เปิดสายด่วน ศูนย์ช่วยเหลือเด็กในพื้นที่กทม. ป้องกันหลุดนอกระบบการศึกษา

เปิดสายด่วน ศูนย์ช่วยเหลือเด็กในพื้นที่กทม. ป้องกันหลุดนอกระบบการศึกษา

ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กทม. ร่วมกับ กสศ. เตรียมใช้ระบบคัดกรองความยากจน ประเมินความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ครั้งแรก ในสถานศึกษาสังกัด กทม. 437 รร. พร้อมเปิด สายด่วน 02 079 5475 ต่อ 0 ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนพื้นที่กรุงเทพฯ

จากกรณี ด.ญ.เอ(นามสมมติ) เด็กหญิงวัย 14 ปี นักเรียนโรงเรียนสตรีพัทลุง  จ.พัทลุง ที่ผูกคอตายเสียชีวิต” เนื่องจากมีปัญหาครอบครัวทำให้ต้องดิ้นรนหาหนทางเรียนหนังสือต่อ โดยน้องมีเงินติดตัวเพียง 200 ปี และเมื่อปรึกษาครูคนหนึ่งในโรงเรียน ถูกพูดกดดัน ทำนองว่า“ด.ญ.เอ (นามสมมติ)”ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม  ไม่มีทางเรียนต่อได้ สุดท้ายเด็กสาวตรอมใจเครียดหนัก ผูกคอตัวเองเสียชีวิตในบ้านพัก ที่จ.สงขลา

เรื่องราวที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดคำถามถึงระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระบบแนะแนว ว่าสามารถช่วยเหลือนักเรียนได้จริงหรือไม่? เพราะต่อให้กำหนดทุกสถานศึกษาต้องมีแนวทางระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน แต่ผลในทางปฎิบัติกลับไม่ได้ช่วยนักเรียนอย่างแท้จริง จนเกิดเด็กหลุดนอกระบบการศึกษามากมาย

ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาเด็กออกกลางคัน ยังคงมีความรุนแรงมากขึ้น และจากข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)พบว่า ในแต่ละปี ประเทศไทยมีเด็กออกกลางคันมากถึง 2% จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด เมื่อนับรวมกับเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ

เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคนแล้ว ดังนั้น พบว่าในเด็กไทยทุกๆ 100 คน จะมี 16 คน ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ

นอกจากนี้ จากรายงานวิจัยของยูนิเซฟ พบว่า ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ของเด็กไทย มีแนวโน้มลดลงกว่า 30% ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อทางเลือกในการดำเนินชีวิต การทำงาน ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวในอนาคตของเด็กกลุ่มนี้

 

  • กทม.พบเด็กหลุดนอกระบบแล้ว 434 คน

วันนี้ (19 พ.ค.2565) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร แถลงความร่วมมือปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ด้วยหลักประกันการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ผ่านการบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ  พร้อมเปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษาแก่ปัญหาเร่งด่วน ป้องกันเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา

นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลนักเรียนสังกัดกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้ศึกษาต่อ ในภาคเรียนที่ 2/2564 พบว่ามีนักเรียนออกจากระบบการศึกษา จำนวน  434 คน

โดยกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ความยากจนที่ซ้ำซ้อน ทั้งยากจนเฉียบพลัน เกือบจน และจนถาวร ในช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2565 นี้

สำนักการศึกษากรุงเทพฯ ร่วมมือกับ กสศ. ระดมพลังคุณครู พร้อมทำงานร่วมกับสำนักงานเขตและชุมชน ในการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน คัดกรอง ติดตามข้อมูลนักเรียน 261,160 คน จาก 437 โรงเรียน เพื่อประเมินความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบให้ได้กลับมาเรียนต่ออีกครั้ง

 

  • เปิดสายด่วน ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนกทม.

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษานอกระบบ เช่น การจัดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน ที่ กสศ. จะเข้ามาสนับสนุนนักเรียนที่มีข้อจำกัดด้านต่างๆ เป็นการศึกษาทางเลือกที่ตอบโจทย์เด็กมากขึ้น

สำหรับกรณีวิกฤตเร่งด่วน กทม. ได้ร่วมมือกับ กสศ. ดำเนินงานเชิงรุกผ่าน ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา กรุงเทพฯ บรรเทาปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากภาวะวิกฤตทางการศึกษา” นายเกรียงไกร กล่าว

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ปัจจัย หรือสภาวะอื่นใดที่ส่งผลกระทบให้กระบวนการอุปการะทางด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง จนอาจเป็นเหตุให้เด็กและเยาวชนมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือขาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องและเสมอภาค

อีกทั้ง ทางสำนักการศึกษากรุงเทพฯ กำลังเตรียมพัฒนาความร่วมมือกับ กสศ. ให้ครอบคลุมทุกมิติในการทำงานด้านเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือการพัฒนาสนับสนุนครู และสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพฯ

การพัฒนาทักษะอาชีพและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเยาวชนและวัยแรงงานช่วงต้นในพื้นที่บริการของกรุงเทพฯ ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ในบริบทชุมชนต่างๆ   เพื่อให้การศึกษาได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น และยกระดับให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครเมืองหลวงที่มีความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน

สำหรับประชาชนทั่วไปหากพบกรณีเด็กและเยาวชนที่หลุดนอกระบบการศึกษา และต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วนสามารถแจ้งเหตุ ได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา กรุงเทพฯ   สายด่วน โทร.02 079 5475 ต่อ 0 และ 065-5069574 และ 065-5069352 ระหว่างเวลา 09.00 - 18.00 น. ทุกวันทำการ

  • ช่องว่างคนจน-คนรวยในกทม. 12 เท่า

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า โควิด-19 ได้ตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในทุกพื้นที่ รวมถึงกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนสูงที่สุดในประเทศไทย

จากการสำรวจค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของเด็กนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่ามีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเฉลี่ย 37,257 บาทต่อคนต่อปี สูงกว่าเฉลี่ยของทั้งประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่าย 17,832 บาทต่อคนต่อปี ถึง 2 เท่า

"หากเปรียบเทียบภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กที่มาจากครัวเรือนยากจนร้อยละ 10 ล่างสุดของกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 6,600 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่ครัวเรือนที่รวยที่สุดร้อยละ 10 แรกของกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 78,200 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งห่างกันถึง 12 เท่า ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงคุณภาพการศึกษาที่นักเรียนกลุ่มยากจนและกลุ่มที่มีฐานะดีมีโอกาสได้รับแตกต่างกัน”ดร.ไกรยศ  กล่าว

  • ระบบสารสนเทศ CCTคัดครองเด็กยากจน

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่ากทม.ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการศึกษา ซึ่งความร่วมมือครั้งจะเป็นก้าวแรกของกสศ.กับกทม.ในการสร้างหลักประกันการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพฯ

กสศ. ได้ร่วมมือกับสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร วางระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (CCT ) ให้ครูประจำชั้นทุกโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ มีเครื่องมือเยี่ยมบ้าน และคัดกรองสถานะความยากจนเป็นรายครัวเรือน

รวมถึงใช้ประกอบการประเมินความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษา พิจารณาสนับสนุนมาตรการสำคัญต่างๆ ที่ กสศ. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เช่น โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน การเฝ้าระวัง และติดตามความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่ออนาคตทางการศึกษาของเด็กและเยาวชน

  • ป้องกันเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา  

หลายๆ คน ประสบปัญหาจากสภาพครอบครัว และความเป็นอยู่ ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ หรือบางคนก็มีปัญหาเรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องเงิน อย่าง กรณี ด.ญ.เอ(นามสมมติ)ที่ผูกคอตายนั้น ทางโรงเรียนได้มีการยื่นขอให้น้องได้รับทุนของกสศ. ในกลุ่มเด็กยากจนพิเศษ แต่ตามหลักเกณฑ์เด็กยากจนพิเศษ ครอบครัวจะมีรายได้เฉลี่ย ไม่ถึง 50 บาท ต่อวัน ซึ่งถือว่าน้อยมากและมีจำนวนมาก โดยที่ผ่านมา กสศ.ได้ช่วยให้ทุนการศึกษาเด็กกลุ่มนี้ไปแล้ว 1.3 ล้านคน

ในส่วนของน้องนั้น ทางกสศ.และโรงเรียน ได้มีการประสานการทำงาน ส่งข้อมูล และพยายามช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน ซึ่งน้องอยู่ในกลุ่มพ่อแม่แยกทางกัน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง และน้องอยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของญาติพี่น้อง โดยทางญาติได้ให้การดูแล สามารถจ่ายค่าเช่าบ้าน และให้เงินน้องได้

เท่าที่ทราบข้อมูลทางโรงเรียนได้มีการมอบทุนให้แก่น้อง และติดตามดูแลน้องอย่างใกล้ชิด แต่อาจจะยังไม่ได้ใกล้ชิดมากพอจนน้องกล้าจะพูด หรือเล่าทุกเรื่อง ดังนั้น หลังจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องติดตาม ดูแลช่วยเหลือเด็กทุกคนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และไม่ควรดูแลหรือให้ทุนการศึกษาเท่านั้น แต่ต้องเป็นที่ปรึกษา และช่วยเหลือด้านสภาพจิตใจ อื่นๆ ของเด็กร่วมด้วย

นอกจากที่ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา และเป็นสะพานความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก ซึ่งเด็กทุกคนที่เข้าร่วมโครงการกับกสศ.จะมีการส่งต่อเด็กไปยังหน่วยงานการศึกษาอื่น เช่น มหาวิทยาลัย เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กสศ.ดูแลตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงวัยแรงงาน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้น

ฉะนั้น  ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการบูรณาการและเชื่อมส่งต่อฐานข้อมูลจากสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพฯ เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนทุนการศึกษาจากแหล่งอื่น เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนด้อยโอกาสในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่ง กสศ. มีเครือข่ายความร่วมมือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) รวมถึงทุนการศึกษาจากภาคเอกชน

โดยดำเนินงานภายใต้เครือข่ายความร่วมมือทั้งหมดนี้ มีเป้าหมายเพื่อป้องกันเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา และยกระดับอัตราการเข้าเรียนของเด็กปฐมวัยและวัยเรียน รักษาอัตราการคงอยู่ของนักเรียนเพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสการศึกษาต่อสูงกว่าภาคบังคับทั้งในและนอกระบบตามศักยภาพของผู้เรียนให้สูงขึ้น

  • กทม.เหลื่อมล้ำสูง แต่เด็กออกกลางคันน้อย

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  กสศ. กล่าวว่าบทบาทของโรงเรียนต้องเป็นศูนย์กลางแห่งความเข้าใจและช่วยแก้ปัญหาให้แก่นักเรียน ซึ่งตามตัวเลขปี 2564 มีเด็กที่หลุดออกนอกระบบ 2 แสนกว่าคน และกทม. เป็นจังหวัดที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในประเทศ แต่กลับมีเด็กออกลางคันน้อย ซึ่งน่าจะเป็นเพราะระบบการบริหารจัดการของโรงเรียน

"โรงเรียนในสังกัดกทม. เป็นโรงเรียนที่ดำเนินการตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างแท้จริง และช่วยเด็กในชุมชนแออัด หรือเด็กที่อยู่ในมุมมืด เด็กกลุ่มเสี่ยง เด็กด้อยโอกาส เด็กเร่ร่อนต่างๆ ให้เข้าสู่ระบบการศึกษา แตกต่างจากโรงเรียนบางแห่งอาจจะเป็นเรียนฟรีทิพย์ ดังนั้น การจะป้องกันให้เด็กไม่หลุดนอกระบบ ผู้บริหารโรงเรียน และครู ต้องเห็นว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัย และสถานศึกษาสำหรับเด็ก"

หากผู้บริหาร ครูไม่ช่วยกลุ่มเด็กเสี่ยง กลุ่มเด็กที่มืดแปดด้าน พวกเขาจะไม่ได้รับโอกาสที่จะช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น ความร่วมมือครั้งนี้ จึงเป็นการนำลูกหลานของครอบครัวที่มีปัญหาเข้าสู่ระบบการศึกษา หรืออย่างน้อยพวกเขาก็จะได้รับประทานอาหารข้าว 2 มื้อ

ทั้งนี้ กทม.มีพื้นที่ชุมชนแออัด 600 กว่าแห่ง แต่ยังได้เห็นว่าเด็กกลุ่มนี้เข้าสู่การเรียนฟรี ต่อให้พวกเขายังคงยากจน ซับซ้อน มีปัญหาครอบครัว มีปัญหาค่าใช้จ่าย 

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือดังกล่าว ยังเป็นการเตรียมจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาค ช่วยเหลือเด็กนักเรียนด้อยโอกาสในโรงเรียนสังกัด กทม.