รพ.สต. แม่เหาะ ต่อยอดสิทธิตรวจมะเร็งปากมดลูก ค้นหาผู้ป่วยกลุ่มชาติพันธุ์

รพ.สต. แม่เหาะ ต่อยอดสิทธิตรวจมะเร็งปากมดลูก ค้นหาผู้ป่วยกลุ่มชาติพันธุ์

รพ.สต.แม่เหาะ จ.แม่ฮ่องสอน ผสานความร่วมมือ อปท.-อสม. ต่อยอด ‘สิทธิประโยชน์คัดกรองมะเร็งปากมดลูก’ ใช้งบกองทุนสุขภาพตำบล หนุนค้นหาผู้ป่วยระยะแรกเริ่ม-รณรงค์ให้ความรู้ป้องกันความเสี่ยงในกลุ่มชาติพันธุ์

 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู รอง ผอ.สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ ไปยัง ต.แม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2565 เพื่อเยี่ยมชม "โครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มสตรีและผู้สูงอายุกลุ่มชาติพันธุ์แม่สะเรียง" โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล (กปท.) มาบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน (อสม.)

นายจักรพงศ์ ศรีเมือง ผอ.รพ.สต.แม่เหาะ กล่าวว่า เนื่องจากตำบลแม่เหาะเป็นพื้นที่สูง ชาติพันธุ์ส่วนใหญ่จะเป็นชาวกะเหรี่ยง ความเข้าใจในการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขา ดังนั้นจึงวางกลยุทธ์ในการสื่อสารโดยมีการทำจดหมายถึงผู้ที่ต้องได้รับการคัดกรอง รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ อสม. กระจายไปตามหย่อมบ้านต่างๆ ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของหมู่บ้าน เพื่อติดตามประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์และประสานมาให้ทาง รพ.สต. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเบื้องต้น

นายจักรพงศ์ กล่าวต่อว่าเคสเหล่านี้เมื่อได้รับจดหมายแล้ว พอถึงวันเวลาที่เรานัด เขาก็จะถือจดหมายมาเพื่อเป็นเหมือนใบตอบรับในการตรวจ สำหรับบางส่วนที่มาไม่ทันวันเวลาที่เรานัด เราก็จะนัดมาตรวจในครั้งต่อไป และลงไปในพื้นที่ ไปเคาะประตูบ้านถึงที่หมู่บ้าน

 

  • หนุนกองทุนหลักประกันสุขภาพ ดูแลสุขภาพกลุ่มชาติพันธุ์

สิ่งสำคัญคือเราได้รับการสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือ กปท.ในพื้นที่ โดยสนับสนุนงบประมาณรวมถึงสนับสนุนการดำเนินโครงการของเราตลอดระยะเวลา 3 ปี ในการค้นหา นอกจากนี้ยังเป็นการเฝ้าระวังโดยให้ชาวบ้านในชุมชนเข้ารับการตรวจคัดกรอง ทำให้สามารถรักษาได้ก่อนที่จะเป็นโรคเรื้อรัง รวมถึงเป็นการป้องกันการตายจากโรคมะเร็งที่ศักยภาพของเราสามารถป้องกันได้นายจักรพงศ์ ระบุ

นอกจากนี้ ในบางส่วนจะมีการใช้งานบริการในหน้างานของทาง รพ.สต. เพื่อช่วยในการให้บริการ เช่น ในสัปดาห์ของงานวางแผนครอบครัว ทาง รพ.สต. จะขอตรวจมะเร็งปากมดลูกให้เรียบร้อยก่อนการจ่ายยาคุมกำเนิดให้ 

สำหรับปัญหาเรื่องความเชื่อต่างๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นปัญหาสำหรับการให้บริการนั้น ได้แก่

1.วัฒนธรรมความเป็นพื้นที่สูงและการพูดคุยด้วยภาษากะเหรี่ยงเป็นหลัก ดังนั้นทางผู้ให้บริการอย่าง รพ.สต. การจะสื่อสารด้วยการพูด หรือเชิญชวนและให้ความรู้ก็ต้องมีการแปลภาษาไทยให้เป็นภาษากะเหรี่ยงเพื่อสื่อสารให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งพื้นที่อยู่อาศัยต่างๆ มีบางส่วนที่สัญญาณโทรศัพท์เข้าไม่ถึง การทำสื่อจะต้องเป็นรูปแบบแผ่นพับ ป้าย ฯลฯ 

2. กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ยินยอมให้แพทย์หรือพยาบาลที่คุ้นเคยตรวจคัดกรองให้ เนื่องจากมีความเชื่อและความเขินอาย จนถึงกับมีคติว่า “ยอมตายดีกว่ายอมให้เห็น” ดังนั้นการจะตรวจคัดกรองได้ก็ต้องใช้เจ้าหน้าที่จาก รพ.สต. อื่นมาตรวจให้ เพื่อมาช่วยลดความรู้สึกที่จะเกิดขึ้นกับการรับบริการ

 

  • ต่อยอดสิทธิประโยชน์มะเร็งปากมดลูก กลุ่มชาติพันธุ์

นายจักรพงศ์ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินโครงการ ต้องถือว่าการให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนั้นถือว่ามีประสิทธิผล อย่างไรก็ตามการตรวจมะเร็งปากมดลูกไม่ใช่ผลที่จะเกิดขึ้นได้ทันที เพราะฉะนั้นต้องใช้เวลาในการที่จะประเมินและสื่อสารเชื่อมโยงให้เห็นผลของการดำเนินการโครงการที่ผ่านมา

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แม้จะครอบคลุมการรักษามะเร็งปากมดลูก แต่โอกาสที่จะหายได้นั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ฉะนั้น การตรวจคัดกรองจึงเป็นมาตรการสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะจาก อปท. และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ต่างๆ ที่ร่วมดำเนินงาน กปท. เพื่อใช้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการตรวจคัดกรองโรคในแต่ละพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง รวมถึงมะเร็งปากมดลูกที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของหญิงไทย

ทั้งนี้ แต่ละพื้นที่การทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการนั้นมีวิธีแตกต่างกันไป เนื่องจากบริบทของพื้นที่ต่างๆ ไม่เหมือนกัน เช่น วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ ในวันนี้ที่มาดูใน ต.แม่เหาะ ทาง อบต.แม่เหาะ ซึ่งได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณจัดตั้ง กปท. ขับเคลื่อนและสร้างสุขภาพที่ดีให้ประชาชนในพื้นที่ โดยผสานความร่วมมือกับ รพ.สต.แม่เหาะ และเจ้าหน้าที่ อสม. 

แม้ว่าในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของเรา ค่ารักษาและค่าตรวจคัดกรอง ประชาชนจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเกิดประชาชนมารับบริการ มักจะมีค่าใช้จ่ายแฝง ไม่ว่าจะเป็นค่ารถ ค่าอาหาร ค่าเสียเวลา ฯลฯ แต่ที่นี่มีบริการที่เรียกว่า เอาบริการไปหาประชาชนถ้าทำอย่างนี้ได้ในหลายพื้นที่ ก็จะทำให้การเข้าถึงนี้ดีขึ้นทพ.อรรถพร กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand