“วราวุธ” ลุย สวิตเซอร์แลนด์ ทำข้อตกลงซื้อ-ขาย "คาร์บอนเครดิต" คู่แรกของโลก

“วราวุธ” ลุย สวิตเซอร์แลนด์ ทำข้อตกลงซื้อ-ขาย "คาร์บอนเครดิต" คู่แรกของโลก

“วราวุธ” ลุย สวิตเซอร์แลนด์-โปรตุเกส ทำข้อตกลงซื้อ-ขาย "คาร์บอนเครดิต" ระหว่างประเทศคู่แรกของโลก พร้อมโชว์ผลงานการลดขยะพลาสติกลงทะเลอันดับ 10 ในที่ประชุมนานาชาติ โปรตุเกส

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย พร้อมคณะเดินทางไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และโปรตุเกส เพื่อลงนาม MOU ต่อเนื่อง ซื้อ-ขาย "คาร์บอนเครดิต" ระหว่างประเทศ และเข้าร่วมประชุมนานาชาติการดูแลรักษามหาสมุทร ระหว่างวันที่ 22 มิ.ย. - 1 ก.ค. 65

นายวราวุธ เปิดเผยว่า เราจะไปกรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก่อนเพื่อพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของสวิตเซอร์แลนด์ เป็นการลงนาม MOU ต่อเนื่องจากช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2564 เกี่ยวกับการพัฒนาเรื่อง climate change ระหว่างไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ ในครั้งนี้เราจะทำการตกลงซื้อขายระหว่างประเทศต่อประเทศ ภายใต้ข้อตกลง Paris Agreement Aticle 6.2 เป็นคู่แรกของโลกที่เซ็นสัญญาระหว่างประเทศ การทำเช่นนี้จะเอื้อให้เอกชนระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์มีการแลกเปลี่ยน อาทิ เรื่องเทคโนโลยี เรื่องเงินทุน ในทางกลับกันประเทศไทยจะมีการแลก "คาร์บอนเครดิต" กับทางสวิตเซอร์แลนด์

“วราวุธ” ลุย สวิตเซอร์แลนด์ ทำข้อตกลงซื้อ-ขาย "คาร์บอนเครดิต" คู่แรกของโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญในการแลกเปลี่ยน "คาร์บอนเครดิต" ภายใต้ข้อตกลงปารีสคือ เมื่อแลกคาร์บอนเครดิตแล้ว สิ่งที่ได้กลับมาเป็นเทคโนโลยี หรือเงินลงทุน ซึ่งมากกว่าปริมาณคาร์บอนที่เราปลดปล่อย จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดข้อตกลงขึ้น ดังนั้นประชาชนไม่ต้องเป็นกังวลว่าหากเราขายคาร์บอนเครดิตไปแล้วจะขาดทุน เพราะสิ่งที่ได้กลับมานั้นเพิ่มมากกว่า

ขณะที่ในช่วงครึ่งหลัง จะเดินทางไปที่เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส เพื่อเข้าร่วมการประชุมนานาชาติเรื่องการดูแลรักษามหาสมุทร ภายใต้ UN องค์การสหประชาชาติ ซึ่งการประชุมมีการเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง อันเนื่องจากสถานการณ์โควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเข้าร่วมในครั้งนี้เพื่อแสดงเจตจำนง การอัปเดตเพื่อให้ทั่วโลกรู้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินการเรื่องมหาสมุทรอย่างไร

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ตนเข้ารับตำแหน่งประเทศไทยถูกตั้งอันดับเป็นประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเลมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก แต่ได้ความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนและทุกหน่วยงาน วันนี้ประเทศไทยถูกลดลำดับลงมาเป็นอันดับที่ 10 แสดงให้เห็นว่าการทำงานของประเทศไทยมีความตั้ใจจริง และมีผลงานไปแสดงให้นานาประเทศได้เห็นว่า เราเป็นหนึ่งในผู้นำอาเซียนที่ต่อสู้กับขยะในทะเล

อย่างไรก็ตาม การไปเยือนทั้ง 2 ประเทศในครั้งน้ี จะเป็นเครื่องยืนยันความตั้งใจจริงของรัฐบาลไทย ที่จะแก้ไขปัญหาเรื่อง climate change และดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับนานาอารยประเทศ