1 ก.ค.นี้ ติดโควิด19 รักษาฟรีตามสิทธิ ยกเลิกระบบ HI

1 ก.ค.นี้ ติดโควิด19 รักษาฟรีตามสิทธิ ยกเลิกระบบ HI

1 ก.ค.นี้ ปรับระบบรักษากลับสู่ภาวะปกติ ติดโควิด19รักษาฟรีตามสิทธิ บัตรทองสิ้นมิ.ย.ยกเลิกระบบ HI ปรับเป็นดูแลผู้ป่วยนอก “เจอ แจก จบ” ส่วนประกันสังคมยังขยายต่อ เผย 3 ปี  ใช้งบฯรักษามากกว่า 1.5 แสนล้านบาท 

     เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2565 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า  หลังจากที่ไทยพ้นการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ( Post-Pandemic)  ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 1 ก.ค.นี้  ซึ่งระบบการรักษาพยาบาลของประชาชนจะกลับสู่ภาวะปกติ  เมื่อมีการเจ็บป่วยก็ให้รักษาพยาบาลตามสิทธิรักษาเดิมที่มีอยู่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  เป็นการไปใช้บริการในสถานพยาบาลใกล้บ้าน หากแพทย์พิจารณาแล้วจำเป็นต้องมีการส่งตัวเข้ารับการรักษาในรพ.อื่นก็จะใช้ระบบประเมินแล้วส่งต่อของรพ.

“การป่วยโควิด ต่อไปก็จะเหมือนกับการเจ็บป่วยแบบไข้หวัดธรรมดา  แต่เดิมการระบาดของโควิด ช่วงแรกมีประชาชนป่วยมาก ทำให้หน่วยงานรัฐต้องระดมความช่วยเหลือจากภาคเอกชน ทำให้เมื่อป่วยโควิด สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที หรือ การเกิด Hospital  แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิดเริ่มดีขึ้น ก็ต้องมีการปรับระบบเข้าสถานการณ์ปัจจุบัน  เพราะโรคไม่ได้รุนแรงเหมือนเดิมอีกต่อไป”ทพ.อรรถพรกล่าว  

        ทพ.อรรถพร กล่าวด้วยว่า สำหรับค่ารักษาพยาบาลโควิด-19 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ ปี  2563  ถึง  ปัจจุบัน ใช้งบประมาณมากกว่า 150,000 ล้านบาท  และ ในการประชุมบอร์ดสปสช.ในวันที่ 4 ก.ค.  เตรียมพิจารณาเรื่องการแจกชุดตรวจ ATK ในร้านขายยา ว่าสมควรยกเลิก หรือ ขยายต่อหรือไม่ เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ของกรมควบคุมโรค การตรวจ ATK จะทำต่อเมื่อมีอาการป่วยเท่านั้น ไม่ต้องมีการตรวจบ่อยครั้งเหมือนในอดีต

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า แนวทางการดูแลผู้ป่วยจะปรับตามสถานการณ์  ในช่วงแรกปี 2563 ผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลหมด แต่ระยะที่พบผู้ป่วยหลักแสนราย ก็ใช้ระบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นรักษาแบบผู้ป่วยนอก เจอแจกจบ ฉะนั้น สำหรับระยะหลังการระบาดใหญ่(Post pandemic) เราต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยจะไม่เพิ่มขึ้นเร็ว ไม่รุนแรง และต้องยอมรับว่าเรายังรู้จักโอมิครอน BA.4 BA.5 ไม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์ ได้ทำหนังสือสั่งการให้ทุกคนยังคงสวมหน้ากากอนามัยในสถานพยาบาลทุกแห่ง พร้อมการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในบุคลากรการแพทย์ รวมถึงประชาชนที่มารับบริการด้วย

“ในส่วนผู้ติดเชื้อที่อาการไม่ได้มากจนต้องเข้ารับการรักษาในรพ. เตรียมปรับระบบรักษาเป็นแบบผู้ป่วยนอก(OPD) ส่วนระบบรักษาที่บ้าน (HI) ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งว่าจะให้บริการถึงวันที่ 30 มิ.ย.2565  และจะใช้ระบบเจอแจกจบ หรือOPSIแทน  ส่วนประกันสังคมเท่าที่ทราบจะมีการขยายให้บริการ HI ต่อออกไปอีก ทั้งหมดนี้จะปรับตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพราะผลของการศึกษาทดลองพบว่า BA.4 BA.5 เชื้อไปที่เซลล์ปอดมากขึ้น แต่ข้อมูลในโลกจริงยังไม่มีระบุถึงความรุนแรงที่มากขึ้น”นพ.สมศักดิ์กล่าว