สปสช. แจงงบ กปท. หนุนท้องถิ่นป้องกัน "ชะลอไตเสื่อม" และแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่

สปสช. แจงงบ กปท. หนุนท้องถิ่นป้องกัน "ชะลอไตเสื่อม" และแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่

สปสช. จัดประชุมชี้แจงการใช้งบ กปท. โครงการ "ชะลอไตเสื่อม" และ "ผ้าอ้อมผู้ใหญ่" หวังท้องถิ่นส่งเสริมสุขภาพสนับสนุนทศวรรษการป้องกันและชะลอภาวะไตเรื้อรัง พร้อมอัพเดทแนวทางการแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่แก่ผู้มีภาวะติดเตียงหรือมีปัญหาการขับถ่าย

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมออนไลน์ชี้แจงเรื่องสิทธิประโยชน์ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ /การป้องกันและชะลอภาวะ ไตวายเรื้อรัง ในชุมชน โดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดย นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า กองทุน กปท. ซึ่งสมทบเงินร่วมกันระหว่าง สปสช. และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ แต่ละปีมีประชาชนที่ได้ประโยชน์จากการส่งเสริมสุขภาพ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงระยะสุดท้ายของชีวิตประมาณ 28-29 ล้านคน

 

นพ.อภิชาติ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีอีก 2 เรื่องที่สามารถใช้งบประมาณของกองทุน กปท. มาสร้างสิ่งดีๆได้ คือเรื่องการป้องกันและชะลอภาวะไตเสื่อม และการจัดสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่/แผ่นรองซับ โดยในส่วนของการป้องกันและ ชะลอไตเสื่อม นั้น เนื่องจากหากปล่อยให้ประชาชนเสี่ยงต่อไตวายเรื้อรัง ถ้าต้องฟอกไตทั้งทางหน้าท้อง ฟอกเลือด หรือผ่าตัดเปลี่ยนไต จะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ค่าใช้จ่ายนี้เพิ่มขึ้นทุกปี สปสช. ต้องจ่ายเงินปีละ 7,000-8,000 ล้านบาทและมีโอกาสสูงถึง 10,000 ล้านบาทในไม่ช้า ดังนั้น การป้องกันและชะลอไตเสื่อมเป็นเรื่องสำคัญมาก

 

สปสช. แจงงบ กปท. หนุนท้องถิ่นป้องกัน "ชะลอไตเสื่อม" และแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่

"เรื่องนี้เป็นความร่วมมือตั้งแต่รัฐบาล สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผลักดันการป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และภาวะอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ไตเสื่อมสภาพ เราจะประกาศเป็นทศวรรษการป้องกันและชะลอภาวะไตเรื้อรังและดำเนินการในเรื่องนี้อย่างน้อย 10 ปี เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและลดภาระของประเทศในการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง"

 

"ซึ่งในส่วนของ สปสช. ทางคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. มีมติให้สนับสนุนอย่างเต็มที่และให้ดำเนินการทันที โดยส่งเสริมการใช้เงินกองทุน กปท. ที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่นในการจัดทำโครงการป้องกันและชะลอภาวะไตเสื่อม การป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ซึ่งตอนนี้หลายท้องถิ่นก็ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว มีหลายพื้นที่ที่ทำได้ดีมากจนสามารถจัดตั้งระบบการดูแลโรคไตเรื้อรังในชุมชนได้ และคาดว่าจะต้องทำต่อไป" นพ.อภิชาติ กล่าว

 

สิทธิประโยชน์ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 

 

เรื่องต่อมาคือการจัดสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่/แผ่นรองซับสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ADL ต่ำกว่า 6 และผู้มีปัญหาการกลั้นปัสสาวะอุจจาระ ซึ่งบอร์ด สปสช. อนุมัติให้เป็นสิทธิประโยชน์เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมาและจะประกาศอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ โดยเรื่องนี้เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ที่ช่วยลดภาระให้กับครอบครัวของผู้ป่วยติดเตียงหรือมีปัญหาการขับถ่าย สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายอย่างน้อยปีละประมาณ 10,000 บาท/คน

 

สปสช. แจงงบ กปท. หนุนท้องถิ่นป้องกัน "ชะลอไตเสื่อม" และแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่

นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ผู้ได้รับสิทธิจะได้ผ้าอ้อมไม่เกิน 3 ชิ้น/คน/วัน ซึ่งสปสช. ร่วมกับ กรมอนามัย อยู่ระหว่างหารือจัดทำคุณลักษณะหรือสเปคผ้าอ้อมและราคากลางซึ่งน่าจะอยู่ที่ประมาณ 9.45-9.5 บาท/ชิ้น โดยในปีนี้สามารถใช้เงินกองทุน กปท. ที่คงค้างอยู่มาจัดสิทธิประโยชน์ได้เลย ขณะนี้ สปสช.ประสานงานส่งจำนวนผู้ที่จำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อมไปยัง สปสช.เขตทั้ง 13 เขต แล้ว

 

จากนั้น สปสช.เขต จะส่งรายชื่อต่อให้แต่ละท้องถิ่น เบื้องต้นมีผู้ป่วยติดเตียงประมาณ 3 หมื่นรายที่อยู่ในฐานข้อมูล และในพื้นที่ก็สามารถค้นหาเพิ่มเติมอีกได้ เมื่อค้นหาผู้ป่วยหรือผู้ป่วยมาแสดงตัวลงทะเบียนแล้ว Care Manager หรือผู้จัดการระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข จะจัดทำ Care Plan หรือแผนการดูแลสุขภาพรายบุคคลแล้วส่งโครงการขออนุมัติจากกองทุน กปท. ของแต่ละท้องถิ่นได้ รวมทั้งในอนาคตจะขยายไปยังกองทุนระดับจังหวัดเพื่อเสริมในพื้นที่ที่ยังขาด 

 

"ทั้ง 2 เรื่องนี้ สปสช.เขต จะเป็นผู้ประสานกับแต่ละท้องถิ่นเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการ รวมทั้ง สปสช.จะจัดทำโครงการตัวอย่างให้แต่ละพื้นที่นำไปปรับใช้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามกับทาง สปสช.เขต หรือโทรเข้าสายด่วน สปสช. 1330 ได้ทันที" นพ.อภิชาติ กล่าว

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือ คลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

สปสช. แจงงบ กปท. หนุนท้องถิ่นป้องกัน "ชะลอไตเสื่อม" และแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่