ย้ำ! ผู้ป่วยโควิดไม่ได้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ทุกคน เช็กเงื่อนไขใครได้บ้าง?

ย้ำ! ผู้ป่วยโควิดไม่ได้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ทุกคน เช็กเงื่อนไขใครได้บ้าง?

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยทุกรายต้องได้รับยาต้านไวรัส (ฟาวิฯ, โมลนูฯ, แพกซ์โลวิด)แต่จริงๆ แล้ว ตามแนวทางการจ่ายยาผู้ป่วยโควิด-19 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 24 ชี้ว่าผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรงจะไม่ได้รับยาต้านไวรัส

กรมการแพทย์ ย้ำ ผู้ป่วยโควิดระลอกนี้ ไม่ได้ยาฟาวิพิราเวียร์ ทุกคน เช็กเงื่อนไขใครได้บ้าง? ตามแนวทางการจ่ายยาผู้ป่วยโควิด-19 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 24 (ประกาศแนวทางฯ ณ วันที่ 11 ก.ค. 65)

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ มีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประชาชนบางส่วนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวทางการจ่ายยาผู้ป่วยโควิด-19 และมีความเข้าใจผิด! ว่า ผู้ป่วยทุกรายต้องได้รับยาต้านไวรัส (ฟาวิฯ, โมลนูฯ, แพกซ์โลวิด)

โดยกรมการแพทย์ยืนยันว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ควรได้รับการรักษาตามแนวทางการรักษาที่กรมการแพทย์ร่วมมือกับคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ และผู้แทนทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้างาน มีการทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามข้อมูลวิชาการในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง 

 

ปัจจุบันได้มีการประกาศใช้แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 24 วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือสบายดี

ให้ดูแลรักษาตามอาการ *ไม่ให้ยาต้านไวรัส* โดยดูแลการรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with self Isolation) เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง แพทย์อาจให้ยาฟ้าทะลายโจรเพื่อบรรเทาอาการที่ไม่รุนแรงได้

 

  • ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ

แพทย์อาจให้ “ยาฟาวิพิราเวียร์” ในช่วง 4 วันแรก หลังมีอาการ แต่หากผู้ป่วยมีอาการมาเกิน 5 วัน และดีขึ้นแล้ว แพทย์อาจไม่ให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

 

  • ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ

อีกทั้ง นับรวมกลุ่มที่เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน โดยกลุ่มนี้แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส 1 ชนิด ตั้งแต่เริ่มมีอาการ โดยพิจารณาจากประวัติโรคประจำตัว ข้อห้ามการใช้ยา ปฏิกิริยาต่อกันของยาต้านไวรัสกับยาเดิมของผู้ป่วย

 

  • ผู้ป่วยรุนแรงปอดอักเสบ ต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจน

กลุ่มนี้จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดตามแนวทางเวชปฏิบัติฯ โดยการใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะยาต้านไวรัสทุกตัวเป็น emergency used

อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย ต่อประชาชน ครอบครัว และชุมชน การป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุด คือ รับวัคซีน รวมทั้ง ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่ชุมชน ล้างมือ และรักษายะยะห่างระหว่างบุคคล

------------------------------------------

อ้างอิง : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข