คัดกรอง "มะเร็งปากมดลูก" ด้วยวิธี HPV DNA Test ดูแลหญิงไทยทุกสิทธิ์

คัดกรอง "มะเร็งปากมดลูก" ด้วยวิธี HPV DNA Test ดูแลหญิงไทยทุกสิทธิ์

จ.เลย ตั้งเป้าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุกผ่าน โครงการรณรงค์ตรวจคัดกรอง "มะเร็งปากมดลูก" ด้วยวิธี HPV DNA Test ดูแลหญิงไทยทุกสิทธิ์ อายุ 30-60 ปี เพิ่มประสิทธิผลค้นหาผู้ป่วยระยะเริ่มต้น เข้าสู่การรักษาก่อนโรคลุกลาม ตั้งเป้าคัดกรอง 26,088 ราย

เมื่อเร็วๆ นี้ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 8 อุดรธานี นายกายสิทธิ์ แก้วยาสี รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย ด้านส่งเสริมและพัฒนา และคณะลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินการ “โครงการรณรงค์การตรวจ คัดกรองมะเร็ง ปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test” ให้กับสตรีไทยอายุ 30-60 ปี ครอบคลุมทุกสิทธิ์ ในพื้นที่จังหวัดเลย ณ โรงพยาบาลเลย ต.กุดป่อง อ.เมืองเลย จ.เลย จัดโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย ร่วมกับโรงพยาบาลเลยและเครือข่ายหน่วยบริการในพื้นที่ พร้อมทั้งลงพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านโพนป่าแดง ต.เสี้ยว อ.เมืองเลย จ.เลย เพื่อเยี่ยมชมการคัดกรองมะเร็งปาดมดลูกของประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่

 

นพ.บัญชา ผลานุวงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลย เปิดเผยว่า สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของโรงพยาบาลเลย เดิมทีจะใช้การตรวจด้วยเทคนิคแปปสเมียร์ (Pap smear) แต่ในปีนี้ก็ได้มีการปรับวิธีการตรวจใหม่โดยใช้เทคนิค HPV DNA Test หรือการตรวจด้วยวิธีเจาะลึกระดับดีเอ็นเอเพื่อตรวจหาเชื้อเอชพีวี เป็นการตรวจรหัสพันธุกรรมที่มีความแม่นยำและมีความไวที่สูงกว่า และจะสามารถทราบผลได้ภายใน 1 เดือน ซึ่งในปีที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลก็ได้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มสตรีอายุ 30-60 ปีทั้งสิ้นกว่า 34,000 ราย และพบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก 38 ราย

 

คัดกรอง \"มะเร็งปากมดลูก\" ด้วยวิธี HPV DNA Test ดูแลหญิงไทยทุกสิทธิ์

โรงพยาบาลเลยได้รับความร่วมมือจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และ รพ.สต. ในการรณรงค์การตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test ซึ่งเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 เม.ย. – 30 ก.ย. 2565 หากประชาชนที่ได้รับคัดกรองพบการติดเชื้อ HPV ก็จะให้ผู้ป่วยเข้ากลุ่ม Line Colposcopy สำหรับนัดตรวจ Colposcopy หรือการตรวจนื้อเยื่อบุผิว (epithelium) ของปากมดลูก ปีละ 1 ครั้ง เป็นการติดตาม แต่หากผลตรวจพบว่าเป็นมะเร็งก็จะส่งต่อเข้ารักษาที่โรงพยาบาลมะเร็งอุดร หรือโรงพยาบาลศูนย์อุดรต่อไป  

 

นพ.บัญชา กล่าวว่า ในการจัดบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี  HPV DNA Test โรงพยาบาลต้องมีการจัดเตรียมระบบ โดยเฉพาะในส่วนกลุ่มงานเทคนิคการแพทย์และพยาธิวิทยาคลินิก ทั้งการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งแล็บในโรงพยาบาลเลยก็ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน LA/MOPH/ISO จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เขตบริการสุขภาพที่ 8

 

นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่เก็บสิ่งส่งตรวจอย่างถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐาน การวางระบบขนส่งที่เหมาะสม การจัดทำระบบรายงานและแจ้งผลที่รวดเร็ว การส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา

 

มะเร็งปากมดลูก สาเหตุตายอันดับ 2 

 

“มะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญอันดับที่ 2 แต่ถ้าตรวจพบได้ในระยะแรก คนไข้สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งการจะเชิญชวนให้คนเข้ามาตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากจะมีความเขินอาย โดยเฉพาะหากผู้ตรวจเป็นคนละเพศ ฉะนั้นในแง่ของการดำเนินงานจะต้องวางแผนให้ดี ใช้บุคลากรที่เหมาะสม และก็มีการจัดเก็บที่ถูกวิธีเพื่อให้สิ่งส่งตรวจที่เก็บมามีคุณภาพ” นพ.บัญชา ระบุ

 

คัดกรอง \"มะเร็งปากมดลูก\" ด้วยวิธี HPV DNA Test ดูแลหญิงไทยทุกสิทธิ์

นายกายสิทธิ์ แก้วยาสี รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย ด้านส่งเสริมและพัฒนา กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ สปสช. ที่กำหนดให้การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test เป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ เพราะเดิมทีจะใช้วิธีการตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ ซึ่งผลที่ได้รับอาจไม่ได้ดีเมื่อเทียบเท่ากับวิธีตรวจหาสารพันธุกรรม

 

อย่างไรก็ดี จังหวัดเลยก็ได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายจำนวน 26,088 ราย ซึ่งจะกระจายให้หน่วยบริการใน 14 อำเภอช่วยกันเก็บสิ่งส่งตรวจ เพราะในพื้นที่จังหวัดจะมีแล็บของโรงพยาบาลเลยที่เดียวที่จะสามารถตรวจวินิจฉัยได้ โดยจะรับตรวจวันละ 188 ชุด ทำให้ต้องมีการแบ่งพื้นที่เพื่อเก็บสิ่งส่งตรวจให้ได้ตามเป้าหมาย โดยการเบิกชุดเก็บสิ่งส่งตรวจก็จะเปิดให้หน่วยบริการเบิกล่วงหน้า 1-2 วัน เพราะหากให้เบิกล่วงหน้าหลายวันก็อาจจะทำให้ชุดตรวจเสื่อมคุณภาพได้

 

“เดิมเราตรวจแปปสเมียร์เพื่อค้นหาผู้ที่มีเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มต้นจะค้นหาได้ต่ำ เพราะเป้าหมายแล้วต้องค้นหาในระยะที่ 1-2 ได้ 70% แต่ที่ผ่านมาสามารถค้นหาได้แค่ 54% ซึ่งคิดว่าการตรวจ HPV DNA Test จะสามารถทำให้ค้นหาในกลุ่มเป้าหมายนี้ได้ดียิ่งขึ้น” นายกายสิทธิ์ ระบุ

 

นางสุวิมล จบดี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ และผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านโพนป่าแดง กล่าวว่า รพ.สต.บ้านโพนป่าแดงจะมีการรณรงค์ให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เข้าคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปี โดยจะมีรายชื่อกลุ่มเป้าหมายให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตรวจสอบก่อนว่าผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในพื้นที่หรือไม่ รวมไปถึงสอบถามความประสงค์ในการเข้ารับการคัดกรอง และส่งข้อมูลกลับมาก็จะทำให้ทราบว่ามีผู้ประสงค์เข้าคัดกรองกี่ราย เพื่อเตรียมอุปกรณ์สำหรับการเก็บสิ่งส่งตรวจและอาหารให้เพียงพอ ซึ่งในปีนี้ก็ได้ตั้งเป้าคัดกรองกลุ่มเป้าหมายประมาณ 260 คน

 

“การตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์จะใช้เวลาค่อนข้างมากประมาณ 3 วัน ถึงจะสามารถนำไปส่งที่แล็บได้ ซึ่งการใช้วิธี HPV DNA Test จะเริ่มใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งก็ได้มีการออกแบบระบบเตรียมไว้ล่วงหน้าไว้แล้ว” นางสุวิมล ระบุ

 

คัดกรอง \"มะเร็งปากมดลูก\" ด้วยวิธี HPV DNA Test ดูแลหญิงไทยทุกสิทธิ์

 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูก พบมากเป็นอันดับที่ 2 ในหญิงไทย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต แต่ผู้ป่วยมีโอกาสรักษาได้หากรับการดูแลในระยะเริ่มต้น ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิผลการตรวจคัดกรองและเป็นไปตาม Guideline ฉบับปรับปรุงเดือนกันยายน 2561 ของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ประชุม บอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 62 มีมติเห็นชอบเพิ่ม “สิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test” เพื่อทดแทนวิธีแปปสเมียร์ (Pap smear) ทุก 5 ปี โดย สปสช. สนับสนุนงบประมาณรูปแบบจ่ายตามรายการบริการ (Fee schedule)

 

อย่างไรก็ดี การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเทคนิค HPV DNA Test นั้นใช้งบประมาณเทียบเท่ากับการตรวจด้วยเทคนิคเดิม โดยจะให้งบประมาณเป็นรายเคส แบ่งเป็น

  • ค่าตรวจคัดกรอง 50 บาท
  • ค่าเก็บตัวอย่าง 50 บาท ค่าบริหารจัดการ 50 บาท
  • ค่าตรวจในห้องแล็บ 320 บาท

 

“มะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาหายได้ถ้าได้รับการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็ว แต่ความยาก คือ จะทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายมาตรวจกันเยอะๆ ฉะนั้นจึงต้องมีการจัดกลไกในพื้นที่ ซึ่งจังหวัดเลย ทั้งสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน มี อสม. ไปเชิญชวนชาวบ้าน เมื่อตรวจเสร็จและได้ตัวอย่างก็จะส่งไปที่โรงพยาบาล ซึ่งกลุ่มที่จำเป็นต้องรักษาต่อก็จะมี Fast Track ในการส่งต่อเข้าระบบ ซึ่งเป็นระบบที่ดี การลงมาดูในพื้นที่ครั้งนี้ก็จะทำให้เห็นว่าเมื่อมีระบบการจัดการที่ดีก็จะมีการขยายออกไปในพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย” ทพ.อรรถพร ระบุ

 

อนึ่ง มติบอร์ด สปสช. ปี 2565 คณะกรรมการ service plan สาขามะเร็ง (กบรส.) เขตสุขภาพที่ 8 ได้มีนโยบายขยายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดในพื้น ตั้งเป้าหมายบริการ 219,307 ราย โดยที่จังหวัดเลยกำหนดเป้าหมายบริการ 26,088 ราย

 

สอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง ได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso) หรือ คลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ