"อาการโควิด" มาก-น้อย ได้ยาไม่เหมือนกัน เปิดเกณฑ์รักษาโควิดใหม่ เช็กเลย

"อาการโควิด" มาก-น้อย ได้ยาไม่เหมือนกัน เปิดเกณฑ์รักษาโควิดใหม่ เช็กเลย

เปิดเกณฑ์รักษาโควิดฉบับใหม่ กรมการแพทย์ ปรับการจ่ายยาให้เหมาะสมกับแต่ละระดับอาการป่วย แบ่งเป็นผู้ป่วยไม่มีอาการ, ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง, ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง แต่มีความเสี่ยงโรคร่วม และผู้ป่วยหนัก

อัปเดตเกณฑ์รักษาโควิดฉบับใหม่ จาก "กรมการแพทย์" เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์​การระบาดของ "โควิด-19" ระลอกใหม่ล่าสุด ปี 2565 และให้เหมาะสมกับผู้ป่วยโควิดแต่ละระดับอาการมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิดที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 ในไทยนั้น ยังขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นเดียวกับทั่วโลก 

สถานพยาบาลใดๆ ทั้งรัฐและเอกชน หากมีการสั่งจ่ายยาดังกล่าวให้กับผู้ป่วยโควิด-19 จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ตามแนวทางการรักษาที่ออกโดยกรมการแพทย์ 

ทั้งนี้ "กรมการแพทย์" ได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงใหม่ ครั้งที่ 24 วันที่ 11 ก.ค. 2565 

โดยความร่วมมือของคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้แทนทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้างาน ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด ได้ทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามข้อมูลวิชาการใน ประเทศและต่างประเทศ ดังนี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

การรักษาผู้ติดโควิด-19 แบ่งเป็นกลุ่มตามความรุนแรงของโรคและปัจจัยเสี่ยงได้ 4 กรณี ดังนี้

1. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี 

เป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการป่วยใดๆ ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้านแบบ HI ให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้ายไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์

2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ 

เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ไม่รุนแรง ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ และตรวจสอบภาพถ่ายรังสีปอดพบว่าปกติ กรณีนี้อาจพิจารณาให้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ควรเริ่มยาโดยเร็ว

หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย อาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน 

\"อาการโควิด\" มาก-น้อย ได้ยาไม่เหมือนกัน เปิดเกณฑ์รักษาโควิดใหม่ เช็กเลย

3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่เสี่ยงต่อโรครุนแรง/มีโรคร่วม

เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง มีโรคประจำตัว หรือ ผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน

กลุ่มนี้แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด โดยควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี โดยหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงให้ "ยาฟาวิพิราเวียร์"

  • หากมีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ โดยมีลำดับการให้ยา คือ โมลนูพิราเวียร์ ,เรมเดซิเวียร์,เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) และฟาวิพิราเวียร์  
  • หากมีปัจจัยเสี่ยง 2 ข้อขึ้นไป ให้เรมเดซิเวียร์ หรือเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) หรือโมลนูพิราเวียร์

 

ทั้งนี้  การจัดลำดับการให้ยา พิจารณาจากปริมาณยาที่มีในประเทศ,  ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราการป่วยหนัก, อัตราตาย, ความสะดวกในการบริหารยา และราคายา  ซึ่งข้อมูลปัจจุบัน เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่มีราคาสูงที่สุด ส่วนฟาวิพิราเวียร์ ไม่ช่วยลดอัตราป่วยหนัก แต่ช่วยลดอาการได้ หากได้รับยาเร็วในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง

*หมายเหตุ : ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่รุนแรง คือ อายุมากกว่า  60 ปีขึ้นไป ,โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคปอดอื่นๆ, โรคไตเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหัวใจแต่กำเนิด, โรคหลอดเลือดสมอง, เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้, ภาวะอ้วน, ตับแข็ง, ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี

4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง

กลุ่มผู้ป่วยอาการหนัก คือ ตรวจพบปอดอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการและได้รับออกซิเจน แนะนำให้ "ยาเรมเดซิเวียร์" โดยเร็วที่สุด เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก ควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ร่วมกับให้ "ยาคอร์ดิโคสเตียรอยด์" (corticosteroid)

นอกจากนี้ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์  อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ระบุว่า ตอนนี้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เปลี่ยนไปจากเดิม จึงมีแนวทางให้คนไข้ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ตอนนี้จึงมีการพิจารณายกเลิกประกาศให้จัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราวที่เคยจัดตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ จำนวน 100 กว่าแห่ง 

แต่ล่าสุด มีรายงานว่าขณะนี้สถานพยาบาลเอกชนบางแห่ง แจ้งเข้ามาว่ามีจำนวนคนไข้มากขึ้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนเตียงคนไข้ปกติในโรงพยาบาล จึงกำลังขอให้ สบส. พิจารณาทบทวนเรื่องยกเลิกประกาศนี้ออกไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ 1- 2 เดือน  ซึ่งกำลังเสนอประธานกรรมการสถานพยาบาลว่าจะขยายตรงส่วนนี้ได้หรือไม่” นพ.ธเรศกล่าว