สธ.ระบุ "โควิด19" ยังพบระบาด "ระลอกเล็กไปเรื่อยๆ"

สธ.ระบุ "โควิด19" ยังพบระบาด "ระลอกเล็กไปเรื่อยๆ"

สธ. ระบุหลังพ้นการระบาดใหญ่ยังสามารถพบการติดโควิด19 ระลอกเล็กๆได้ สั่งหน่วยงานสาธารณสุขเตรียมพร้อมรองรับ ยังไม่จำเป็นต้องยกระดับการแจ้งเตือน ขอความร่วมมือประชาชนป้องกันตนเองและมาฉีดวัคซีน จุดพีคราวก.ย.นี้ คาดป่วยเข้ารักษา 4,000 รายต่อวัน

เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทย เข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจากนี้เราต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด (Living with COVID) เหมือนอย่างโรคอื่นๆ ซึ่งหมายความว่า ยังสามารถพบการติดเชื้อได้แต่ความรุนแรงของโรคลดลง การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะไม่มากเกินระบบสาธารณสุขที่มีจะรองรับได้ โดยจากการผ่อนคลายมาตรการ เปิดกิจการและกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงมีการเปิดประเทศ ทำให้มีผู้เดินทางเข้าประเทศมากขึ้น อาจพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ (Small Wave) ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะไม่ใช่การระบาดใหญ่ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีการเตรียมความพร้อมรองรับตามแนวทาง 3 พอ คือ หมอพอ เตียงพอ ยาและเวชภัณฑ์พอ

"สถานการณ์เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ จึงมีการเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุขไว้รองรับ โดยกำชับและแจ้งไปยังหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ให้บุคลากรทางการแพทย์ระมัดระวังป้องกันตนเองในการให้บริการ เตรียมความพร้อมยา เวชภัณฑ์ สำรองเตียง ความพร้อมระบบส่งต่อ และเร่งเดินหน้าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในการคงมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล จะช่วยลดการติดเชื้อและหยุดระลอกเล็กๆ เหล่านี้ลงได้" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

         นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังคงแจ้งเตือนภัยโควิด 19 ในระดับ 2 ยังไม่จำเป็นต้องยกระดับการแจ้งเตือน โดยในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด เน้นตามมาตรการ 2U ได้แก่ Universal Prevention คือ มาตรการป้องกันโรค ทั้งเว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก แม้จะมีการออกประกาศให้สวมหน้ากากโดยสมัครใจ แต่แนะนำให้ยังต้องสวมในกลุ่มผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง
       รวมถึงยังต้องสวมเมื่อไม่สามารถเว้นระยะห่างจากผู้อื่นได้ การเข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก การอยู่ในสถานที่เสี่ยงหรือสถานที่แออัด และ Universal Vaccination คือ มาตรการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต ทำให้ลดการเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาล และระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้

    ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  การระบาดของโควิด19เป็นระลอกใหม่หรือไม่นั้น  คงไม่นับว่าเป็นระลอกใหม่แล้ว เพราะลักษณะการระบาดตอนนี้จะเป็นครั้งๆ แล้วแต่สายพันธุ์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4/BA.5 ที่พบว่ามีการติดเชื้อได้เร็ว แต่ความรุนแรงค่อนข้างน้อย รวมถึงมีมาตรกรผ่อนคลายมากขึ้นสอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลก ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่จะมาติดตามในผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ระบบสาธารณสุขยังรับได้

           “จะเรียกว่าพบการระบาดเป็น เวฟเล็กๆ ซึ่งจะมีลักษณะระบาดขึ้นลงตามวงรอบ ส่วนหนึ่งมาจากเชื้อกลายพันธุ์ด้วย เชื่อว่าตอนนี้เชื้อกับคน กำลังหาจุดสมดุลกันอยู่ โดยเชื้อกลายพันธุ์อ่อนแรงลงเพื่อให้อยู่กับคนได้ ส่วนคนก็ฉีดวัคซีนแล้ว มีการติดเชื้อสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติมากขึ้นแล้ว เชื่อว่าจุดสมดุลระหว่าง คนกับเชื้อโรค น่าจะถึงจุดสมดุลเร็วๆ นี้ แต่ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าช่วงใด แต่ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่ทำให้ก้าวพ้นระยะการระบาด(Pandemic) ได้”นพ.โอภาสกล่าว   

         นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ที่มีข่าวว่าเตียงล้นรพ.เท่าที่ตรวจสอบพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอาการไม่มาก แต่หลายคนขออยู่รพ. เพราะมีเรื่องประกันสุขภาพด้วย แต่จริงๆ คนป่วยหนัก เตียงไอซียูโควิดยังรองรับได้ และที่สำคัญคือ เตียงโควิดที่เคยมีมากๆ ตอนนี้ก็ปรับกลับไปให้ผู้ป่วยโรคทั่วไปแล้ว ตอนนี้เตียงเลยไม่ได้มากเหมือนเดิม ซึ่งก็ไม่ได้ประมาทและมีการติดตามสถานการณ์สม่ำเสมอ แต่จะเห็นว่า ปัญหาพบมากที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ส่วนจังหวัดอื่นพบปัญหาน้อยมาก แต่ก็มีการให้หน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมรองรับให้สอดคล้องกันสถานการณ์ในพื้นที่นั้นๆ

     เมื่อถามต่อว่ามีผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์เรื่องตัวเลขติดเชื้อจริงที่น่าจะมากกว่า 5 หมื่นรายต่อวัน  นพ.โอภาสกล่าวว่า การติดเชื้อจริงๆ ไม่มีใครบอกได้ว่า ติดเชื้อมากถึงไหน อาจจะมากกว่าตัวเลขที่มี 2 เท่า 3 เท่า 5 เท่า หรือ 10 เท่า ตรงนี้ไม่มีใครบอกได้ เพราะไม่ได้ตรวจ RT-PCR ในทุกคนที่สงสัยแล้ว จะตรวจเฉพาะผู้ที่ต้องเข้ารักษาใน รพ. ส่วนคนทั่วไปก็ใช้ตรวจ ATK เฉพาะตอนมีอาการ ซึ่งหลายคนอาการน้อย ก็ไม่ได้ตรวจเชื้อแล้ว ฉะนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องหาว่าการติดเชื้อกี่คน ซึ่งทั่วโลกก็ทำเหมือนๆ กัน โดยต่างประเทศก็ไม่ได้ตรวจอะไรแล้ว

     “สิ่งที่ต้องสนใจ คือ ผู้ป่วยนอน รพ. ใส่ท่อหายใจ ที่จะเป็นตัวเลขที่บอกสถานการณ์ได้ค่อยข้างดีและแม่นยำที่สุด ตอนนี้มาตรการสำคัญคือ เร่งฉีดวัคซีนกระตุ้น สวมหน้ากากอนามัยในคนและเหตุการณ์เสี่ยง และเว้นระยะห่างด้วย ส่วนมาตรการปิดกิจกรรมต่างๆ ต้องดูอีกทีว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และมีผลกระทบอย่างไรด้วย แต่เบื้องต้นทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดการณ์อยู่ ว่าจะมีการระบาดขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว

      นพ.โอภาส  กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประชาชนติดเชื้อก็มีความรู้ในการดูแลตัวเอง อยู่บ้านรักษาตามอาการ นี่เป็นตัวยืนยันว่า มาตรการฉีดวัคซีนของเราได้ผลเพราะถ้าไม่ได้รับวัคซีน ก็จะต้องมีเหตุการณ์คนล้น รพ.เกิดขึ้นอีกเหมือนสายพันธุ์เดลต้า อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมกับ ศปก.ศบค.ในข้อมูลต่างๆ นำมาสู่การวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ก่อนที่จะนำเสนอในการประชุมศบค.ในวันที่ 8 ก.ค.นี้

          นพ.จักรรัฐ  พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค  กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่และเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไปถึงปี 2566 คาดว่าจะเกิดเวฟเล็กๆ เป็นอาฟเตอร์ช็อกตามมา จากการผ่อนคลายมาตรการ เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น เวฟเล็กแรกที่จะเจอคือ ช่วงสัปดาห์นี้ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 35 หรือช่วง 10 สัปดาห์จากนี้ไปจนถึง ก.ย.นี้ที่จะเป็นช่วงพีคสุด คาดการณ์จากมาตรการที่ยังคงเหมือนในมิ.ย. คือ ยังสวมหน้ากาก ซึ่งตอนนี้มีป่วยเข้ารักษา 2,000 รายต่อวัน ก็คาดว่า ก.ย.ไม่ควรจะเกิน 4,000 รายต่อวัน แต่ถ้าผ่อนคลายมาตรการกันหมด ไม่สวมหน้ากาก ก็อาจจะเกินจากนี้ได้ แต่ยังต้องพิจารณาปัจจัยในช่วงเวลาใกล้ๆ อีกครั้ง แต่อาจไม่สูงเท่าโอมิครอนช่วงต้นปี เนื่องจากฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว ส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตก็จะมีการคาดการณ์ตัวเลขเพิ่มเติม

      “ยังแนะนำให้ใส่หน้ากาก และช่วงระบาดมากๆ เป็นวงกว้าง ต้องรณรงค์ฉีดวัคซีน แม้ส่วนใหญ่ติดเชื้อไม่แสดงอาการและนอนที่บ้าน แต่กลุ่ม 608 เราไม่รู้จะรับเชื้อเมื่อไร จะให้สวมหน้ากาก เว้นระยะห่างตลอดเวลาก็ยาก ลูกหลานไปเยี่ยมก็พาเชื้อมาได้ จึงจำเป็นต้องใส่หน้ากากให้มากที่สุดเมื่ออยู่กับคนอื่นและไปฉีดวัคซีน" นพ.จักรรัฐกล่าว