เด็กเล็กไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แต่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหลีกเลี่ยงอย่าให้คนมีตุ่มขึ้นมาสัมผัสใกล้ชิดกับเด็ก