ปีงบ66 ยุคหลังโควิด19 จัดงบวิจัยสุขภาพแบบใหม่ 1,400 ล้านบาท

ปีงบ66 ยุคหลังโควิด19 จัดงบวิจัยสุขภาพแบบใหม่ 1,400 ล้านบาท

ไทยนำเข้ายา-อุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ 4 แสนล้านบาท ปีงบ66 ยุคหลังโควิด19 จัดงบวิจัยสุขภาพแบบใหม่ 1,400 ล้านบาท มุ่ง 5 เรื่องสำคัญ เฉพาะพัฒนาระบบ 450 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 ที่โรงแรมอัศวิน นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ 30 ปี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 : ร่วมกันวิจัย ยกระดับคุณภาพชีวิต” ว่า สวรส.ได้มีการขยายวง มีภาคีเครือข่ายที่สูงมากขึ้น การให้ทุนวิจัยในหัวข้อสำคัญและทันต่อสถานการณ์จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งไม่ได้ตีกรอบอยู่เฉพาะสาธารณสุขอย่างเดียว แต่อาจจะเกี่ยวข้องไปถึงเรื่องของการกระจายอำนาจ การโอนถ่ายรพ.สต.ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญของประเทศ

แต่สำหรับผู้บริหารประเทศไทย ต้องใช้ทักษะอย่างมากของความหลากหลายและความแตกต่างทั้งความคิด รายได้ประชากร ชีวิตความเป็นอยู่ และความเชื่อทั้งวัฒนธรรมและการเมือง   โดยงานวิจัยต่างๆจะไปสนับสนุนสิ่งที่เป็นงานวิชาการและค่อยๆให้ความรู้และความเชื่อต่อประชาชนและวิชาชีพ เพื่อมีข้อมูลสนับสนุนในทางที่ถูกต้องและเชิงวิชาการ

        “ข้อมูลเชิงวิชาการคือการกลั่นกรองข้อมูล การให้ความแม่นยำในแง่ทฤษฎีเป็นข้อมูลสำคัญประกอบในการตัดสินใจ ช่วยให้วิชาชีพต่างๆมีข้อมูลตัดสินใจอย่างดี ส่งเสริมนักวิจัยที่ต้องใช้กรณีปัญหา เพื่อศึกษาและทำการวิจัย นำสู่ทฤษฎีและใช้ประโยชน์ รวมกับการใช้ทักษะของความเป็นคนไทยในการบริหารองค์กรนั้นให้ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นก้าวย่างที่สำคัญของครบ 30 ปี สวรส. นำผลงานวิจัยไปพัฒนาระบบสุขภาพส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและแต่ละวิชาชีพ “นายสาธิตกล่าว

        ด้านศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ  ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(กสว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) กล่าวถึงการวิจัยด้านสุขภาพเพื่อคนไทยในยุคPost-COVID-19ว่า การวิจัยระบบสุขภาพที่จะทำให้คนไทยสุขภาพดีขึ้น  คือ 1. ระบบบริการสุขภาพ(Health Service) ทั้งในกระทรวงสาธารณสุขและอยู่นอกกระทรวงสาธารณสุข หรือเอกชนจะมีการพัฒนาได้อย่างไร ซึ่งบางส่วนเป็นการวิจัยระบบบริการของโรคที่สำคัญต้องมีการเลือกเพราะมีงบประมาณที่จำกัดอยู่ บางช่วงเลือกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโควิด-19 เป็นต้น

   2. ระบบสุขภาพ(Health System) บทเรียนจากโควิด19 ทำให้เห็นภาพระบบที่กำลังพัฒนาขึ้นใหม่ เห็นภาพรพ.ที่แน่น โล่งหายไป แต่ทำอย่างไรให้คนไข้ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี อาจจะต้องมีการปเลี่ยนแปลงไป เช่น มีการรับยาใกล้บ้าน แต่หลังหมดโควิด19แล้วรพ.จะกลับมาแน่นเหมือนเดิมหรือไม่ ระบบการส่งต่อจะเป็นอย่างไร การส่งต่อระหว่างรพ.รัฐและเอกชน และการแบกรับค่าใช้จ่าย เป็นเรื่องระบบที่จะต้องมีการศึกษาวิจัย  3.การดูแลสุขภาพ(Health Care) ปัจจุบันมีการกระจายไปมากกว่าการรักษาดูแลในรพ. อยากเห็นภาพของการส่งเสริมสุขภาพ จิตใจ  หรืออื่นๆยังจำเป็นต้องทำงานวิจัย

       4. บุคลากรด้านสุขภาพและการฝึกอบรม(Health Personnels &  Training) บุคลากรทางการแพทย์ การทำงานร่วมกัน ระบบฝึกอบรมเป็นอย่างไร ซึ่งปัญหาโควิด19ทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่าง เช่น เครื่องช่วยหายใจอาจจะไม่เพียงพอ เตรียมให้ทุนทำวิจัย แต่กลับพบว่ามีปริมาณเพียงพอแล้ว แต่จะจัดระบบอย่างไรให้มีการรับทราบว่าอยู่ที่ไหน จะส่งต่ออย่างไร เหมาะคนไข้แบบไหน  ซึ่งปัจจุบันคนที่จะเข้ามาเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่เสี่ยงและต้องมีการดูแลตนเองอย่างมาก เพราะฉะนั้นระบบฝึกอบรมต่างๆต้องมี และต้องครอบคุลมถึงการทำงานนอกรพ.ด้วย เพราะบุคลากรทางการแพทย์อย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องมีอาสาสมัครที่จะต้องทำอย่างไรให้มีความรู้ ความสามารถได้ระดับหนึ่ง  เป็นสิ่งงต้องศึกษาวิจัย
        และ5.เครื่องมือและยา (Medicine & Equipments MED. Product) ซึ่งประเทศไทยมีการนำเข้าสิ่งเหล่านี้จากต่างประเทศ 4 แสนล้านบาท จึงต้องกลับมามองว่าการวิจัยในประเทศไทยมีการทำเรื่องยาแบบครบวงจรหรือไม่ ขณะนี้ยาทั่วไปหรือยาหมดอายุทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเอกชนเริ่มทำแล้ว เรียกว่ายาแปลงโฉม คือ ยาบางอย่างที่ใช้กับโรคหนึ่งอาจจะนำมาใช้กับโรคหนึ่งได้  รวมถึง ใช้พืชหรือสมุนไพรมาทำเป็นยาจริงได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีแต่นักวิจัยทำแต่คนที่จะต่อยอดไม่พร้อม ไม่ต่อเนื่องเชื่อมโยง จึงต้องทำวิจัยให้ครบสามารถออกมาเป็นยาได้ 

      ในปีนี้ กสว.ได้ระดมทุนจากภาคเอกชนได้ 2,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ต้องมียา ที่ไม่ใช่สมุนไพร อาหารเสริมให้อย่างน้อย 5 ตัวที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ตั้งเป้า ส่วนเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ สั่งเข้าจากต่างประเทศมาก ปัจจุบันเริ่มให้ทุนวิจัยทำเป็นระบบเพื่อทดแทน หลายอย่างเป็นเรื่องต้องใช้ในรพ.และหลายอย่างเป็นอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยต้องใช้ เช่น เครื่องช่วยฟัง รากฟันเทียม เป็นต้น

       “การจะขับเคลื่อนต้องมีเงิน เดิมที่ผ่านมาการวิจัยด้านสุขภาพ ไม่เคยมีการระบุว่าจะให้งบประมาณเท่าไหร่ ประเทศไทยมีเงินวิจัยปีละราว 15,000-20,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2566 จำนวน 17,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีโฟกัสที่จะมองถึงการวิจัยเฉพาะทางที่อยากจะได้คิดเป็น 60% ของ 17,000 ล้านบาท และขณะนี้ 1,400 ล้านบาทเป็นเงินวิจัยสุขภาพแบบใหม่ ให้ต่างหาก 450 ล้านบาทเป็นเรื่องการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาระบบ ไม่รวมถึง โครงการเอ็กตราด้านจีโนมิกซ์ “ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพรกล่าว