"Soft Power" ไทย ขายอย่างไร?ให้โดนใจทั่วโลก เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

"Soft Power" ไทย ขายอย่างไร?ให้โดนใจทั่วโลก เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

วธ.จัดประชุมเชิงปฎิบัติการการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุน Soft Power เผย 8 ช่องทางขาย Soft Power ให้โดนใจคนทั่วโลก ชูไตรภาคี "ประวัติศาสตร์ ทุนวัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจ"เกิด Soft Power แนะเนื้อหา เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนงาน Soft Power ความเป็นไทยสู่สากล และมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดยคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศสู่สากลผ่านงานศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม สินค้าและบริการผ่านสื่อบันเทิงในลักษระอำนาจละมุน หรือ Soft Power สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG

  • แผนปฎิบัติการ Soft Power ผ่านสื่อบันเทิง

วันนี้ (15 มิ.ย.2565) วธ.ได้จัดประชุมเชิงปฎิบัติการการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุน Soft Power ระหว่างวันที่ 15-16 มิ.ย.2565 โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดการประชุม พร้อมกล่าวว่าการผลักดัน Soft Power ความเป็นไทยของวธ.ที่มุ่งส่งเสริมวัฒนธรรม 5 F โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์และมุ่งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ส่งเสริมการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศในระยะยาว

ทั้งนี้ การจัดโครงการประชุมเชิงปฎิบัติการ การจัดทำ (ร่าง) แผนปฎิบัติการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุน Soft Power เพื่อให้หน่วยงานด้านอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทยทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถกำหนดทิศทางแนวทางนโยบายสำหรับใช้ในการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะ Soft Power มากขึ้น ส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานเข้าใจ Soft Power และนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการทำงาน

 

 

  • ขับเคลื่อน Soft Power เกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ

นางยุพา กล่าวต่อว่า กิจกรรมภายในการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มเผยแพร่ผ่านโรงภาพยนตร์ กลุ่มเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์  กลุ่มเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ตและMetaverse  กลุ่มเผยแพร่ผ่านสื่อโฆษณาและสื่อ Social Media และกลุ่ม Content and Strategic  รวมทั้งสรุปผลการจัดทำ Workshop  เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนร่างปฎิบัติการ พร้อมขับเคลื่อน Soft Power ไปในทิศทางเดียวกัน ให้เกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ เกิดการสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในระดับเวทีไทย

 อย่างไรก็ตาม หลังจากจัดทำแผนปฎิบัติการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศ แล้วเสร็จจะจัดทำแผนปฎิบัติการฯ ต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เพื่อพิจารณาเสนอรัฐบาล และของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลต่อไป รวมถึงจะมีการทำความเข้าใจ และสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมบันเทิง เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เม็ดเงินให้แก่ประเทศได้

  • ไทยไม่นำไตรภาคี สร้างเนื้อหาสื่อบันเทิง

รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา ประธานคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่าไตรภาคี (The Trio) ของการทำให้เกิดSoft Power ต้องมี 3 เรื่อง สำคัญ คือ ประวัติศาสตร์ ทุนทางวัฒนธรรม และ สังคมและเศรษฐกิจ  ซึ่งเป็นไตรภาคีที่สามารถสร้างให้เป็นเนื้อหาของภาพยนตร์ ละคร สารคดี โดยในเรื่องของประวัติศาสตร์ จะต้องเป็นการใช้เนื้อหาประวัติศาสตร์ของไทยมานำเสนอในสื่อบันเทิง ที่นำมาสู่ Soft power   ไทยควรมีซีรี่ย์อิงประวัติศาสตร์ ทำให้เป็นที่รู้จักเหมือนคนติดตามซีรี่ย์เกาหลี

รวมถึงต้องมีทุนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตในปัจจุบัน คือ การท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ นักท่องเที่ยวสนใจว่าแต่ละประเทศมีชาติพันธุ์อะไรบ้าง

 

 

 

  • สิ่งท้าทายต้องเร่งพัฒนาก้าวสู่ Soft Power

“สิ่งท้าทายที่ทำให้ไทยต้องเร่งในการพัฒนาก้าวสู่ Soft Power  เราต้องทำให้คนเข้าใจนิยามของ Soft Power ที่แท้จริง ซึ่งเด็กและเยาวชน สนใจเนื้อหาบันเทิง และกีฬา  เราต้องขาย Soft Power ในบริบทความเป็นไทย ทำให้เกิด Thai Content  ปัจจุบันยังอยู่ในเนื้อหาน้อยไป  และการสร้างแบรนด์ประเทศไทย  ไทยมีสินค้ามากมายแต่อ่อนในการสร้างแบรนด์ เมื่อไทยไม่ได้สร้าง Branding  ของตัวเอง โดยนำเสนอจุดยืนของตัวเองอย่างเข้มแข็ง ทำให้เป็นที่สนใจ ชื่นชอบ  รวมถึงควรทำการตลาดในการสร้างแบรนด์ ที่จะทำให้สื่อมวลชน และผู้คนสนใจได้ นอกจากนั้น ควรศึกษาโอกาสร่วมด้วยว่ามีหรือไม่อย่างไร” รศ.ดร.เสรี กล่าว

  • บูรณาการทุกภาคส่วนร่วมสร้าง Soft Power

รศ.ดร.เสรี กล่าวต่อว่านักท่องเที่ยวยุคปัจจุบันต้องการท่องเที่ยวในสิ่งที่แตกต่างจากประสบการณ์รายวันจากพื้นที่ที่เขาอยู่ และนักท่องเที่ยวอยากได้เป็นของจริง เนื่องจากจุดอ่อนคือการนำวัฒนธรรมเข้าสู่เวที  แต่สิ่งที่ทำคือ ต้องทำให้นักท่องเที่ยวเชื่อว่าสิ่งที่เรานำเสนอเป็นความจริง เป็นวัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คนในประเทศนั้นจริงๆ  

ดังนั้น การจะนำ Soft Power ของไทยมาสู่ผ่านสื่อบันเทิง ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ บูรณาการร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม   รวมทั้งต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศ  มีนโยบายต่างประเทศอย่างชัดเจน

“วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ต้องทำควบคู่กันไป  เพราะหากมุ่งวัฒนธรรมมากเกินไปก็อาจจะไม่ได้เศรษฐกิจ แต่หากมุ่งเศรษฐกิจมากอาจเป็นการทำลายวัฒนธรรม  และพฤติกรรมทางสังคมของคน จะมีพฤติกรรมอย่างไรแสดงความเป็นไทย ทำอย่างไรให้คนไทยไม่ลืมรากเหง้าของไทยเอง  อย่างไรก็ตาม ต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรม ทำให้คนรู้จักวัฒนธรรม ชื่นชอบประเทศไทย ความเป็นไทย ค่านิยมทางการเมืองเราติดกับดักความขัดแย้ง และตราบใดที่คนไทยไม่สนใจเรียนรู้วัฒนธรรม ทำอย่างไรให้คนไทย เด็กไทยไม่ต่อต้านวัฒนธรรมที่ดีงามรศ.ดร.เสรี กล่าว

  • 8 ช่องทางทำให้ไทยขาย Soft Power ได้สำเร็จ

รศ.ดร.เสรี กล่าวต่อไปว่าการจะขาย Soft Powerไทยให้ประสบความสำเร็จเกิดจาก

1. พาสเนอร์ภายในประเทศ และต่างประเทศ โดยไร้ความขัดแย้ง  

2.Soft Power  เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ  ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไทยได้มีการประกาศแล้ว

3.ใช้ประโยชน์จากทุนทางสังคม ทุนวัฒนธรรมได้มากน้อยขนาดไหน ควรจะมีการนำเสนอผ่านเนื้อหา เรื่องราว การจะทำให้ Soft Power ขายได้ต้องมี Story  

4.พฤติกรรมของคนในสังคม  

5. การสื่อสาร  หรือการประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนติดตาม

6.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือการทูตของไทย

7.การศึกษาให้แก่คนในท้องถิ่น เป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้คนในพื้นที่

8. นักธุรกิจและนักลงทุน

สำหรับเครื่องมือในการจะขาย Soft Power ได้นั้น ต้องช่วงชิงการเป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติ และควรมีงบประมาณในการแลกเปลี่ยนนักวิชาการและนักศึกษา เราควรทำให้เกิดการกระจายข่าว เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั่วโลก การนำ Soft Power ไปเป็นเนื้อหาของละคร ภาพยนตร์ สารคดี ซีรี่ย์ โฆษณา  ต้องมีงานเทศกาลและทำให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก  เช่น เทศกาลอาหาร เป็นต้น นอกจากนั้น ต้องมีการท่องเที่ยว เพื่อมาแหล่งผลิตสินค้าของที่ระลึก กินอาหาร หรืออยากมาเที่ยวตามรอยละคร ภาพยนตร์ สารคดี หรือโฆษณา

  • แนะเนื้อหาในการนำเสนอ Soft Power ผ่านสื่อบันเทิง

ส่วนเนื้อหาในการนำเสนอ Soft Power ผ่านสื่อบันเทิง ได้แก่  เล่าเรื่องอาหาร วัฒนธรรม ภาษา ขนบธรรมเนียม งานเทศกาล เสื้อผ้า หัตถกรรม กิจกรรมทางศาสนา การร้องรำทำเพลง กีฬา  และเกมการละเล่น  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเนื้อหาได้แต่ต้องมีผู้เล่น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1.รัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย  2.หน่วยงานราชการ และหน่วยงานเอกชน ต้องขานรับนโยบายมาปฎิบัติ  3.ปราชญ์แห่งแผ่นดิน คนที่ยึดมั่นถือมั่น เข้าใจรู้เรื่องวัฒนธรรมเป็นอย่างดี และ 4.ผู้ประกอบการที่จะทำสินค้าและบริการ หรือนักธุรกิจ นักลงทุน

เมื่อเรามี Soft Power ต้องมี Hard Power หรือมีแผนงานการตลาดที่ดี ต้องมีงบประมาณสนับสนุน และมีเครื่องมือในการทำงาน เพื่อนำไปสู่ Smart Power

รัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับสื่อมวลชน และให้สื่อเป็นแนวร่วมในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Soft Power และต้องมีการถกอภิปรายในพื้นที่โซเซียลมีเดีย สร้างกระแส รวมทั้งรัฐบาลต้องทำการโฆษณา และต้องประกาศเรื่องการขาย Soft Power เป็น Agenda ในระดับต้นๆ ของประเทศ ขณะที่ฝ่ายบันเทิงต้องทำหน้าที่ให้คนรู้จัก Soft Power และเชิญชวนให้ทุกคนเข้ามาเที่ยว มาซื้อ มาใช้บริการ  ดังนั้น การสร้างอิทธิพลกับผู้คนด้วยความซื่อสัตย์ ภายใต้การทำงานเป็นเครือข่าย