กรมควบคุมโรคเล็งฉีด "ยาEvusheld"ให้ผู้ป่วย 2 กลุ่ม ป้องกันโควิด19

กรมควบคุมโรคเล็งฉีด "ยาEvusheld"ให้ผู้ป่วย 2 กลุ่ม ป้องกันโควิด19

กรมควบคุมโรคระบุแนวโน้มติดโควิด19พิ่มขึ้น แต่ความรุนแรง-เสียชีวิตลดลง อัตราป่วยตายในไทย อยู่ที่ 0.07% ใกล้เคียงไข้หวัดใหญ่ แนะข้อปฏิบัติเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคหลังระบาดใหญ่ เล็งฉีด "ยาEvusheld"ให้ผู้ป่วย 2 กลุ่ม ป้องกันโควิด19หลังอย.อนุมัติแล้ว

    เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีการระบุว่าสถานการณ์โรคโควิด – 19 ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อจริงสูงกว่าที่มีการรายงานราวๆ 10 เท่า ว่า ในข้อมูลทั่วโลกที่มีการรายงานขณะนี้ก็ไม่ใช่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจริง มีการคาดการณ์ว่ามากกว่าตัวเลขที่รายงาน 7-8 เท่า ซึ่งการติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อเพื่อดูแนวโน้มการระบาดของโรค ส่วนในประเทศไทย ขณะนี้แนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจริง หลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น แต่ไม่ได้รุนแรงเหมือนการระบาดช่วงสายพันธุ์เดลตา และโอมิครอนในช่วงแรกๆ

       “ตัวเลขผู้ติดเชื้อขณะไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ปอดอักเสบ ผู้เสียชีวิต ซึ่งจะสะท้อนสถานการณ์ว่าจริงๆ แล้วโรครุนแรงหรือไม่ ระบบสาธารณสุขรองรับได้หรือไม่ ซึ่งกรมเฝ้าระวังอยู่   โดยอัตราการป่วยตายของไทยตอนนี้ลดลง อยู่ที่ 0.07%  และน่าจะต่ำกว่านี้อีก  ถือว่าใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอัตราป่วยเสียชีวิต 1 ใน พันราย หรืออยู่ที่ 0.1% ซึ่งไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ได้ตรวจทุกวัน ส่วนความรุนแรงของโรคก็น้อยลง เพียงแต่ตอนนี้สถานการณ์ติดเชื้อทั่วโลกกำลังติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ไม่เร็วมากเหมือนเดลตา หรือโอมิครอนช่วงแรก”นพ.โอภาสกล่าว   

      นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า กรณีที่ประชาชนยังมีความตื่นตระหนก เมื่อมีการรายงานพบผู้ติดเชื้อ ในพื้นที่ต่างๆ ขอย้ำว่า ถึงเจอแต่กราฟขึ้นๆ  ลงๆ ได้ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาจุดสมดุลของฐานต่ำสุดเทียบกับช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 300-400 รายต่อวัน ปอดอักเสบ 800-900 รายต่อวัน เสียชีวิต 20-30 ราย ต่อวัน หากตัวเลขอยู่ระดับนี้ แลกกับการที่เราสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ คิดว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะพอยอมรับได้ แต่เราพยายามดูแลให้มีผู้ป่วย และเสียชีวิตให้น้อยที่สุด  

      คำแนะนำสำหรับประชาชนในการปฏิบัติตัวหลังพ้นการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) คือ 1.การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกถุ่ม 608 เนื่องจากในจำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน ส่วนใหญ่ยังเป็นคนกลุ่มนี้ คนทั่วไปยังแนะนำทุก 4 เดือน ยกเว้นว่าจะมีการศึกษาและมีคำแนะนำนออกมาเพิ่มเติม ส่วนทึ่คนกังวลว่าวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ได้นั้น วัคซีนทุกตัวแม้ว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อลดลง แต่ประสิทธิภาพในการลดการป่วยหนัก ลดการเสียชีวิตนั้นไม่ได้ลดลง จึงขอเชิญชวนให้ไปฉีด และ2. การสวมหน้ากากอนามัยถือว่ายังมีประโยชน์โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่รวมกับคนหมู่มาก

     เมื่อถามถึงแนวทางการให้ยาฉีด Evusheld เพื่อป้องกันโควิด19หลังจากอย.ได้อนุมัติให้มีการใช้แล้ นพ.โอภาส กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้รับการอนุมัติให้มีการจัดซื้อแล้ว เบื้องต้นจำนวน 2 แสนโดส แต่ไม่ได้เพิ่มงบประมาณเพื่อจัดซื้อ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงสัญญากับทางบริษัทผู้ผลิตเพื่อเปลี่ยนจากวัคซีน มาเป็นยาดังกล่าวแทน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมพิจารณาลงนามในสัญญา ส่วนการนำไปใช้นั้น คณะกรรมการวิชาการในคณะกรรมกาโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบให้นำมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกัน คือ ผู้ป่วยโรคไต ผู้เปลี่ยนไต ฟอกไต  นอกจากนี้ มีการเสนอให้ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องด้วย กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา