เปิดเทอมใหม่..เด็กไทยยังไปไม่ถึงโรงเรียนอีก 1.7 หมื่นคน

เปิดเทอมใหม่..เด็กไทยยังไปไม่ถึงโรงเรียนอีก 1.7 หมื่นคน

กสศ. เปิดเวทีเสวนา “เปิดเทอมใหม่...เด็กไทยยังไปไม่ถึงโรงเรียน”เผยมีเด็กหลุดนอกระบบ 17,000 คน จาก 238,000 คน ที่ยังตามกลับมาเรียนไม่ได้ พร้อมเปิดมาตรการช่วยเด็กหลุดให้ทันวิกฤต ปิดช่องว่างพาน้องกลับมาเรียน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และภาคีเครือข่าย เปิดเวทีเสวนา “เปิดเทอมใหม่ ยังมีเด็กไปไม่ถึง...โรงเรียน” ถอดบทเรียนการทำงานเชิงพื้นที่ภายใต้โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” พร้อมเปิดมาตรการ และผสานความร่วมมือ 14 ภาคีเครือข่าย สร้างกลไกการช่วยเหลือนักเรียนในช่วงชั้นรอยต่อที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

  • เผยพาน้องกลับมาเรียน 1.7 หมื่นคนยังตามกลับมาไม่ได้

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวในเวทีเสวนาว่า ข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการในปีการศึกษา 2563-2564 พบว่ามีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 238,000 คน รัฐบาลจึงได้กำหนดให้เป็นนโยบายสำคัญในการพาน้องกลับมาเรียน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเด็กและเยาวชนเป็นอนาคตของชาติ โดยปัจจุบันเหลือเพียง 17,000 คนเท่านั้นที่ยังตามกลับเข้ามาไม่ได้

ดังนั้น โจทย์สำคัญของปีการศึกษานี้ก็คือ ต้องเร่งรัดมาตรการในการติดตามเด็กที่เหลือให้เจอให้ได้ โดยได้มีการตั้งศูนย์ประสานงานตามน้องกลับมาเรียนขึ้นที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยจะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 14 องค์กรในการติดตามเด็กกลุ่มนี้ให้กลับสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การตามนักเรียนให้กลับมาถือว่ายากแล้ว แต่คำตอบสุดท้ายที่ยากและสำคัญกว่าคือคนที่กลับมาแล้วทำอย่างไรไม่ให้ต้องหลุดออกไปอีกครั้ง เพราะปัญหาของเด็กที่มีความเสี่ยงหรือหลุดออกไปนั้นจะมีความซับซ้อนมากกว่าแค่ 1 เรื่อง เราจึงมองแต่ตัวเด็กไม่ได้ แต่เราต้องมองไปถึงผู้ปกครองด้วย ทั้ง เรื่องของปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม

 

  • มาตรการช่วยเหลือเด็กให้อยู่ในระบบการศึกษา 

กระทรวงศึกษาธิการดูแลไปไม่ถึงล้วนมีผลต่อตัวเด็ก ดังนั้นถ้าจะให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จทุกหน่วยงาน ทั้ง กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ จะต้องร่วมกันเข้าไปดูแลอย่างเป็นระบบไปจนถึงตัวผู้ปกครอง ซึ่งตัวโรงเรียนเองก็จะเป็นหัวใจหลักในการประสานกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ที่จะช่วยให้ตามน้องกลับมาเรียนได้สำเร็จ

สำหรับ “โครงการพาน้องกลับมาเรียน” เป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวน 14 องค์กร ที่จับมือร่วมกันสร้างกลไกการค้นหาและติดตามเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคมไทยในการพาเด็กๆ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง

โดยเวทีเสวนาที่จัดขึ้น ณ ลานกิจกรรม อาคารเอส พี ชั้น 13 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในวันนี้ได้มีกรณีศึกษาการแก้ปัญหาจาก 4 พื้นที่ ได้แก่จังหวัดนราธิวาส นนทบุรี ราชบุรี และขอนแก่น จากทั้งปัญหาความยากจน พิการซ้ำซ้อน ไม่มีค่าเดินทาง ต้องเสียสละให้น้องเรียน ไม่ได้จ่ายค่าเทอมไม่มีวุฒิไปเรียนต่อ ฯลฯ

รวมถึงการพาน้องกลับโรงเรียนภายใต้โครงการลมหายใจเพื่อน้อง ซึ่งทุกพื้นที่ล้วนเป็นโมเดลความสำเร็จและที่ใช้การบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงานที่สามารถขยายผลไปได้ทุกพื้นที่

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดเผยว่า ผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของโรงเรียน และการที่เด็กได้กลับมาโรงเรียน ไม่ใช่เฉพาะแค่การได้กลับมาเรียน แต่เด็กจะได้กลับมาทานอาหารครบถ้วน ได้กลับมาทานนม ได้รับอาหารเสริม ได้รับการดูแลจากสวัสดิการต่างๆ ในโรงเรียน ซึ่งครอบครัวเองก็ได้รับประโยชน์ตรงนี้ด้วย

 

  • พาน้องกลับมาเรียนได้สำเร็จ ต้องเกิดจากผู้บริหารและครู
     

โรงเรียนจึงเป็นพื้นที่ๆ มีความหมายมากกว่าการไปเรียนหนังสือ ดังนั้นการพาเด็กกลับมาได้นับแสนคนจึงถือว่าเป็นคุณูปการต่อตัวเด็ก ครอบครัว และสังคม ซึ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ในระยะยาว

“กรณีศึกษาการแก้ปัญหาจาก 4 พื้นที่ทำให้เห็นว่าจุดที่สำคัญที่สุดของการพาน้องกลับมาเรียนนั้นเกิดขึ้นจากผู้บริหารและครู ที่แสดงให้เห็นถึงจิตใจและความใส่ใจในเด็กที่หลุดจากระบบ ซึ่งเป็นกระดุมเม็ดแรกที่นำไปสู่การช่วยเหลือที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ” ผู้จัดการ กสศ.กล่าว

การพาน้องกลับมาเรียนนั้นยังเป็นโจทย์และโอกาสสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนในการประสานการทำงานข้ามหน่วยงาน เพราะการแก้ปัญหาของเด็กคนหนึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่สามารถแก้ที่หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดได้โดยลำพัง จุดต่อไปที่จะเกิดขึ้นก็คือเมื่อภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มขยับ ภาคประชาชนก็จะเข้ามาร่วมสนับสนุน

ทั้งนี้ ความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นเรื่องที่อยู่เหนือการเมือง และเป็นเรื่องของสังคมไทยที่จะต้องช่วยกันทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นให้ได้  วันนี้สังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ ความยากจนจะต้องไม่ข้ามรุ่น  ดังนั้นถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันทำให้เป็นวาระเด็กหลุดนอกระบบเป็นศูนย์ ความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันก็จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมและยั่งยืนในสังคมไทยได้อย่างแท้จริง