ส่องแผน “งบบัตรทอง" ปี 66 กว่า 2.04 แสนล้านบาท เพิ่ม/ขยายบริการอะไรบ้าง

ส่องแผน “งบบัตรทอง" ปี 66 กว่า 2.04 แสนล้านบาท เพิ่ม/ขยายบริการอะไรบ้าง

"บอร์ด สปสช." อนุมัติแผนบริหารจัดสรร “งบบัตรทอง" ปี 66 กว่า 2.04 แสนล้านบาท เพิ่ม/ขยายบริการดูแลประชาชนครอบคลุมทั่วถึงยิ่งขึ้น รวมงบบริการกรณีโควิด-19 กว่า 1.35 พันล้านบาท พร้อมพัฒนาประสิทธิภาพระบบเบิกจ่ายและตรวจสอบ ช่วยลดภาระการส่งข้อมูลของหน่วยบริการ

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กทม. - นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริการจัดการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2566 และร่างข้อบังคับประกาศเกี่ยวข้อง ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน โดยมี นางดวงตา ตันโช เป็นประธาน

 

นายอนุทิน กล่าวว่า ตามที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติงบประมาณ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ปีงบประมาณ 2566

  • วงเงิน 204,140.02 ล้านบาท
  • เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 5,248.24 ล้านบาท
  • ในจำนวนนี้เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 161,602.66 ล้านบาท
  • หรือเฉลี่ย 3,385.98 บาทต่อประชากร

จากงบที่ได้รับนี้ สปสช. นอกจากจะนำมาจัดสรรตามรายการบริการแล้ว ปีนี้ยังได้เพิ่มการสนับสนุนบริการใหม่ให้กับประชาชน รวมถึงการเพิ่มการเข้าถึงบริการ เพิ่มคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพ โดย บอร์ด สปสช.ได้เห็นชอบในวันนี้

บริการเพิ่มในปี 2566

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับบริการที่เพิ่มขึ้นปี 2566 นี้ ได้แก่

  • การดูแลภาวะความดันเลือดในปอดสูงในทารกแรกเกิด  (Persistent Pulmonary Hypertension of the Newborn) 320 ราย จำนวน 32 ล้านบาท
  • บริการด้านทันตกรรม Vital Pulp Therapy 56,300 ราย จำนวน 78.82 ล้านบาท
  • รากฟันเทียม 15,200 ราย จำนวน 191.37 ล้านบาท
  • บริการห้องฉุกเฉินคุณภาพภาครัฐ 53,184 ราย จำนวน 759.79 ล้านบาท
  • ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับ 48,554 ราย จำนวน 505.08 บาท
  • บริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV-PEP) 27,000 ราย จำนวน 36.05 ล้านบาท
  • เพิ่มยา จ.2 จำนวน 14 รายการ ดูแลผู้ป่วย 9,634 ราย จำนวน 302.93 ล้านบาท
  • บริการดูแลผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลัน 30,283 ราย จำนวน 271.83 ล้านบาท
  • บริการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับพิษ 7,598 ราย และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 3,653,215 ราย จำนวน 509.40 ล้านบาท เป็นต้น 

 

เพิ่มการเข้าถึง ดูแล "โควิด-19"

 

นอกจากนี้ ยังได้ปรับการบริหารจัดการที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการยิ่งขึ้น ได้แก่

  • บริการโรคโควิด-19 ที่ปรับให้อยู่ในงบกองทุนฯ ครอบคลุมทั้งบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การป้องกันและการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีฉีดวัคซีนโควิด-19 451,987 ราย จำนวน 1,358.86 ล้านบาท
  • นโยบายยกระดับบัตรทอง 2,689,480 ราย จำนวน 1,987.64 ล้านบาท
  • ยาราคาแพงเพื่อรักษามะเร็ง 125.31 ล้านบาท
  • บริการยาที่มีส่วนผสมของกัญชาที่บรรจุในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ 21,100 ราย จำนวน 44.41 ล้านบาท
  • เบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูง ปรับการจ่ายตามรายการบริการ 4,097,967 ราย จำนวน 908 ล้านบาท
  • เพิ่มสัดส่วนสมทบกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพในระดับจังหวัดตามความพร้อมแต่ละฟื้นที่ 3,870,191 ราย จำนวน 822.19 ล้านบาท
  • ผ่าตัดข้อเข่าและผ่าตัดต้อกระจก ปรับเป้าหมายตามบริบทพื้นที่ 130,514 ราย จำนวน 1,777.99 ล้านบาท
  • บริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) ปรับจ่ายตามแผนการดูแลแต่ละบุคคล (Care plan) และปรับรอบการจ่ายเป็นทุก 15 วัน 210,941 ราย จำนวน 1,265,65 ล้านบาท
  • บริการไตวายเรื้อรัง 67,786 ราย จำนวน 9,952.18 ล้านบาท โดยปรับการดูแลยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพิ่มทางเลือกจ่ายชดเชยเป็นเงินสำหรับน้ำยาล้างไต และยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง (EPO) เป็นต้น
  • นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบแผนและวงเงินการจัดหายา วัคซีน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ฯ ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ปี 2566 วงเงิน 12,162.83 ล้านบาท 

 

พัฒนาประสิทธิภาพการจ่ายหน่วยบริการ

 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน สปสช. ยังได้พัฒนาประสิทธิภาพระบบการจ่ายที่สนับสนุนการบริการของหน่วยบริการ ได้แก่

  • การบูรณาการระบบข้อมูลบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อคืนข้อมูลให้กับหน่วยบริการและประชาชน
  • การทำระบบเชื่อมข้อมูลบริการเพื่อลดภาระการส่งข้อมูลของหน่วยบริการ
  • การเพิ่มประสิทธิภาพตรวจสอบการจ่าย ได้แก่ การพิสูจน์ตัวตน ระบบตรวจก่อนจ่าย เน้นการใช้ AI Audit เน้นบริการจ่ายตามผลงานทุกรายการ เป็นต้น
  • การจัดทำกลไกทบทวนอัตราจ่ายตามรายการบริการ โดยมีคณะทำงานทบทวน
  • การปรับระบบขยายบริการข้ามเขตและการจัดทำระบบการให้บริการมากกว่า 1 หน่วยบริการ อย่างกรณีนวัตกรรมย่านโยธี
  • นอกจากนี้ในปี 2566 นี้ ยังได้เพิ่มบทบาท อปสข. ร่วมให้คำแนะนำ/ความเห็นต่อหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าบริการ เพื่อให้เป็นไปตามบริบทซึ่งเป็นปัญหาในพื้นที่ 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือ คลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ